เทคนิคกระตุ้นการผลัดขนในไก่แก่ใกล้ปลดระวางให้กลับมาเป็นไก่สาวใหม่

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเทคนิคการกระตุ้นการผลัดขนในไก่แก่ใกล้ปลดระวางให้กลับมาเป็นไก่สาวใหม่ เพื่อยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ของไก่ออกไปได้อีกประมาณ 5-6 เดือน เป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปใช้ในการจัดการฟาร์ม โดยได้ผลผลิตไข่หลังการผลัดขนที่มีคุณภาพไข่ขาวและคุณภาพเปลือกไข่ดีกว่าระยะก่อนการผลัดขน

 

การเลี้ียงไก่ไข่มีข้อจำกัดประการหนึ่ง คือหลังจากที่แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ติดต่อกันเป็นเวลานานประมาณ 1 ปี อัตราการให้ไข่จะลดลงจนถึงระดับที่ไม่คุ้มค่าการลงทุน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปลดไก่ออกจากฟาร์มจำหนายเป็นไก่แก่ปลดระวาง และต้องจัดซื้อลูกไก่หรือไก่สาวรุ่นใหม่มาเลี้ยงเป็นการทดแทน บางจังหวะอาจเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับสภาวะวิกฤตการขาดแคลนลูกไก่หรือเกิดโรคระบาด หรืออาจเป็นช่วงที่ราคาไข่ในท้องตลาดกำลังมีราคาสูงขึ้น ซึ่งป็นจังหวะที่กระทบกับกำไรที่เกษตรกรควรได้รับ

รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์ จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาการกระตุ้นให้ไก่ไข่ผลัดขน ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการฟาร์มที่ต่างประเทศนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมทำกันในประเทศไทย ข้อมูลการศึกษาวิจัยในประเทศจึงมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่ฟาร์มไก่ไข่ในต่างประเทศส่วนใหญ่มีการใช้เทคนิคการกระตุ้นการผลัดขนกับไก่แก่อายุใกล้ปลดระวางเพื่อยืดอายุการให้ผลผลิตไข่  การทดลองครั้งนี้จึงได้ทำการศึกษาโดยการนำไก่แก่อายุใกล้ปลดระวาง มาเข้าโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนให้กลับมาเป็นไก่สาวใหม่ (rejuvenation) เพื่อยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ จากงานวิจัยหลายปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาสูตรอาหารสำหรับไก่ผลัดขนหลายสูตร ซึ่งเป็นอาหารที่มีการปรับสมดุลของสารอาหารให้มีระดับพลังงานและโปรตีนต่ำ จนได้อาหารสูตรผลัดขนที่เหมาะสม  โดยพบว่ามันสำปะหลังบดสามารถกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการตายของสัตว์แต่อย่างใด

การทดลองใช้ไก่ไข่สายพันธุ์ลูกผสมทางการค้า อายุ 74 สัปดาห์ แบ่งเลี้ยงเป็นกลุ่มควบคุม ไม่กระตุ้นให้ผลัดขน และกลุ่มให้อาหารมันสำปะหลังบดสูตรต่างๆ โดยให้กินระยะสั้ันๆ 3 และ 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้มีระยะฟื้นตัวอีก 3 สัปดาห์ โดยให้อาหารสูตรระยะไก่สาว  ตลอดโปรแกรมผลัดขนให้ได้รับแสงวันละ 8 ชั่วโมง  เมื่อสิ้นสุดโปรแกรม ให้อาหารระยะไข่และได้รับแสงวันละ 16 ชั่วโมง  พบว่า ไก่ที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนหยุดไข่ในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากได้รับมันสำปะหลังบด  ไก่มีน้ำหนักตัวลดลง พบการฝ่อของรังไข่และท่อนำไข่ รวมทั้งการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสตราไดโอล และโพรเจสเตอโรนในกระแสเลือด  แต่โปรแกรมผลัดขนไม่มีผลกระทบต่ออัตราการตาย  

ในช่วงระยะหลังผลัดขน ไก่ไข่จากกลุ่มทดลองกลับมาให้ผลผลิตไข่ ในรอบใหม่คล้ายไก่สาวโดยมีอัตราการไข่สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ไข่ขาวมีคุณภาพดีขึ้ึน คุณภาพเปลือกไข่ น้ำหนักเปลือกไข่ ความหนาเปลือกไข่ ความแข็งของเปลือกไข่ โครงสร้างของเปลือกไข่ ความเป็นรูพรุนของเปลือกไข่ รวมทั้งอัตราการเลี้ยงรอดมีค่าสูงทุกกลุ่มทดลอง

เทคนิคการกระตุ้นให้ไก่ไข่ใกล้ปลดระวางเข้าโปรแกรมผลัดขนโดยใช้อาหารสูตรผลัดขน เป็นมันสำปะหลังบด นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ต้นทุนราคาถูก และไม่ขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าการให้มันสำปะหลังบด 4 สัปดาห์สามารถกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลต่อการปรับปรุงสมรรถภาพการให้ผลผลิตในระยะหลังผลัดขนด้วย

ผลการวิจัยที่ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยตรง สามารถนำไปใช้ในการจัดการฟาร์มเพื่อยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ของไก่ออกไปได้อีกประมาณ 5-6 เดือนโดยได้ผลผลิตไข่หลังการผลัดขนที่มีคุณภาพไข่ขาวและคุณภาพเปลือกไข่ดีกว่าระยะก่อนการผลัดขน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์ ที่มาข้อมูล :      โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

รศ.ดร.นิรัตน์ กองรัตนานันท์

ภาควิชาสัตวบาล

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th