ข้าวโพด : การปลูกข้าวโพด

สภาพดินฟ้าอากาศ

เนื่องจากข้าวโพดมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมสูงมาก จึงพบว่าข้าวโพดสามารถปลูกได้ในส่วนต่าง ๆ ของโลก ซึ่งมีสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่างกันมาก ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 50 องศาเหนือ ไปจนถึง เส้นรุ้ง 50 องศาใต้ และที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร

ข้าวโพดเป็นพืชวันสั้น ปลูกในสภาพวันยาว จะใช้เวลาในการออกดอกและแก่ยาวขึ้น และมีจำนวนใบเพิ่มขึ้น แม้ว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีความสามารถปรับตัวได้กว้าง แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 24-30 องศาเซนเซียล และอุณหภูมิต่ำสุด สำหรับการงอกที่ 10   องศาเซนเซียล ขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ (สูงราว 15 เซนติเมตร) ข้าวโพดสามารถทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดี แต่เมื่อโตขึ้นจะไม่ทนทานต่อสภาพอากาศดังกล่าว   ข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวโพดควรมี pH ระหว่าง 5.5-8

ฤดูปลูก

สำหรับประเทศไทย การปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดไร่ปลูกแบบอาศัยน้ำฝน ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปลูกและการให้ผลผลิต ของข้าวโพดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการกระจายของฝนที่ตกตลอดฤดูปลูก สำหรับเขตชลประทาน สามารถปลูกข้าวโพด ได้ตลอดปี โดยทั่วไปการปลูกต้นฤดูฝน (เมษายน – พฤษภาคม) มักจะได้ผลผลิตดีกว่า ไม่มีโรคราน้ำค้างระบาดและปัญหาวัชพืช น้อยกว่าปลูกปลายฤดูฝน (กรกฎาคม – สิงหาคม) แต่มีข้อเสียคือ ในระยะเก็บเกี่ยวจะมีฝนชุก ทำให้ข้าวโพดชื้น จะเกิดปัญหา สารอะฟลาทอกซิน เพราะตากข้าวโพดไม่แห้ง แต่ปลูกปลายฤดูฝน จะมีปัญหาเตรียมดินไม่สะดวก เพราะฝนชุกและโรคต้นกล้าเน่า

การเตรียมดิน

ในการเตรียมดินแบบเต็มรูปแบบ ต้องไถดะครั้งแรกเพื่อเปิดหน้าดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ติดผาน 3 หรือ 4 หรือไถหัวหมู เพื่อพลิกหน้าดินและกลบเศษพืชและวัชพืช โดยทั่วไปจะไถที่ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้นจึงไถแปรและไถพรวนเพื่อย่อยดินให้แตกและคลุกเคล้าเศษซากพืชและอินทรีย์วัตถุให้สม่ำเสมอ และหากไถแปรแล้วดินยังไม่ละเอียดเพียงพอควรจะมีการพรวนอีก 1 ครั้ง

 วิธีปลูก 

การปลูกข้าวโพดที่ปฏิบัติกันสามารถทำได้ 3 วิธี

  1. การขุดหลุมปลูก เป็นวิธีการปฏิบัติแบบเก่า โดยใช้จอบ เสียม หรือไม้ปลายแหลมขุดเป็นหลุม การปลูกวิธีนี้ทำให้ระยะระหว่างต้น ระหว่างหลุม และความลึกของเมล็ดที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ ปัจจุบันได้มีเครื่องมือปลูกเรียกว่า corn jab ที่สามารถกำหนดระยะปลูกและความลึกในการปลูกได้
  2. การปลูกแบบชักร่อง ใช้ไถหัวหมูติดรถแทรกเตอร์หรือรถไถเดินตาม หรือใช้แรงงานสัตว์ทำร่อง ปลูกเป็นแถว ใช้แรงงานคนในการหยอดเมล็ดปลูกในร่องแล้วใช้เท้าปาดผิวดินกลบ การปลูกวิธีนี้จะได้ระยะระหว่างแถวสม่ำเสมอ แต่ระยะระหว่างหลุมและความลึกในการปลูกไม่สม่ำเสมอ
  3. การปลูกโดยใช้เครื่องปลูก (planter) โดยใช้เครื่องปลูกติดท้ายรถแทรกเตอร์ ปลูกเป็นแถว สามารถกำหนดระยะระหว่างแถว ระหว่างหลุม และความลึกในการปลูกได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ

อัตราปลูกเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดผลผลิตต่อพื้นที่ ดังนั้นในการปลูกข้าวโพดจึงควรจัดระยะปลูกระหว่างแถว และระหว่างหลุมให้เหมาะสม โดยระยะที่แนะนำคือ ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร จะใช้จำนวนต้นต่อหลุม 1 ต้น

การให้ปุ๋ย

ควรมีการใส่ปุ๋ยให้ต้นข้าวโพด เพื่อให้มีธาตุอาหารใช้ในการสร้างผลผลิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง

  1. ปุ๋ยรองพื้น ควรใส่รองก้นหลุมหรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก ถ้าใช้เครื่องปลูกจะมีถังสำหรับใส่ปุ๋ยพร้อมอยู่แล้ว ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบาง ๆ ก่อนหยอดเมล็ด ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรง เพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้ ปุ๋ยรองพื้นที่ใช้ อาจใช้สูตร 16 – 20 – 0, 15 – 15 – 15 , 20 – 20 – 0 หรือสูตรอื่นๆ ตามความเหมาะสมถ้าเป็นไปได้ ควรมีการวิเคราะห์ดิน เพื่อหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะกับพื้นที่ โดยปุ๋ยรองพื้น ควรใส่อัตราประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม/ไร่
  2. ปุ๋ยแต่งหน้า หลังจากปลูกประมาณ 25 – 30 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46 – 0 – 0) โรยข้างต้นในอัตรา 20 – 25 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ขณะดินมีความชื้นหรือใส่แล้วกลบด้วยเครื่องทำรุ่นพูนโคน

การป้องกันและกำจัดวัชพืช

  1. หลังจากปลูกข้าวโพด ก่อนข้าวโพดงอก (และก่อนหญ้างอกหรือหญ้างอกต้นเล็กไม่เกิน 3 ใบ) ให้พ่นสารควบคุมวัชพืชขณะดินชื้น โดยใช้สารอาทราซิน อัตรา 500 กรัม / ไร่ หรืออะลาคลอร์ อัตรา 600 ซีซี / ไร่ หรือใช้ทั้งสองอย่างรวมกันโดยใช้อาทราซีน 350 กรัม + อะลาคลอร์ 500 กรัม / ไร่
  2. ควรมีการทำรุ่นพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 25 – 30 วัน เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่ โดยการใช้ผานหัวหมู หรือใช้จอบถาก
  3. การกำจัดวัชพืช ถ้ามีวัชพืชในแปลงข้าวโพดมากอาจใช้สารพาราควอท(กรัมม็อกโซน) ฉีดพ่นเพื่อฆ่าหญ้า โดยใช้อัตรา 80 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ( 8 ช้อนแกง / น้ำ 1 ปี๊บ ) ทั้งนี้การฉีดพ่นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สารโดนต้นข้าวโพดเพราะจะทำให้ข้าวโพดไหม้ตายได้

