มูลนิธิโครงการหลวง กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มาแห่งความภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวง 

 

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวนศาสตร์ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำบนภูเขาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ห้วยคอกม้า บริเวณสถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2506  ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2507 คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งชาติขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติให้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น เป็นประธานอนุกรรมการฝ่ายวิจัยการจัดการลุ่มน้ำแห่งชาติ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อให้เกิดงานวิจัยการเกษตรบนที่สูงของประเทศไทย

ในระหว่าง พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2508 ปัญหายาเสพติด การปลูกฝิ่น การเผาป่า การตัดไม้ทำลายป่า และการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา เป็นปัญหาที่หนักหน่วงอย่างมากในเขตพื้นที่สูงภาคเหนือของประเทศไทย รัฐบาลสมัยนั้น ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ และเป็นเหตุให้โครงการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำและโครงการวิจัยเกษตรที่สูง ตลอดจนสถานีวิจัยดอยปุยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เกิดขึ้นในสมัยนั้น

ในเวลาต่อมาคือในปี พ.ศ. 2508 คณะอนุกรรมการวิจัย ฯ ได้ตั้งโครงการวิจัยนำร่องขึ้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่ไน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดประสงค์สำคัญที่จะศึกษาหาทางป้องกันการพังทะลายของดิน และเพื่อศึกษาหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะหยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอยและการโค่นทำลายป่าของชาวเขา โดยให้มีการทำการเกษตรแบบถาวร คือการทำสวนผลไม้ในวิธีการกสิกรรมที่ถูกแบบแผน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้รับอนุมัติงบประมาณให้ทำการทดลองเรื่องไม้ผลสำหรับพื้นที่สูง โดยได้มอบหมายให้คณะเกษตรร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี และรองศาสตราจารย์ดร.อรรถ บุญนิธี เริ่มโครงการวิจัยไม้ผลเมืองหนาวที่สถานีวิจัยดอยปุย ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นพืชที่มีคุณสมบัติทดแทนไม้ป่าในแง่ของการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารได้ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการศึกษาไม้ผล” ในโครงการจัดการลุ่มน้ำห้วยแม่ไน จ.เชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มทดลองปลูกไม้ผลบนที่สูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 อย่างไรก็ตามไม้ผลส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะให้ผลผลิตได้ งานทดลองเรื่องการทำสวนผลไม้จึงต้องครอบคลุมไปถึงการปลูกพืชอายุสั้นที่จะทำให้เกิดรายได้โดยเร็วด้วย โดยหวังให้เกษตรกรชาวเขามีรายได้ที่จะใช้เลี้ยงชีพในระหว่างที่รอการให้ผลผลิตของสวนผลไม้ ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยเรื่องไม้ผลบนที่สูง จึงได้ขยายงานออกไปยังพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งการศึกษาวิจัยในเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องศัตรูพืช ฯลฯ อันเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ทำให้นักวิชาการทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันว่าการทำการเกษตรบนที่สูง หรือในสภาพภูเขานี้เป็นเรื่องแตกต่างไปจากการทำการเกษตรในพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าในระยะเริ่มต้นไม่มีใครทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใดบนดอย ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น สมควรที่จะแยกงานวิจัยเพื่อทดลองปลูกไม้ผลเขตหนาวในพื้นที่สูงให้เห็นเด่นชัดขึ้น ด้วยเหตุนี้ หน่วยงาน“งานเกษตรที่สูง” จึงเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9   ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านชาวเขาต่าง ๆ ได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของชาวเขา และในปี พ.ศ. 2512  เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านชาวเขาที่บ้านดอยปุย ทรงทราบว่า ราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้งยังพึ่งพารายได้จากการปลูกฝิ่นเป็นหลัก ซึ่งนอกจากฝิ่นแล้ว ชาวเขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม ก็ยังได้เงินเกือบเท่ากับขายฝิ่น และที่สถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งอยู่ใกล้กับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทรงทราบว่ามีการทดลองนำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้สำเร็จ จึงมีดำริให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับบ้านเรา โดยได้รับการสนับสนุนกิ่งพันธุ์ดีจากหลายประเทศมาเปลี่ยนยอดกับต้นตอพื้นเมือง เพื่อให้ได้ผลท้อที่ใหญ่ขึ้น มีรสชาติดี เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มแรกที่มาของการก่อตั้งโครงการหลวงในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตามทรงทราบว่าการดำเนินโครงการวิจัยที่สถานีวิจัยดอยปุยมีพื้นที่คับแคบ มีความไม่สะดวกและมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน “200,000 บาท (สองแสนบาท)” สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาบนที่สูง ด้วยการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้พัฒนาเป็นพื้นที่ในการวิจัยเพื่อทดลองหาพืชเมืองหนาวต่าง ๆ มาปลูกทดสอบบนดอย และทรงสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ อีกมากมายแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งต่อมาเรียกชื่อพื้นที่ดังกล่าวนี้ว่า “สวนสองแสน” นับเป็นสวนประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการตั้งสถานีวิจัยการเกษตรบนที่สูง คือเป็นแปลงทดลองแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงเห็นว่าการแก้ปัญหายาเสพติด ลดพื้นที่ปลูกฝิ่น หยุดปัญหาเขาหัวโล้น ต้องทำด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมชาวเขา ให้เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน จึงมีพระราชประสงค์ให้วิจัยหาพืชปลูกทดแทนฝิ่น และพืชนั้นๆ ต้องทำรายได้แก่ชาวเขาให้อยู่ได้ เมื่อทำได้สำเร็จชาวเขาก็จะไม่เร่ร่อนทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่เคยทำ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานที่ทางราชการทำอยู่นั้น อาจจะไม่ทันการ เพราะปัญหาต่าง ๆ รุมล้อมเข้ามาหลายด้าน จึงได้ทรงก่อตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้นในปีพ.ศ. 2512 โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ มีชื่อเรียกในระยะแรกว่า โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็น โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา โครงการหลวงภาคเหนือ โครงการหลวง และท้ายที่สุดได้จดทะเบียนโครงการหลวงเป็นมูลนิธิโครงการหลวงในปี พ.ศ. 2535 ตามลำดับ

ปัจจุบัน“สวนสองแสน” อยู่ในความดูแลของสถานีวิจัยดอยปุย สังกัดคณะเกษตร และถือเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพื้นที่ให้สนองพระราชดำริการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงด้วย

และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา โครงการหลวงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิจัย และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยมากมายหลายเรื่อง นับเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือในการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงจากอดีต สืบมาจนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่อดีต นอกจากประกอบด้วยภารกิจด้านต่าง ๆ คือ งานวิจัยด้านพืชทั้งไม้ผลเมืองหนาว พืชผัก  พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ งานวิจัยดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม . งานพัฒนาและส่งเสริม การถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ จนสามารถดำเนินงานเกิดผลผลิตขึ้นมาเป็นปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะแรกโครงการหลวงได้อาศัยเอกชนเป็นผู้จัดจำหน่าย แต่ในที่สุดได้พบว่าวิธีการนั้นไม่ค่อยจะได้ผล ดังนั้นในปี พ.ศ. 2526 โครงการหลวงจึงได้ขอความร่วมมือมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอใช้ที่ดินในบริเวณแปลง 1 ของภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร เพื่อก่อตั้งหน่วยตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงขึ้น ภายใต้การดูแลของงานเกษตรที่สูง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีอาจารย์จากภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร และคณะเศรษฐศาสตร์ ให้คำแนะนำในการดำเนินกิจกรรม และใน พ.ศ. 2528 ผลผลิตจากโครงการหลวงได้ออกสู่ตลาดวางจำหน่ายในที่ต่าง ๆ ทั้ง ซูปเปอร์มาเก็ต โรงแรม ร้านอาหาร และการออกร้านตามห้างสรรพสินค้า ภายใต้ชื่อ “ดอยคำ”ซึ่งเป็นตราสินค้าที่หมายถึง ดอยที่มีความเจริญและมีค่าเหมือนทองคำ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงหลังจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้มีส่วนเข้าไปร่วมดำเนินการวิจัยในเขตภาคเหนือ กับสถานีวิจัยหลักของมูลนิธิโครงการหลวงอีก 4 สถานี คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่  สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบัน ดร. ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้ประสานงานโครงการหลวง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ มูลนิธิโครงการหลวงในปัจจุบันอีกด้วย

นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในภารกิจของมูลนิธิโครงการหลวง ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขาบนพื้นที่สูงเพื่อความกินดีอยู่ดี นับแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์

ที่มาข้อมูล :      – ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ /

KURDI News Clips สวพ.มก.

– นิทรรศการบนเส้นทางงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                   – งานประชาสัมพันธ์ มก.

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่  :  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                             สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th