ห้องจำลองแผ่นดินไหว

ภัยพิบัติที่เกิดต่อเนื่องมาในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเกิดรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปีพ.ศ. 2557 นั้น ส่งผลกระทบกับประชาชนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไทยตื่นตัวในการรับมือกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวมากขึ้น

    

แผ่นดินไหวและรอยเลื่อน

รอยเลื่อนคือรอยแตกในหินที่แสดงการเลื่อน จัดแบ่งตามลักษณะการเลื่อนได้เป็น รอยเลื่อนปกติ รอยเลื่อนย้อน และรอยเลื่อนตามแนวระดับ โดยรอยเลื่อน 14 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ในย่างก้าวที่ประเทศไทยมุ่งพัฒนาเป็น  “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ดังนั้น ดร. ธิดารัตน์ จิระวัฒนาสมกุล และ รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ประดิษฐ์ห้องจำลองแผ่นดินไหวขึ้น นับเป็นก้าวแรกในการมุ่งเน้นในการพัฒนามนุษย์และสังคม และถือเป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินรองรับประเทศไทย 4.0 ด้วยการส่งเสริมและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ประชาชน ผ่านการเรียนรู้จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจำลองสถานการณ์ด้วยห้องทดลองแผ่นดินไหวที่ความรุนแรงระดับสูงสุดเท่ากับ 7 ตามมาตราเมอร์กัลลี นวัตกรรมห้องจำลองแผ่นดินไหวยังประดิษฐ์ได้ด้วยการใช้ภูมิปัญญาและวิทยาการที่สามารถคิดค้นขึ้นได้เองภายในท้องถิ่น ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ประชาชนจะได้รับจากการเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากภัยแผ่นดินไหว

 

 

ห้องจำลองแผ่นดินไหว นับเป็นการทดลองการเกิดแผ่นดินไหวด้วยห้องทดลองขนาด 1.90 เมตร x 3.00 เมตร  x 2.20 เมตรตั้งอยู่บนรถพ่วงสองเพลา โดยจำลองแบบการสั่นสะเทือนประสบการณ์ในระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวเท่ากับ 7 ตามมาตราเมอร์กัลลีซึ่งเป็นระดับความรุนแรงที่ผู้คนรู้สึกได้ และมีการเคลื่อนที่ของเครื่องเรือน สามารถทำการจำลองการสั่นได้สองแกน คือ แกนราบ และแกนดิ่ง ซึ่งเป็นการสั่นที่สมจริงสำหรับแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่  นอกจากนั้น ห้องจำลองแผ่นดินไหวยังสามารถเคลื่อนย้ายเพื่อการสาธิตหรือการจัดแสดงยังสถานที่ต่างๆได้โดยง่าย

การใช้ประโยชน์

ห้องจำลองแผ่นดินไหวนี้สามารถใช้จำลองสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยห้องทดลองมีขนาดใหญ่และสามารถจุคนได้ 5-10 คน โดยภายในห้องนี้มีการตกแต่งให้ภายในเหมือนห้องนั่งเล่นทั่วไป โดยมีการฝังยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้อง เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ทดสอบ ซึ่งห้องจำลองแผ่นดินไหวนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อปกป้องชีวิตและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนบุคคลด้วย

ห้องจำลองแผ่นดินไหวที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้จะช่วยในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องโดยใช้ภูมิปัญญาและวิทยาการที่สามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เองภายในท้องถิ่นด้วยงบประมาณ 300,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ประชาชนและชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากภัยแผ่นดินไหว

ห้องจำลองแผ่นดินไหว ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านมนุษย์และสังคม  ประเภทบุคลากรจูนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ดร.ธิดารัตน์ จิระวัฒนาสมกุล และ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

                             ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

                            คณะวิศวกรรมศาสตร์

                           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                            สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                          โทร. 02 561 1474

                          e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร.ธิดารัตน์ จิระวัฒนาสมกุล