 ความต้องการน้ำของข้าวโพด

ข้าวโพดมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูปลูก ประมาณ 500 – 600 มิลลิเมตร หรือประมาณ 800 – 900ลูกบาศก์เมตร/ ไร่ แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง การปลูกข้าวโพดในสภาพไร่ โดยทั่วไปจะปลูกในช่วงฤดูฝน แต่บางครั้งให้น้ำได้ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือกรณีปลูกข้าวโพดในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจำเป็นต้องให้น้ำ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. การให้น้ำครั้งแรกเมื่อปลูก ในการปลูกข้าวโพด หลังจากไถพรวนเตรียมแปลงเสร็จแล้ว ควรให้น้ำก่อนปลูกข้าวโพดโดยให้น้ำ 50 – 65 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ แล้วจึงหยอดข้าวโพดขณะดินมีความชื้นพอเหมาะ ถ้าจำเป็นต้องหยอดข้าวโพดก่อนให้น้ำ ควรให้น้ำประมาณ 35 – 50 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ถ้าให้น้ำมากกว่านี้ จะต้องรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันที
  2. การให้น้ำในช่วงระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด หลังจากข้าวโพดงอกแล้วควรให้น้ำ 65 – 80ลูกบาศก์เมตร /ไร่ / สัปดาห์ โดยให้อีก 11-12 ครั้ง (สัปดาห์) การให้น้ำแต่ละครั้งไม่ควรให้น้ำท่วมขัง หรือดินชื้นแฉะเป็นเวลานาน ถ้าให้น้ำมากเกินไป ควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันที

 การให้น้ำแก่ข้าวโพดมี 3 วิธี ดังนี้

  1. การให้น้ำแบบตักรด เป็นแบบที่ใช้ในสวนผักทั่วไป วิธีนี้เปลืองแรงงาน แต่ประหยัดน้ำ ค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายต่ำ เหมาะกับการปลูกในเนื้อที่ไม่มาก
  2. การให้น้ำแบบฝนเทียม (sprinkler irrigation) เป็นการลงทุนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่เหมาะกับการปลูกพืชที่มีราคาแพง เช่น ข้าวโพดหวาน
  3. การให้น้ำแบบร่องลูกฟูก (furrow irrigation) ค่าใช้จ่ายต่ำ และสะดวกต่อการปฏิบัติ ข้อสำคัญอยู่ที่การปรับระดับพื้นดินในระยะแรก พื้นที่ต้องราบเรียบและอยู่ในระดับที่ถูกต้อง คือลาดเอียงเล็กน้อย

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคที่สามารถทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน และเกิดที่ส่วนต่าง ๆ ทั้งที่ใบ ลำต้น กาบใบ เมล็ด และอื่น ๆ แตกต่างกัน นอกจากนั้นอาจเกิดที่ระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอีกด้วย ความเสียหายของพืชจากโรค นอกจากจะขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็นแล้ว ยังขึ้นกับความรุนแรงของการเป็นโรคด้วย โรคข้าวโพดที่สำคัญมีดังนี้

  1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronosclerospora sorghi

อาการ : เชื้อโรคสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้าจนถึงออกดอก อาการในระยะแรก เมื่อข้าวโพดยังเป็นต้นกล้า จะเกิดจุดสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนบนใบเลี้ยงและใบจริงสองสามใบแรก ต่อจากนั้นจุดนี้จะขยายออกเป็นทางสีขาวลามไปยังฐานใบ ต่อมาในระยะที่สอง ใบที่ผลิออกมาใหม่จะมีทางสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อนเกิดขึ้นจากฐานใบถึงปลายใบ ระยะนี้เป็นระยะที่ข้าวโพดเสียหายอย่างมาก ต้นที่เป็นโรคอาจแห้งตายก่อนออกดอกหรือฝัก หรือถึงมีฝัก ฝักจะไม่สมบูรณ์ มีเมล็ดจำนวนน้อย อาการผิดปกติอีกอย่างที่พบ คือ ส่วนยอดและดอกแตกเป็นพุ่มหรือก้านฝักยาวและมีฝักหลายฝักเป็นกระจุก

การแพร่ระบาด : โรคจะเริ่มระบาดต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมไปจนสิ้นฤดูฝน สภาพอุณหภูมิที่เหมาะแก่เชื้อโรคคือ 20-26 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง โดยการระบาดสามารถระบาดโดยตรงจากต้นข้าวโพด และยังสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในดิน หรืออาศัยอยู่ในพืชชนิดอื่น

