โปรแกรมประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ ต้นทุน และผลกระทบต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับพื้นที่และระดับมหภาค ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบจากการดำเนินการของโครงการ

ในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อบนบก ก็เช่นกัน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระดับประเทศตามแผนพัฒนาของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งผลประโยชน์ ต้นทุน และผลกระทบต้องถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลแนวทางในการตัดสินใจของผู้บริหาร

 

 

ผศ.ดร.เพ็ญพร เจนการกิจ และคณะนักวิจัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกับส่วนวิศวกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดทำโครงการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อบนบก เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และประยุกต์ใช้แนวทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตามหลักในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่า การศึกษา EIA ซึ่งย่อมาจากคำว่า Environmental Impact Assessment

ผลจากการศึกษาดังกล่าวนี้  ได้นำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อบน สำหรับใช้ในการประเมินผลประโยชน์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการ โดยหลักการวิเคราะห์ผลกระทบของโปรแกรมจะอาศัยข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการวิจัยภาคสนามบริเวณเขตระบบท่อก๊าซ เป็นโปรแกรมที่มีความเฉพาะเจาะจง ที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกจากความร่วมมือของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

คุณสมบัติของโปรแกรม

โปรแกรมคอมพิวเตอร์การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อบนบก สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการฯ ได้ถึง 6 ชนิดของผลกระทบ ได้แก่

  1. ผลกระทบจากระดับมลพิษและผลกระทบของเสียง (noise) ฝุ่น (dust) และความสั่นสะเทือน (vibration) จากการก่อสร้างโครงการท่อก๊าซฯ
  2. ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาบนบกในระยะดำเนินการ (ecology)
  3. ผลกระทบด้านคมนาคมในบริเวณที่มีการก่อสร้างแนวท่อก๊าซฯ (transportation)
  4. ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการระบบขนส่งก๊าซฯ ต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land usage)
  5. ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการมีมาตรการป้องกันเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงภัยอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นของโครงการท่อก๊าซในระยะดำเนินการ (risk and major hazard)
  6. ผลกระทบระดับเศรษฐกิจมหภาค จากการเกิดขึ้นของโครงการท่อก๊าซฯ (macro-economics)

โดยผลกระทบทั้ง 6 ชนิด จะถูกประเมินออกมาในรูปของตัวเงิน และนำข้อมูลไปใช้ประโยชนืในการจัดการผลกระทบของสิ่งแวดล้อมจากโครงการก่อสร้างท่อก๊าซฯ ต่อไปในอนาคต เช่น การกำหนดมาตรการป้องกันหรือชดเชยผลกระทบจากโครงการ เป็นต้น

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ผศ.ดร.เพ็ญพร เจนการกิจ และคณะนักวิจัย

คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.เพ็ญพร เจนการกิจ