ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ผสมเปิด สุวรรณ 2

7.Suwan2(S)C7-Ear 8-Suwan2(S)C7-Plant

 

ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 2 เป็นพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับพันธุ์สุวรรณ 1 คือ พันธุ์ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 (Thai Composite # 1 ) เป็นพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดี 

ประวัติการพัฒนาพันธุ์

พ.ศ. 2513  เริ่มในเดือนเมษายน โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ทำการคัดเลือกต้นที่มีอายุออกดอกเร็ว ประมาณ 60 ต้น จากจำนวนทั้งหมด 2,500 ต้น และผสมรวมภายในต้นที่ออกดอกเร็ว นำเมล็ดจากฝักที่เก็บเกี่ยวได้รวมกัน แล้วนำไปปลูกในเดือนธันวาคม  จำนวน 700 ต้น

พ.ศ. 2514  ทำการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกหมุนเวียนแบบผสมตัวเองหนึ่งครั้ง จำนวน 2 รอบโดยสามารถคัดเลือกเอาลักษณะต้นที่ออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น และมีลักษณะทางการเกษตรที่ดีไว้ออกมาได้ประมาณ 1 ใน 3  ตั้งชื่อพันธุ์ที่ได้นี้ว่า “ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 เออร์ลี่ (Thai Composite #1 Early)

พ.ศ. 2516  นำเอาพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง และเป็นพันธุ์อายุสั้น ซึ่งได้แก่ พันธุ์ Phil. DMR 1 (S)C1 (ฟิลิปปินส์ ดีเอ็มอาร์ เบอร์ 1) มาผสมเข้ากับพันธุ์ Thai Composite # 1 Early (ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 เออร์ลี่)

พ.ศ. 2517  นำไปผสมกับต้นที่ออกดอกเร็วของพันธุ์ Thai Composite #1 DMR BC3(S)C1และตั้งชื่อว่า “ไทยคอมพอสิตเบอร์ 1 เออร์ลี่ดีเอ็มอาร์ รอบคัดเลือกที่ 0 (Thai Composite #1 Early DMR (S)C0)”

พ.ศ. 2518 ใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกหมุนเวียนแบบผสมตัวเองหนึ่งครั้ง หลังจากการผ่านการเลือกคัดหมู่เพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง และลักษณะประกอบอื่น ๆ ที่ดีด้วยรวมจำนวน 4 รอบ จึงเรียกชื่อพันธุ์นี้ว่า Thai Composite # 1 Early DMR

พ.ศ. 2522  เผยแพร่พันธุ์จากรอบคัดเลือกที่ 4 ในชื่อ “พันธุ์สุวรรณ 2 และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์สุวรรณ 2 เพื่อใช้ในระบบการปลูกพืช เนื่องจากมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น โดยพันธุ์สุวรรณ 2 ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ถึงรอบคัดเลือกที่ 8 และเป็นชื่อที่เริ่มรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การประชุมสรุปผลงานวิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างครบ 10 ปี ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม พ.ศ. 2522

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะเด่นของพันธุ์สุวรรณ 2 เป็นพันธุ์ผสมเปิดอายุสั้น อายุเก็บเกี่ยวเท่ากับ 90-100 วัน ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 เล็กน้อย สามารถปลูกโดยใช้จำนวนต้นต่อพื้นที่มากกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 โดยมีการหักล้มบ้างต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี เมล็ดมีสีส้มเหลืองชนิดหัวแข็ง

ผู้พัฒนาพันธุ์ : ศ.ดร.สุจินต์  จินายน   ผศ.ดร.สุทัศน์  ศรีวัฒนพงศ์  วีระศักดิ์  ดวงจันทร์   ธวัชชัย  ประศาสน์ศรีสุภาพ   ดร.สรรเสริญ  จำปาทอง   ศ.ดร.ชำนาญ  ฉัตรแก้ว และ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ

หน่วยงาน : ภาควิชาพืชไร่  คณะเกษตร และ  ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ข้าวโพดพันธ์สุวรรณ 2 ได้รับการส่งเสริมไปยังเกษตรกรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาเพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดได้ปีละ 2 ครั้ง พันธุ์สุวรรณ 2 ได้รับความนิยมอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อเกษตรกรได้เริ่มการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน จึงพบว่าพันธุ์สุวรรณ 2 สามารถปลูกเป็นข้าวโพดฝักอ่อนได้ดี นอกจากนี้ ยังได้มีการนำพันธุ์สุวรรณ 2 ไปใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนทั้งของภาครัฐและเอกชน