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง หลีกเลี่ยงการปลูกก่อนฝนตกชุก กำจัดพืชอาศัย ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่เป็นโรค

  1. โรคราสนิม

เชื้อสาเหตุ : Puccinia sorghi (common rust), P. polysora (southern rust), Physopella zeae (tropical rust)

          อาการ : เกิดโรคได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด โดยแสดงอาการเป็นจุดนูนเล็ก ๆ ขนาดแผลประมาณ 0.2-2.0 มิลลิเมตร แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างใบ เมื่อเป็นโรคในระยะแรก ๆ จะพบเป็นจุดนูนเล็ก ต่อมาแผลจะแตกออกเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็ก ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย       

การแพร่ระบาด : ระบาดปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูง และมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น การแพร่ระบาดจะแพร่ออกไปจากแผลที่ใบ กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อปลิวไปตกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้เกิดโรคกับข้าวโพด

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทานโรค กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรคโดยการเผา ใช้สารเคมีไดฟิโนโคนาโซล 250 อีซี ในอัตรา 20 ซีซี หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2-4 ครั้ง

  1. โรคใบไหม้แผลเล็ก (Southern corn leaf bligt)

เชื้อสาเหตุ : Bipolaris maydis (Nisik) Shoemaker

อาการ : ระยะแรกเกิดจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบโดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบ ตรงกลางแผลมีสีเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาล ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงแผลจะขยายรวมตัวกันเป็นแผลใหญ่และทำให้ใบแห้งตาย ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมกันทุกใบ และจะแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูก แต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดกับใบล่างก่อน

การแพร่ระบาด : เชื้อโรคระบาดติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรค และโดยทางลมหรือฝน เข้าทำลายข้าวโพดแล้วสร้างสปอร์อีกจำนวนมากแพร่กระจายในแหล่งปลูก เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้หลายครั้งในแต่ละฤดูปลูก

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทาน และใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค หมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลาย จากนั้นพ่นด้วยสารไตรโฟรีน 20 อัตรา 60 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

  1. โรคใบไหม้แผลใหญ่ (Northern corn leaf blight)

เชื้อสาเหตุ : Helminthosporium turcicum Pass.

อาการ : เกิดโรคได้ทุกส่วนโดยเฉพาะบนใบ แผลมีขนาดใหญ่สีเทาหรือสีน้ำตาล มีลักษณะยาวตามใบ หัวท้ายเรียวคล้ายรูปกระสวย อาการจะเกิดกับใบล่างก่อน ใบที่มีอาการรุนแรงแผลจะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ทำให้ใบแห้งและตายในที่สุด

การแพร่ระบาด : เชื้อราจะสร้างสปอร์บนแผล และแพร่ไปโดยลม ฝน เมื่อมีความชื้นสปอร์จะงอกเข้าทำลายใบข้าวโพดและแสดงอาการของโรคในส่วนอื่นต่อไป เชื้อจะสร้างสปอร์จำนวนมากในสภาพความชื้นสูง และมีอุณหภูมิระหว่าง 18-27 องศาเซลเซียส

การป้องกันกำจัด : เช่นเดียวกับโรคใบไหม้แผลเล็ก

  1. โรคใบจุด (Leaf spot)

เชื้อสาเหตุ : Curvularia lunara (Wakker) Bord. Var. aeria

อาการ : อาการส่วนใหญ่แสดงให้เป็นบนใบ ระยะแรกเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดสีเขียวอ่อน ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้งมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลแดง ในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ และจะมีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

การแพร่ระบาด : แพร่ระบาดโดยทางลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทาน และใช้เมล็ดที่ปราศจากโรค ทำลายแหล่งพืชอาศัย เช่น หญ้าเดือย หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น

แมลงและศัตรูอื่น ๆของข้าวโพด

แมลงและศัตรูอื่น ๆ ที่ทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน ในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด

หนอนเจาะลำต้น (corn stem borer; Ostrinia furnacalis Guenee)

เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน หนอนเจาะกินภายในลำต้น ทำให้ต้นข้าวโพดหักล้มง่ายเมื่อถูกลมพัดแรง นอกจากนี้ยังกัดกินฝักด้วย พบการระบาดมากในไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดมานาน หรือในแหล่งที่มีการใช้สารฆ่าแมลงมาก เพราะจะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด : ในสภาพธรรมชาติมีแมลงที่คอยทำลายหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดให้มีปริมาณลดลง ได้แก่ แตนเบียน แมลงหางหนีบ แมลงช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ให้เลือกพันธุ์ที่ต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น และถ้ามีการระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลงกำจัด ได้แก่ triflumuron (Alsystin 25% WP) ในอัตรา 30 กรัม หรือ teflubenzuron (Z-Killer 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ chlorfluazuron (Atabron 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร เป็นต้น

หนอนกระทู้ข้าวโพด  (Corn armyworn; Mythimna separate Walker)

พบการเข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 20 วัน ไปจนกระทั่งข้าวโพดออกฝัก การระบาดมักรุนแรงในระยะที่ใบใกล้คลี่ และในระยะที่กำลังออกไหม โดยหนอนกัดกินใบ ถ้าระบาดรุนแรงจะเหลือที่ก้านใบ

การป้องกันกำจัด : ในสภาพธรรมชาติมีตัวเบียนที่คอยทำลายในระยะตัวหนอน คือ แมลงวันก้นขน แตนเบียน และแมลงหางหนีบ โดยทั่วไปหนอนกระทู้ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตมากนัก แต่ถ้าพบมีการระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลง carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 45 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนเจาะฝักข้าวโพด (Corn earworm; Helicoverpa armigera Hubner)

พบการกัดกินบริเวณช่อดอกตัวผู้และเส้นไหมที่ออกใหม่ เมื่อเส้นไหมที่ปลายฝักถูกกัดกินหมด หนอนจะเข้าไปกัดกินปลายฝักต่อไป ถ้ามีการระบาดในระยะที่ยังไม่ได้รับการผสมเกสรเต็มที่จะทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ถ้ามีการกัดกินในระยะที่ติดเมล็ดแล้ว ปลายฝักอาจถูกกัดกินบ้างได้ไม่กระทบต่อผลผลิต

การป้องกันกำจัด : แมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนไข่ แมลงวันก้นขน แตนเบียนหนอน และแมลงช้าง ในสภาพทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง โดยในระยะออกไหมควรหมั่นตรวจแปลงว่ามีหนอนระบากหรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะที่หนอนยังเล็กอยู่ สารฆ่าแมลงได้แก่ fipronil (Ascend 5% SC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ bifenthrin (Talstar 10%EC) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

มอดดิน (Ground weevil; Calomycterus sp.)

กัดกินใบและยอดอ่อนที่เพิ่งงอกจากเมล็ดข้าวโพด ทำให้ต้นกล้าเสียหายถึงตายได้ ต้นที่รอดจากการทำลายจะแตกแขนง ชะงักการเจริญเติบโต ฝักลีบเล็กหรือไม่ติดเมล็ด แมลงชนิดนี้จะทำลายข้าวโพดในระยะตัวเต็มวัยเท่านั้น

การป้องกันกำจัด : แมลงศัตรูธรรมชาติ คือ แมลงหางหนีบจะกัดกินไข่และหนอนของมอดดิน วิธีการป้องกันที่ดีคือใช้สารฆ่าแมลงชนิดคลุกเมล็ดก่อนปลูก ได้แก่ imidacloprid (Guacho 70% WS) อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ carbosulfan (Posse 25 ST) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม