ข้าวโพด : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด

1.โครงการวิจัย ณ ไร่สุวรรณ จุดเริ่มต้นงานวิจัยและแหล่งสร้างนักวิจัยพืชไร่ มก.

ภาพแก้สายไฟ-ไร่สุวรรณ copy

          พ.ศ. 2505 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ร่วมกับ กรมกสิกรรม(กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) และมูลนิธร็อกกี้เฟลเลอร์ได้จัดตั้งโครงการประสานงานปรับปรุงการผลิตข้าวโพด(Co-ordination Project for Corn Improvement Program)ขึ้น ในระยะแรกใช้สถานีทดลองพืชไร่พระพุทธบาท เป็นสถานีวิจัยข้าวโพด

           พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบ ” ไร่ธนะฟาร์ม ” ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเดิมเป็นไร่ของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พื้นที่ประมาณ 3,071 ไร่ จัดตั้งเป็นสถานีฝึกนิสิตเกษตร ชื่อว่า ” สถานีฝีกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ” หรือ “ไร่สุวรรณ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ปฐมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการประสานงานฯ จึงได้เริ่มต้นการดำเนินงานวิจัยด้านข้าวโพดข้าวฟ่าง ณ ไร่สุวรรณแห่งนี้

          พ.ศ. 2509 โครงการข้าวโพดและข้าวฟ่างในประเทศแถบเอเชีย (Inter-Asian Corn and Sorghum Program) ภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ ได้ย้ายสำนักงานจากประเทศอินเดียมายังประเทศไทย โดยมีกิจกรรมวิจัยและฝึกอบรมส่วนใหญ่อยู่ที่ไร่สุวรรณ เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงาน และทำให้ชื่อ ไร่สุวรรณ หรือ Suwan Farm เป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการข้าวโพด ข้าวฟ่างอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ และในเวลาต่อมา จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็น ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ โดยสังกัดอยู่กับสำนักงานอธิการบดี มีนายอัญเชิญ ชมภูโพธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยและ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติคนแรกด้วย

             พ.ศ. 2512  พิธีเปิดศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2512  เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านข้าวโพดและข้าวฟ่าง โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นงานวิจัยพืชไร่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

               พ.ศ. 2517 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง ไทยคอมพอสิต1 ดีเอ็มอาร์

      พ.ศ. 2518 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ1  ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมเปิดที่ต้านทานโรคราน้ำค้าง เป็นพันธุ์ส่งเสริม ให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูกอย่างเป็นทางการ

      พ.ศ. 2522 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวเร็ว ให้เกษตรกรได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับแต่ลท้องถิ่น

      พ.ศ. 2525 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 2301 เป็นข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ปลูก และยังเป็นพันธุ์ที่ได้รับรางวัล จากสภาวิจัยแห่งชาติในฐานะงานคิดค้น/สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ รางวัลที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2532

      หลังพ.ศ. 2525 เป็นต้นมา  บริษัทเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมมากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาพันธุ์ และส่งเสริมข้าวโพดลูกผสมพันธุ์ต่างๆสู่เกษตรกรอย่างมากมาย โดยงานวิจัยบางส่วนเป็นวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      พ.ศ. 2529 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดลูกผสมสามทาง พันธุ์สุวรรณ2602 สู่เกษตรกร 

                พ.ศ. 2530 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 3 ซึ่งเป็นพันธุ์ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง รากและลำต้นแข็งแรง เมล็ดสีเหลืองส้มตรงตามความต้องการตลาด

      พ.ศ. 2536 ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ แนะนำข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิดพันธุ์สุวรรณ 5 เป็นพันธุ์ส่งเสริม ซึงเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกทำหญ้าหมักเพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี

2.  ประวัติการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดจากการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 untitled   ข้าวโพดไร่

     โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 50 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาของประเทศ นับเป็นโครงการหลักที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ไร่สุวรรณ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ในช่วงแรกๆ เป็นการวิจัยร่วมกับกรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตร ในปัจจุบัน) กรมส่งเสริมการเกษตร วิทยาลัยเกษตรกรรม และบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ ตลอดจนองค์กรวิจัยนานาชาติ ได้แก่ศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT)  

การดำเนินงานวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบ่งออกได้เป็น

1) การพัฒนาพันธุ์ผสมเปิด (open pollinated varieties) เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูปลูกต่อไป

2) การพัฒนาสายพันธุ์แท้    เพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ของพันธุ์ลูกผสมมีลักษณะที่ดีเด่นให้ผลผลิตสูงต้านทานโรค ให้ภาครัฐและภาคเอกชนนำไปใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมต่อไป  

3)การพัฒนาพันธุ์ลูกผสม  เป็นการพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้ เกษตรกรต้องซื้อทุกครั้ง