อุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ

“ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ ปลาหมอสี (Cicilidae) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nile tilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis Niloticus (ชื่อเดิม คือTilapia Nilotica) เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง ในประเทศซูดาน ยูกันดา และทะเลสาบแทนแกนยิกา ในประเทศแทนซาเนีย

ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลการทดลองปรากฏว่าปลาเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า “ปลานิล” และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร รวมทั้งปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ

เนื่องจากเนื้อปลามีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวางและเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ง่ายรวมทั้งมีคุณลักษณะพิเศษหลายข้อ คือ กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ จึงกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพของท้องถิ่นของประเทศ ปลานิลที่ขายกันในท้องตลาดกว่าร้อยละ 80 เป็นผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ที่เหลือได้จากการจับตามธรรมชาติ และการเลี้ยงปลานิลของเกษตรกรจะเป็นการเลี้ยงในบ่อดินมากกว่าร้อยละ70 รองลงมาเป็นการเลี้ยงปลานิลในกระชัง ร้อยละ 20 มีส่วนน้อยเลี้ยงตามท้องนา และตามร่องสวน

หลังจากเพาะเลี้ยงปลานิลได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว พบว่าการจับปลานิลขึ้นจากบ่อต้องอาศัยแรงงานคน โดยการใช้อวนลากปลานิลในบ่อมารวมกันไว้ที่ริมบ่อด้านใดด้านหนึ่ง จากนั้นจึงใช้สวิงช้อนปลานิลขึ้นจากบ่อ ใส่ลงในรถเพื่อทำการขนส่งไปจำหน่าย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ปลาเกิดความบอบช้ำมาก เนื่องจากการเสียดสีกันเองในสวิงขณะจับ ทำให้เกล็ดหลุด เกิดรอยแดง เกิดการทิ่มแทงจากครีบ การตกเลือด ส่งผลให้ราคาขายต่ำลง ในกรณีที่ไม่ได้นำไปขายแต่นำไปไว้ในบ่ออื่น อาจทำให้เกิดการติดโรคจากแผลเปิดมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ยังต้องใช้เวลานานและใช้แรงงานคนจำนวนมากในการจับปลานิลขึ้นจากบ่อ

1

2

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร จากภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ เป็นการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือทุ่นแรงมาช่วยในกระบวนการลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อโดยไม่ทำให้ปลานิลเกิดความบอบช้ำเสียหาย

งานวิจัยนี้ได้ทำการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ โดยเริ่มจากการศึกษาวิธีการเก็บเกี่ยวปลานิลทั้งจากการเลี้ยงในบ่อดิน และการเลี้ยงในกระชัง ศึกษาลักษณะทางกายภาพของปลานิลที่มีจำหน่ายในตลาด 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ รวมถึงการหาความสัมพันธ์ของมิติปลานิลเพื่อใช้เป็นตัวแปรในการออกแบบอุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ

ผลการดำเนินงาน ได้พัฒนาอุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากที่ใช้งานง่าย ทำงานด้วยกลไกเชิงกลพื้นฐาน สามารถไปได้ทุกพื้นที่ ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง กลไกไม่ซับซ้อน ผู้ใช้สามารถแก้ไข ปรับปรุง ซ่อมแซมได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคที่สูงนัก อุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ มีชิ้นส่วนหลักประกอบไปด้วย 1) ท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (ภายใน) 15 นิ้ว หนา 6 มม. ยาว 6 เมตร 2) เครื่องต้นกำลัง เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 9.5 แรงม้า 3) ใบสกรู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพลา 5 เซนติเมตร ติดตั้งบนเพลายาว 7 เมตร อยู่ภายในท่อ 4) ถาดป้อนปลา 5) ล้อหน้า สำหรับการบังคับเลี้ยว จำนวน 1 ล้อ 6) ล้อขับเคลื่อน ขนาดกะทะล้อ 15 นิ้ว จำนวน 2 ล้อ 7) เพลาขับและชุดส่งกำลัง 8) เบาะนั่งขับ 9) พวงมาลัย และ 10) ชุดเบรค 

อุปกรณ์ลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อ มีความแข็งแรง ถูกออกแบบให้ลำเลียงปลานิลขนาดใหญ่ที่ขนาดสุด 1 ตัว/1 กก. สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยใช้ต้นกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ประหยัดน้ำมัน ล้อหน้ามี 1 ล้อ ทำให้ถอดประกอบง่าย และพวงมาลัยมีน้ำหนักเบาทำให้ง่ายในการบังคับเลี้ยว ใช้ใบสกรูในการลำเลียงปลาขึ้นจากบ่อตามหลักของสกรูของอาคีมีดิส โดยสามารถทำงานได้ที่บ่อปลาลึก 4 เมตร 

อุปกรณ์สามารถลำเลียงปลานิลขึ้นจากบ่อได้ตามที่ออกแบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำให้ปลานิลเกิดความเสียหาย จึงเป็นเครื่องทุ่นแรงที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ผู้เลี้ยงปลา อุปกรณ์นี้อาจประยุกต์ใช้กับการลำเลียงปลาชนิดอื่นหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นได้หลากหลายขนาด ใช้ได้ทั้งบ่อดิน บอเลี้ยงกระชัง  ใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงรักษาเองได้ ทนทาน และสามารถขยายผลไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้

%e0%b8%a8%e0%b8%b8%e0%b8%a0%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%95%e0%b9%8c ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร

ภาควิชาเกษตรกลวิธาน

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร