รายการวิทยุ เรื่อง สัตว์สุขภาพไม่ดี จัดการอย่างไร

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2559

เรื่อง  สัตว์สุขภาพไม่ดี จัดการอย่างไร

 บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ วันนี้เรามาฟังกันในเรื่อง สัตว์สุขภาพไม่ดี จัดการอย่างไร เป็นผลงานของ ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนครับ ก่อนอื่นเลย เรามาฟังการจัดการสุขภาพสุกรในมุมมองของ ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม กันครับ ท่านได้กล่าวว่าเมื่อพบว่าสุกรป่วยเป็นโรคหรือสุขภาพไม่ดี อันดับแรกคือ จะต้องแยกโรคให้ออกก่อนว่า อยู่ในประเด็นใดใน 2 ปยระเด็นหลัก ต่อไปครับ นั่นคือ

  1. โรคที่แป็นแล้วรักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมนั่นเองครับ อย่างเช่นโรค ขาแป ขางอ ไส้เลื่อน หัวบาก รูทวารไม่มี โรคเหล่านี้เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม รักษาไม่ได้จะต้องทำลายทิ้งอย่างเดียวครับ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการจัดการด้านพันธุกรรม เช่น การผสมเลือดชิด เป็นตัน
  2. โรคที่เป็นแล้วรักษาให้หายได้ สุกรที่ป่วยด้วยโรคประเภทนี้ ลักษณะที่พบโดยทั่วไปแล้วได้แก่ อาการคอตก หงอย ซึม สกปรก โรคผิวหนัง ชักท้องเสีย ฯลฯ สาเหตุของการเกิดโรค มักเกิดจากการติดเชื้อจากสิ่งสกปรกนั่นเองครับ เมื่อตัวสัตว์มีภูมิคุ้มกันไม่มากพอที่จะคุมเชื้อโรคตัวนั้น โรคก็จะแสดงอาการขึ้นมาครับ อาจารย์จึงใช้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่า ฟารืมนี้มีการจัดการดีหรือไม่ เพราะถ้ามัวแต่รักษาอาการโรคสุกรแต่ไม่ไปดูที่ต้นน้ำเลย ปัญหาแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

สุกรเป็นสัตว์ที่ค่อยข้างเเข็งแรง เราจะต้องจัดการสุกรกับเชื้อโรคนั้นอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุลกัน เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายสุกรมักมาจากอากาศ น้ำและอาหาร สุกรจะขับถ่ายเชื้อโรคมาจากอุจจาระและปัสสาวะ ฉะนั้นตัวที่ทำให้เชื้อโรคกับภูมิคุ้มกันไม่สมดุลกันนั้นก็คือ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลมในโรงเรือน ถูกจัดการโดยผู้เลี้ยงทั้งหมด การจัดการทั้งหมดมีผลต่อสุขภาพสุกร อากาศ น้ำ  อาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อน จะทำให้สุกรเกิดความเครียดซึ่งสามารถติดเชื้อได้ง่าย ตามหนังสือของฝรั่งที่ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจการจัดการสุขภาพ อยู่ที่การจัดการฝูงให้มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมอยู่ในระดับเดียวกัน จะสามารถควบคุม-ป้องกันโรคได้ครับ”

-เพลงคั่นรายการ-

เรามาฟังสิ่งที่กดภูมิคุ้มกันของร่างกบายกันน่ะครับ อาจารย์ให้ความรู้ไว้ว่า สิ่งที่กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีด้วยกัน 2 ประเภทครับ คือ

  1. เชื้อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ซึ่งสามารถจัดการได้โดยการทำลายหรือทำให้ลดจำนวนลงให้มีน้อยที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ไม่น่าจะกังวลอะไร เพราะสามารถป้องกันและควบคุมได้โดยการใช้ยา การใช้วัคซีน รวมถึงการจัดการในเรื่องของความสะอาด
  2. ทุพโภชนาการ เป็นสิ่งที่กดภูมิคุ้มกันที่น่ากลัวที่สุด ส่งผลให้สุกรป่วย ได้แก่ อาหารไม่พอ อาหารไม่ดี วัตถุดิบอาหารเลว การจัดการ ความเครียด และสารพิษ

การทำวัคซีนให้กับสุกรเพื่อต้องการให้สุกรมีระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะได้ผลดีต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น อาหารที่ดี น้ำดื่มที่สะอาดมีคุณภาพ ไม่มีโรคบิด สุกรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและเหมาะสม มีก๊าซแอมโมเนียน้อย มีการควบคุมโรคที่ดี มีการทำวัคซีนที่ถูกหลัก จึงทำให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคได้ผล แต่ในทุกวันนี้ในเรื่องของการจัดการไม่ได้เป็นไปตามมที่ได้กล่าวไว้เลย จึงทำให้เกิดปัญหา การใช้วัคซีนไม่ได้ผล ทำวัคซีนแล้วโรคยังเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้เกิดการกล่าวโทษอย่างผิดๆว่า เพราะวัคซีนคุณภาพไม่ดีเลยทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นครับ

ต่อมาคือปัจจัยที่ทำให้สัตว์เครียดและมีผลไปกดภูมิร่างกาย ได้แก่

  1. คุณภาพน้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  2. คุณภาพอาหารและการให้อาหาร ถึงแม้อาหารที่มีคุณภาพดี แต่รางที่ให้อาหารไม่มีคุณภาพ สุกรไม่สามารถกินอาหารได้เต็มที่ตามที่ต้องการ ก็เหมือนไม่ได้ให้อาหารนั่นเองครับ
  3. สารพิษจากเชื้อรา ซึ่งมาจากโรงเรือนหรือจากอากาศนั่นเองครับ
  4. ความชื้นในอากาศ สุกรไม่ชอยความชื้นแต่เชื้อโรคจะชอบมากครับคุณผู้ฟัง
  5. อุณหภูมิที่แปรปรวน ส่งผลให้สัตว์กินอาหารได้น้อยลงจึงทำให้สัตว์สัตว์เกิดความเครียดได้นั่นเองครับ
  6. ฝุ่น ทำให้ระบบทางเดินหายใจของสัตว์มีปัญหาได้ และยังเป็นตัวกดภูมิคุ้มกัน เช่น อาหารที่เป็นฝุ่นเยอะๆนั่งเองครับ
  7. แก๊สแอมโมเนีย แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์ มีผลกับระบบทางเดินหายใจโดยตรงเลยครับ
  8. พยาธิ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อโรค

ถ้าผู้เลี้ยงสุกรมีการจัดการที่ดีและสามารถควบคุมปัจจัยที่ทำให้สัตว์เครียดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย สุกรก็จะไม่ป่วย เพราะฉะนั้น หลักของสุขภาพจริงๆ นั่นก็คือ โรคจะเกิดเมื่อการจัดการล้มเหลว หรือโรคจะไม่มีเข้ามาย่างกรายเมื่อมีการจัดการที่ดีพอครับ

-เพลงคั่นรายการ-

วัคซีนและยา คุณผู้ฟังคงรรู้จักกันบ้างน่ะครับ วัคซีนนั่นก็คือ เชื้อโรคหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรคที่ผ่านกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งแล้วทำให้มันลดฤทธิ์ลง แต่เมื่อให้กับตัวสัตว์สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันเฉพาะโรคนั้นๆได้ครับ วัคซันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการป้องกันโรค ไม่ใช่เป็นการรักษาโรคครับคุณผู้ฟัง ส่วนภูมิคุ้มกัน แบ่งด้วยกันใหญ่ๆ เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ภูมิคุ้มกันที่ใช้เซลเม็ดเลือกขาวเป็นหลัก และภูมิคุ้มกันที่อยู่ในกระแสเลือดนั่นเองครับ และเป้าหมายของวัคซีนก็คือ ป้องกันโรคเท่านั้น ถ้าเราให้วัคซีนอย่างถูกวิธีการป้องกันโรคก็จะดีครับ เปรียบเหมือนกับการกางร่มคันใหญ่ให้สุกรนั่นแหละครับ เมื่อเราเปรียบฝนเป็นเชื้อโรคตกลงมาสุกรก็ไม่เปียก แต่ถ้าให้วัคซีนที่ไม่ถูกต้อง ก็เหมือนสุกรอยู่ในร่มคันเล็กๆฝนตกมาก็ยังเปียกอยู่นั่นเอง พอจะเห็นภาพกันนะครับคุณผู้ฟัง

ส่วนชนิดของวัคซีน มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ วัคซีนเป็นและวัคซีนเชื้อตาย มากันในวัคซีนเป็นก่อนน่ะครับ นั่นก็คือ เชื้อยังคงมีชีวิตอยู่ ต้องเตรียมมาจากเชื้อที่มีชีวิตเท่านั้น โดยผ่านกระบวนการทำให้ควมรุนแรงของเชื้อลดลง ข้อเสียคือ สามารถเพิ่มจำนวนในตัวสัตว์ได้ เพราะฉะนั้นการใช้วัคซีนเชื้อเป็นในสัตว์ที่ไม่เหมาะสมหรือสัตว์ที่ป่วย เชื้อจะเพิ่มจำนวนซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ได้ โดยอาจจะเป็นโรคหรือป่วยมากขึ้น หรือสัตว์ตัวนั้นอาจจะปล่อยเชื้อโรคออกมามากขึ้น เชื้อโรคอาจแข็งแรงขึ้น ข้อดีคือ เป็นการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ มาต่อกันกับวัคซีนเชื้อตายนะครับ นั่นก็คือ เชื้อที่ถูกทำให้ตายแล้ว ซึ่งจะปลอดภัยเพราะเชื้อจะไม่เพิ่มจำนวนในตัวสัตว์ ข้อเสียคือ กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ช้า จะต้องมีสื่อเพื่อช่วยให้เชื้อมีการแพร่กระจายหรือดูดซึมเข้าร่างกาย สื่อตัวนี้ทำให้การฉีดวัคซันวุ่นวาย ยุ่งยาก อาจมีการแพ้วัคซีน ส่วนข้อดีของมันคือ ภูมิคุ้มกันที่ได้จะอยู่ได้นานครับ

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ต้องการ

  1. การเลือกใช้วัคซีน ในทางปฏิบัติจะไม่นิยมใช้วัคซีนเชื้อตายในการควบคุมโรคที่กำลังระบาดอยู่ เพราะกว่าจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันนั้นต้องใช้เวลาที่นาน เพราะจะควบคุมโรคไม่ทันนั้นเองครับ จึงควรใช้วัคซีนเป็นจึงจะควบคุมโรคได้ทันเพราะจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้เร็ว การฉีดวัคซีนทุกครั้งจะต้องอ่านฉลากเพราะวัคซีนแต่ละชนิดจะมีการระบุว่าจะต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้หนังเท่านั้น การฉีดวัคซีนจะต้องอุ้มฉีดทีละตัว เพื่อไม่ให้สัตว์เครียด อีกอย่างหนึ่งเพราะวัคซีนมีราคาแพง ถ้าทำไม่ดี ไม่ได้ผล ก็จะทำให้เสียเงินฟรี และอาจจะก่อโรคได้อีกด้วย สมัยก่อนอาจพบฟาร์มแห่งหนึ่งที่ใช้ไซลิงค์ดูดวัคซีนมา 10 ซีซี แล้วก็จิ้มทำไปครั้งละหลายๆตัว ซึ่งในการทำแบบนี้สุกรแต่ละตัวสุกรจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่ไม่เท่ากันอย่างแน่นอนครับ วัคซีนทำจากเชื้อโรคอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อเป็น เชื้อยังไม่ตาย ถ้าฉีดเกินโด๊สเชื้อจะเกิดอันตรายแก่สุกรได้ครับ วิธีที่ดีที่สุดในการทำวัคซีนให้ได้ผลคือ ดูดวัคซีนในปริมาณโด๊สสำหรับ 1 ตัว อุ้มทำวัคซีนทีละตัว ค่อยๆทำ ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ไม่ได้กำหนดว่าการปูพรมวัคซีนจะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ทำ 3 วันก็ยังได้ครับคุณผู้ฟัง
  2. การทำวัคซีนที่ดีควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ ก่อนทำวัคซีนต้องตรวจสุขภาพสุกร สุกรต้องไม่ป่วยหรือมีไข้ ถ้าเกิดตัวสุกรป่วยต้องรอให้หายดีก่อนจึงค่อยทำครับ และอย่าลืมทำเครื่องหมายให้รู้ว่าไม่ได้ทำวัคซีน และถ้าสุกีป่วยตายก็จะได้ไม่ต้องเปลืองวัคซีนนั่นเองครับ อย่าลืมว่าก่อนการทำวัคซีนทุกครั้งควรอาบน้ำให้สุกรสบายตัวก่อนนะครับ จากนั้นอุ้มฉีดเบาๆทีละตัว ทำด้วยความนุ่มนวล เพราะถ้าฉีดวัคซีนแล้วทำให้สุกรเครียดภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่ดี ทำให้ไม่สามารถป้องกันโรคได้ โรคก็จะเกิดขึ้นนั่นเองครับ

-เพลงคั่นรายการ-

สิ่งที่ทำให้วัคซีนด้อยคุณภาพ ได้แก่ การเก็บรักษา การขนส่ง และการให้วัคซีน

  1. การเก็บรักษา เก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นซึ่งจะต้องมีการเช็คทุกวัน ใช้ดาตาล็อคเกอร์ก็ได้ หรือบางคนมีตู้เย็นที่มีตัวเลขบอกข้างหน้าเลย ถ้าจะให้ดีควรติดตั้งตู้เย็นไว้ในที่ที่มีคนเห็นตลอดเวลา ห้องที่ดีที่สุดคือ ห้องธุรการ ล็อคกุญแจไว้ มอบหมายให้คนหนึ่งดูแล ไม่ควรนำไปไว้ในฟาร์มเพราะจะจัดการลำบาก คนงานอาจนำของอย่างอื่นมาแช่ ถ้ามีการซื้อวัคซีนใหม่เข้าฟาร์มควรเก็บไว้ใช้ทีหลังต้องใช้ของเก่าให้หมดก่อน เข้าก่อนออกก่อน จัดเรียงให้ดีห้ามนำวัคซีนเก็บในช่องแช่แข็ง เซลของเชื้อโรคจะแตกตาย ห้ามเด็ดขาด มีเทอร์โมมิเตอร์วัด มีระบบเตือนไฟตู้เย็นเมื่อเกิดไฟดับหรือตู้เย็นไม่ทำงานเป็นปกติ เพื่อจัดการกับวัคซีนต่อไปไม่ให้เกิดความเสียหายได้ ในตู้เย็นแบ่งชั้น เขียนให้ชัดว่าเป็นวัคซีนอะไร
  2. การขนส่ง จากตู้เย็นไปยังจุดที่ทำวัคซีน ต้องทยอยเอาไป ไม่ควรนำไปใช้ทีเดียวแล้วทำวัคซีนไปทั้งวัน บางฟาร์มผสมก่อนแล้วนำไปฉีด กว่าขวดสุดท้ายจะได้ฉีดก็เสื่อมคุณภาพลง เพราะฉะนั้นเมื่อจะฉีดก็ค่อยผสม
  3. การให้วัคซีน ต้องให้กับสุกรที่สุขภาพดีเท่านั้น และให้ในช่วงที่อากาศไม่ร้อน จึงควรทำช่วงเย็นไปจนถึงกลางคืน และเมื่อทำเสร็จสุกรจะได้นอน เช้าตื่นมาค่อยกิน สุกรจะมีความเครียดน้อยกว่า แต่ในช่วงกลางคืน มักไม่มีใครอยากทำเพราะจะดูละครบ้าง อะไรบ้าง ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการจัดการทั้งนั้น แต่ถ้าสามารถทำตอนเย็นได้ ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีกว่าทำตอนเช้าหรือบ่าย ซึ่งมีอากาศร้อน ห้ามใช้วัคซีนเถื่อน ต้องซื้อจากบริษัทที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เพราะกระบวนการในการผลิตวัคซีนค่อนข้างยากมาก ส่วนใหญ่บริษัทที่ทำขายจะเป็นบริษัทอินเตอร์ ทำจากเมืองนอก ขั้นตอนการทำยากมาก เมื่อทำเสร็จแลล้วจะทำการทดสอบกับสุกรที่นำมาขาย ต้องดูข้อกำหนดที่แน่นอน วันหมดอายุ ฉีดแบบไหน ใช้ขนาดเท่าไรต่อตัว อุปกรณ์การฉีด เข็มและกระบวนฉีดนั้นก็สำคัญ บันทึกการฉีดทุกครั้ง ให้วัคซีนน้อยก็ภูมิคุ้มกันไม่ดีไม่คุ้มโรค ให้วัคซีนมากไปก็เปลือง ถ้าจะให้พอดีต้องฉีดทีละตัว ห้ามทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโดยเด็ดขาดครับ เพราะยาฆ่าเชื้อที่ตกค้างในกระบอกฉีดจะไปฆ่าเชื้อในวัคซีน วัคซีนเชื้อเป็นก็จะตาย เรื่องของเข็ม ถ้าฟาร์มมาตรฐานจะเปลี่ยนเข็มทุกคอกหรือทุกๆ 10 ตัว ถ้าอุปกรณ์สกปรก ฉีดแล้วอาจทำให้เกิดฝี วัคซีนที่ฉีดไปก็ไม่ได้ผล ขวดวัคซีนที่ใช้แล้ว ถ้ามีที่ก็เผาทำลาย หรือเปิดขวดแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ

 

-เพลงคั่นรายการ-

การที่ทำวัคซีนแล้วไม่ได้ผล 100 เปอร์เซนต์ อาจเป็นเพราะสัตว์ได้รับเชื้อมาก่อนแล้ว และกำลังอยู่ในระยะฟักตัว หรือสัตว์บางตัวสร้างฮอร์โมนปกป้องพันธุกรรมไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนสัตว์ปกติก็ขึ้นอยู่กับควมล้มเหลวในการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนอาจถูกทำลายก่อนการฉีดวัคซีน หรือร่างกายสัตว์อ่อนแอเกินกว่าที่จะสร้างภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นไม่ดี

ถ้าฉีดวัคซีนแล้วแพ้ อาการคือหลังฉีดไปแล้วไม่เกินครึ่งชั่วโมง ลุกกระวนกระวาย น้ำลายใหล วิธีแก้ ให้ใช้ยาอะดีนาลีนตัวละ 0.5-1 ซีซี จะไปช่วยกระตุ้นให้การหายใจดีขึ้น อะดีนาลีน คือ ฮอร์โมนที่เวลาเราเครียดฮอร์โมนนี้จะหลั่งจากหมวกไต หรือกลุ่มยาแก้แพ้ คือ คอร์เฟนิลามีนชนิดฉีด 0.5-1 ซีซี ตัวที่แพ้ต้องจับแยกออกมาฉีดยาแล้วดูอาการ มันแพ้เพราะสารละลายวัคซีน

หลักในการใช้ยารักษาโรค

  1. ต้องวินิจฉัยให้ถูกโรค ด้วยการเก็บข้อมูลไว้ และส่งตัวอย่างไปตรวจ ถ้ามีครั้งต่อไปจะได้จัดการถูก
  2. ใช้ให้ถูกขนาด อย่าให้เกินบ้าง ขาดบ้าง
  3. ใช้ให้ถูกเวลา จริงๆ แล้วเมื่อพบสัตว์ป่วยต้องรีบรักษา เพราะว่าถ้าปล่อยให้เรื้อรังต่อไป 2-3 วันจะรักษายาก สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาคือ การทำให้สุกรกินอาหารกินน้ำได้ ต้องแยกสัตว์ป่วยมารักษาและกระตุ้นให้กินน้ำกินอาหารให้ได้ โดยให้อาหารอ่อนๆอาจจะผสมน้ำเป็นโจ๊ก สัตว์ไม่ได้หายจากยาที่ฉีด แต่จะหายจากการกินน้ำกินอาหารได้

ถ้าสัตว์นั้นไม่กินอาหารแต่ยังกินน้ำได้ ก็ให้ยาละลายน้ำ ในสุกรเรื่องการละลายยาในน้ำลืมกันไปหมดแล้ว แต่ในไก่ยังมีการให้เป็นเรื่องปกติ จริงๆแล้วในสุกรตัวเล็กๆ สามารถทำได้โดยการแยกสัตว์ป่วยมาทำการรักษา งดให้น้ำจากจุ๊บ ปล่อยให้อัดน้ำสัก 1-2 ชั่วโมง และผสมยาลงในน้ำใส่อ่างให้กิน มันก็จะกินเพราะถูกอดน้ำ การให้ยาละลายน้ำและอาหารจะประหยัดแรงงาน ฝูงสุกรไม่เครียด ข้อเสียคือ บางครั้งสัตว์ป่วยที่ต้องการให้กินมันไม่ได้กินสุกรบางตัวอาจได้รับยาไม่ครบเพราะกินอาหารได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งการฉีดสุกรจะได้รับยาแน่นอน แต่จะมีอาการเครียดเล็กน้อยสิ้นเปลืองแรงงานแต่ดีเพราะรักษาเป็นรายตัว

ครับ ท้ายรายการนี้หากคุณผู้ฟังท่านใดสนใจที่จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจะติชมรายการ ท่านสามารถเขียนจดหมายหรือไปรษณียบัตร ส่งมาได้ที่ “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ตู้ ปณ. 1077 ปณฝ.เกษตรศาสตร์ กทม. 10903” หรือโทรสอบถามได้ที่ 02-561-1474 ครับ กระผมหวังว่า สาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ  สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า กระผม วิทวัส ยุทธโกศา ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