KUML 4 : ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ของ ม.เกษตร

ถั่วเขียวผิวมันเป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่วที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดปี คือ ฤดูแล้งหลังการทำนาปี ต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝนหลังเก็บเกี่ยวพืชไร่หลัก ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ใช้ในระบบปลูกพืชหมุนเวียน ช่วยบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากมีระบบรากที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง ผลผลิตเมล็ดถั่วเขียว ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อาทิ วุ้นเส้น ซ่าหริ่ม ถั่วซีก และแป้งถั่วเขียว

 รวมทั้งใช้บริโภคโดยตรงในรูปของถั่วเขียวต้มน้ำตาล เพาะเป็นถั่วงอก ใช้ทำขนมลูกชุบ เม็ดขนุน เต้าส่วน ถั่วกวน ฯลฯ พื้นที่ปลูกถั่วเขียวในประเทศไทยมีประมาณ 800,000 ไร่ โดยเกษตรกรนิยมปลูกถั่วเขียวในฤดูแล้งหลังการทำนาปี เนื่องจากใช้น้ำน้อย และมีอายุสั้นเพียงประมาณ 70 วัน  การปลูกถั่วเขียวใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวถึง 6-7 เท่า ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการปลูกข้าว  ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ถั่วเขียวในรูปของวุ้นเส้น และแป้งถั่วเขียวที่สำคัญของโลก

ความสำเร็จของการปลูกถั่วเขียวของประเทศไทยนั้น เกิดจากการใช้ถั่วเขียวพันธุ์ดี  ซึ่งภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  ได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว มายาวนานกว่า 35 ปีแล้ว โดยพันธุ์ถั่วเขียวกำแพงแสน2 เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียง และเกษตรกรนิยมปลูกมากว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พันธุ์ถั่วเขียวที่นิยมปลูกมาอย่างยาวนานมีปัญหาด้านการปรับตัว โดยในปัจจุบัน ผลผลิตเฉลี่ยถั่วเขียวของไทย มีค่าต่ำเพียง 117 กิโลกรัมต่อไร่

 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า  160 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ พบว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตถั่วเขียวของไทยต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ คือ ประเทศเหล่านี้มีพันธุ์ถั่วเขียวหลากหลายสายพันธุ์ให้เกษตรกรได้เลือกปลูกเป็นพันธุดีที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่   เมื่อสภาพแวดล้อมที่เพาะปลูกมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องมีการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียวใหม่ให้ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

ในปัจจุบัน ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  ได้พัฒนาถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตที่สูง จำนวน 4 สายพันธุ์ คือ KUML 2 KUML 3 KUML 4 และ KUML 5 โดยที่สายพันธุ์ใหม่ทั้ง 4 พันธุ์นี้ได้ผ่านการทดสอบผลผลิตในระดับสถานีวิจัยมาแล้วในหลายพื้นที่ และพบว่า สายพันธุ์ KUML 4 เป็นพันธุ์ที่มีผลผลิตและเสถียรภาพพันธุ์ ดีกว่าพันธุ์กำแพงแสน 2 และพันธุ์ชัยนาท 84-1 ซึ่งเป็นพันธุ์แนะนำที่เกษตรกรปลูกมากที่สุดอยู่ในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทยให้ความสนใจต้องการที่จะปลูกถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ KUML4 เพิ่มมากขึ้นแล้ว

ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML 4 เป็นสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาจากลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ VC 4152C กับ VC 1560A ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อแม่ที่คัดเลือกมาจากสายพันธุ์ถั่วเขียวของ Asian Regional Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเอเชีย (AVRDC) โดยคัดเลือกจากประชากร ชั่วที่ 2 ต้นที่ 12 แล้วปลูกแบบต้นต่อแถวอีกครั้ง และคัดเลือกต้นที่ 3 ของแถว นำไปปลูกแบบต้นต่อแถว ในชั่วต่อมา คัดเลือกต้นที่ 4 ไว้แล้วนำไปปลูกแบบต้นต่อแถวอีกครั้ง และพบว่า ไม่กระจายตัว จึงเก็บเมล็ดรวม และนำไปทดสอบผลผลิต

ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML 4 มีลำต้นสีเขียวฝักกลมยาว ปลายฝักแหลมโค้งงอ ฝักแก่มีสีน้ำตาลแก่ถึงสีดำ เมล็ดสีเขียวเข้ม สุกแก่เร็วและสม่ำเสมอ เฉลี่ยไม่เกิน 70 วัน ต้นสูงประมาณ 65 เซ็นติเมตร เมล็ดโต (1000เมล็ด หนักประมาณ 72 กรัม) ถั่วเขียวสายพันธุ์ KUML 4  มีขนาดเมล็ดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆที่นิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน

การปลูกทดสอบพันธุ์ในฤดูแล้งและฤดูฝน ในจังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ลพบุรี และพิษณุโลก พบว่า ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทั้งในฤดูแล้ง และฤดูฝน แต่เหมาะสำหรับฤดูแล้งมากกว่าฤดูฝน ให้ผลผลิตสูงในหลายสภาพแวดล้อม เสถียรภาพพันธุ์ดี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 230 กิโลกรัมต่อไร่ ในฤดูแล้งบางพื้นที่ให้ผลผลิตมากกว่า 300 กิโลกรัมต่อไร่ ทนทานต่อโรคใบจุด และราแป้งในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม พันธุ์นี้ไม่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดินด่าง

ด้วยผลจากการวิจัยและพัฒนาของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง เพื่อแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก นอกจากจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ยังเป็นการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อทำการเกษตรพืชอื่นๆอีกด้วย


ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—>  https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.ดร.ประกิจ สมท่า

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561
“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”
เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.ประกิจ สมท่า
ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th