ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล

ปัจจุบันทิศทางนโยบายการวิจัยของประเทศมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จึงมีการพิจารณากลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัย สร้างกลยุทธ์ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงภายนอก ผลักดันการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นไปในเชิงรุก สามารถรองรับการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลือกอยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก โดยมีพันธกิจหลักและยุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่การวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากล และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

การจัดตั้ง “ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล” ทำให้มีหน่วยงานรองรับระบบวิจัยของประเทศที่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน มีการบริหารอย่างเป็นระบบ และมีขอบเขตงานอย่างชัดเจน มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามข่าวสาร การประสานงานข้อมูลจากแหล่งทุนต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็วและต่อเนื่อง สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาโจทย์วิจัยของแหล่งทุน และของประเทศ ตามความต้องการที่หลากหลายของผู้ให้ทุนอุดหนุนวิจัย ทั้งนี้ยังส่งผลให้การเสนอขอทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของแหล่งทุนและการบูรณาการโครงการวิจัยมีจำนวนมากขึ้น มีระบบการติดตามประเมินผลงานวิจัยที่มีคุณภาพครอบคลุมผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ (output outcome impact) มีการวิเคราะห์และประมวลผลงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดงานวิจัยจึงสามารถขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตามเป้าหมาย และเกิดประสิทธิภาพและก่อประโยชน์ต่อนักวิจัยและงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลให้การบริหารจัดการระบบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความสอดคล้องและเชื่องโยงกันในลักษณะห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ภารกิจในการบริหารงานวิจัยและประเมินผล ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนกระบวนการกลางน้ำและปลายน้ำของการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ  มีความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศและนำไปสู่การวิจัยในระดับโลก โดยมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้

  • จัดทำข้อบังคับ ประกาศ ระเบียบหลักเกณฑ์ คู่มือการบริหารจัดการงานวิจัย
  • จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี จากทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย
  • บริหารจัดการทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากรัฐบาล ทุนอุดหนุนอื่นที่รัฐบาลจัดสรรให้ และจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยและส่วนงาน
  • ประสานงานทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากแหล่งทุนภายนอก เช่น การทำสัญญารับทุน การประสานงานการเบิกจ่าย การติดตามความก้าวหน้า
  • ติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย
  • ประมวลงานวิจัยและประเมินผลกระทบ

ภารกิจหลักของฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล ประกอบด้วย 3 ด้าน ดังนี้

ด้านการบริหารจัดการและประสานงานทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม (กลางน้ำ)

ประสานและบริหารจัดการทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย

(1) ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาลและเงินอุดหนุนอื่นที่รัฐบาลจัดสรรให้

หมายถึง ทุนอุดหนุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับอนุมัติโดยตรงไปยังหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ เช่น สกสว. วช. สวก. สวรส. สนช. บพข. บพค. บพท. เป็นต้น

(2) ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยและส่วนงาน

หมายถึง ทุนอุดหนุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินรายได้ส่วนกลางมหาวิทยาลัยฯ และเงินรายได้ส่วนงานหรือหน่วยงานระดับภาควิชา ฝ่าย ศูนย์ สถานีวิจัย ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

(3) ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย

หมายถึง ทุนอุดหนุนวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน เช่น ทุนอุดหนุนวิจัยจากภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ กองทุนอิสระ องค์กรต่างประเทศ เช่น บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ SME การไฟฟ้า กองทุนดิจิทัล UNDP CIAT เป็นต้น

ทั้งงบประมาณวิจัยจะมาจากบุคคลหรือนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการวิจัยในลักษณะโครงการวิจัยและชุดโครงการวิจัยหรือแผนงานวิจัย ทั้งนี้ไม่รวมกรณีการว่าจ้างทำวิจัย

กำหนดแนวทางปฏิบัติต่างๆ ให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยการบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรูปแบบของหลักเกณฑ์ คู่มือ และข้อกำหนดอื่นๆ ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่จำเป็นต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานวิจัยจากทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นผู้กำหนด โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายหรือเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศ และการวิจัยในสาขาที่มหาวิทยาลัย มีความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การบริหารจัดการการใช้งานระบบบริหารจัดการโครงการวิจัย (KUR) และระบบบริหารเงินอุดหนุนวิจัย (KURX) เพื่อให้สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเชื่อมโยงครอบคลุมการทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเข้าร่วมเป็นผู้ประสานหน่วยงานในการดูแลข้อมูลและบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS)

ด้านการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานวิจัย (ปลายน้ำ)

การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานวิจัยเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของความก้าวหน้าและสิ้นสุดการดำเนินงานวิจัยของโครงการวิจัยหรือแผนงานวิจัย เพื่อเป็นการวัดความสำเร็จของผลการดำเนินงานวิจัย เพื่อดูว่ามีการใช้ทรัพยากร/ปัจจัยต่างๆอย่างไร มีการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ แผนการดำเนินงาน ขั้นตอน กฎเกณฑ์ และเวลาที่กำหนดหรือไม่ ตลอดจนเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ ของงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการวิจัยที่มีผลสัมฤทธิ์ในระดับดีและดีมาก ให้ได้รับการขยายผลและต่อยอดการพัฒนางานวิจัยในอนาคตต่อไป ดังนั้นจึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานติดตามและประเมินผลทั้งในระหว่างดำเนินการวิจัยและเสร็จสิ้นการดำเนินงานวิจัย

มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการติดตามผลการดำเนินงานวิจัย ดังนี้

