สถานีก๊าซผักตบชวาระดับครัวเรือน

ผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา ด้วยกระบวนการหมักจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง ลดค่าใช่จ่ายซื้อก๊าซหุงต้มระดับครัวเรือน และยังช่วยลดจำนวนผักตบชวาที่กีดขวางทางไหลของน้ำในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย

ผักตบชวา วัชพืชในแม่น้ำลำคลองที่เป็นปัญหากีดขวางทางน้ำ สร้างความเสียหายระดับประเทศมายาวนาน ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหาผักตบชวา แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นได้  การนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อการหุงต้มเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผักตบชวาลง พร้อมได้พลังงานทดแทนที่ช่วยลดค่าใช่จ่ายซื้อก๊าซหุงต้มระดับครัวเรือนของเกษตรกรได้

จากผลงานวิจัยเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ศักยภาพสูงจากธรรมชาติ ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์  รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์  จากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของจุลินทรีย์ธรรมชาติจำนวนหลายหมื่นสายพันธุ์ และได้ค้นพบจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงที่สามารถย่อยสลายเส้นใยผักตบชวาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่ติดไฟได้  จึงได้ขยายผลงานวิจัยสู่ชุมชน ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน มีการออกหน่วยเคลื่อนที่ไปอบรม สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากองค์ความรู้งานวิจัย จัดตั้งเป็นหน่วยเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาผักตบชวา เพื่อจัดตั้งสถานีผลิตก๊าซหุงต้มจากผักตบชวา เป็นแนวทางหนึ่งที่จะลดจำนวนผักตบชวาลง ขณะเดียวกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผักตบชวา จากวัชพืชให้เกิดประโยชน์เปลี่ยนเป็นพลังงานชีวภาพไว้ใช้เองระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยลดค่าใช้จายครัวเรือนในการซื้อก๊าซหุงต้ม และยังช่วยลดงบประมาณภาครัฐในการกำจัดผักตบชวาด้วย

ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวา ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง  ทำได้ง่ายๆ โดย นำถังหมักมาแบ่งปริมาณออกเป็น 4 ส่วน ใส่ผักตบชวาที่บดสับแล้ว 1 ส่วน จุลินทรีย์ธรรมชาติศักยภาพสูง 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน และปล่อยให้มีพื้นที่ว่าง 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จะเกิดก๊าซชีวภาพที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มระดับครัวเรือนได้ประมาณ 20-40 นาทีขึ้นอยู่กับศักยภาพของจุลินทรีย์ หลังจากนั้นสามารถเติมผักตบชวาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ การเกิดก๊าซชีวภาพจะลดลงในเวลาประมาณ 3-5 เดือน ซึ่งกากผักตบชวาหลังการหมักเสร็จสิ้นแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการคลุมโคนต้นไม้ เพื่อเป็นวัสดุช่วยกักเก็บความชื้นในดินได้อีกด้วย

มาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ช่วยกันเปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซชีวภาพ ทำได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ได้ก๊าซไว้ใช้หุงต้มระดับครัวเรือนและระดับวิสาหกิจชุมชน และยังเป็นการช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาอีกด้วย

ผลงานวิจัยนี้ได้ยื่นขอรับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ แล้ว และเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์

                       และนายขวัญชัย นิ่มอนันต์

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาเขตกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม

เรียบเรียง/เผยแพร่  : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย 

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์