  • การส่งรายงานผลการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาลและเงินอุดหนุนอื่นที่รัฐบาลจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัย
  • การจัดทำรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ในกรณีขอยุติโครงการวิจัยก่อนการดำเนินงานวิจัยเสร็จสิ้น หรือถูกสั่งให้ยุติการดำเนินงานวิจัยจากผู้ให้ทุนภายหลังได้รับอนุมัติทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยแล้ว
  • การจัดทำสรุปผลงานวิจัยเชิงประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ดำเนินการจัดทำสรุปผลงานวิจัยเชิงประชาสัมพันธ์เผยแพร่ โดยเน้นความสำคัญ ผลสำเร็จหรือจุดเด่นของผลงานวิจัย ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับการส่งรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (ฉบับร่าง)
  • การส่งรายงานผลการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย

รูปแบบการติดตามและประเมินผล แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

  1. การติดตามผลการดำเนินงานวิจัยในช่วงระยะเวลาต่างๆ
  2. การประเมินผลสัมฤทธิ์เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงานวิจัย โดยการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำเสนอผลความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัย/การนำเสนอผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานวิจัย ควบคู่กับการเยี่ยมชมผลงานวิจัย ณ สถานที่ปฏิบัติงานวิจัย
  3. การประเมินผลจากการประเมิน/วิจารณ์รายงานผลการดำเนินงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

วิธีการดำเนินการ

  1. วางแผนและออกแบบแนวทางปฏิบัติการติดตามและประเมินผล
  2. กำหนดช่วงเวลาและกิจกรรมในการติดตามและประเมินผล (Working plan)
  3. กำหนดกลุ่ม/สาขาของผลงานวิจัยเพื่อเข้ารับการประเมินผลผลสัมฤทธิ์ของงาน
  4. แต่งตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการเพื่อการติดตามและประเมินผล
  5. สรุปผลการติดตามและประเมินผลเพื่อแจ้งนักวิจัยรับทราบและปรับปรุง/แก้ไข/เพิ่มเติม
  6. จัดทำรายงานสรุปผลการติดตามและประเมินผลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. และผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ
  7. คัดเลือกผลงานวิจัยเด่นเพื่อเป็นตัวแทนในการประเมินผลกระทบและผลประโยชน์ของการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

การติดตามและประเมินผลแผนงานวิจัยและโครงการวิจัย จะเป็นตัวชี้วัดที่จะเล็งเห็นถึงผลสำเร็จและทิศทางการดำเนินงานวิจัยที่จะสามารถวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานวิจัยในภาพรวมของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานติดตามและประเมินผลบรรลุวัตถุประสงค์ ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. ได้รับมอบหมายโดยตรงเพื่อดำเนินงานตามภารกิจ จึงได้วางแผนการการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานวิจัย ซึ่งเป็นทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาล (งบประมาณแผ่นดิน) เป็นประจำต่อเนื่องทุกปีงบประมาณ

ด้านประมวลงานวิจัยและประเมินผลกระทบจากงานวิจัย (ปลายน้ำ)

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศด้านการศึกษา การบริการวิชาการ และการวิจัย โดยในสายงานด้านการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Research and Development Institute, KURDI) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2521 เพื่อการบริหารจัดการประสานงานวิจัยทั้งภายในภายนอกมหาวิทยาลัย และทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ถ่ายทอด และขยายผลงานวิจัยไปสู่หน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ

การดำเนินโครงการวิจัยตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณของ KURDI คือการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การลงทุนด้านการเงินจากงบประมาณของรัฐบาล และการลงทุนด้านบุคลากร อันก่อให้เกิดผลผลิตจากงานวิจัย ทั้งในลักษณะขององค์ความรู้และนวัตกรรรม ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ นั่นคือ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการนำผลประโยชน์ดังกล่าวมาแสดงให้สาธารณชนได้เห็นเชิงประจักษ์นั้น จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ด้านการประเมินโครงการ (Project Evaluation) เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบของการดำเนินงานวิจัย และเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยชี้วัดระดับความสำหรับของหน่วยงานที่ดำเนินการบริหารจัดการโครงการวิจัย ดังนั้นการประเมินผลกระทบและผลประโยชน์ของการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัฯ รวมถึงผู้บริหาร และผู้ได้รับผลประโยชน์จากงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคม อันแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการลงทุนด้านการวิจัย และยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงานวิจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามบริบทของยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงแนวทางในการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอนาคต

ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

  • เพื่อประเมินลักษณะผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการวิจัยในภาพรวม ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาล และทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยและส่วนงาน
  • เพื่อประมวลผล ปัจจัยป้อนเข้า ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ และเส้นทางสู่ผลกระทบ (Impact Pathway) ของโครงการวิจัยกรณีศึกษา
  • เพื่อประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการวิจัยกรณีศึกษาภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาล
  • เพื่อเก็บรวบรวมการข้อมูลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของโครงการวิจัยต่าง ๆ เพื่อประมวลผลข้อมูลเป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินผลกระทบสำหรับทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินอุดหนุนรัฐบาล และทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยและส่วนงาน

ฝ่ายบริหารงานวิจัยและประเมินผล สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 0-2579-5547 ต่อ 11 – 15  สายใน 61-1457, 61-1796  ต่อ 11 – 15
โทรสาร 02-5611985
E-mail: rdirdk@ku.ac.th / rdibsy@ku.ac.th / rdinyn@ku.ac.th / rdikcn@ku.ac.th / rdiaes@ku.ac.th