KPSC 903 : ข้าวโพดสีม่วงแอนโทไซยานินสูงของ ม.เกษตร

ข้าวโพดสีม่วง จัดเป็นข้าวโพดแป้งที่มีแป้งชนิดอ่อน มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู ชาวอเมริกันอินเดียนที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา ใช้ข้าวโพดสีม่วงในการประกอบพิธีกรรม จึงมีราคาสูงกว่าข้าวโพดสีชนิดอื่น ส่วนชาวอเมริกันอินเดียนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกา ใช้ข้าวโพดสีม่วงเป็นอาหาร ต่อมาได้มีการนำข้าวโพดสีม่วงไปใช้เป็นอาหารในรัฐนิวเม็กซิโก และแพร่กระจายสู่เขตต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา ใช้ทำอาหารในภัตตาคารเม็กซิกัน เมล็ดข้าวโพดสีม่วงมีแป้งมากกว่าเมล็ดข้าวโพดสีเหลืองและข้าวโพดสีขาว มีปริมาณกรดอะมิโนไลซีนสูงกว่าข้าวโพดสีเหลืองหัวบุบ มีปริมาณโปรตีน และแร่ธาตุสูงกว่าข้าวโพดหัวบุบ และมีปริมาณแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ในอาหารที่มีประโยชน์ ข้าวโพดสีม่วงจึงเป็นแหล่งของสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่สำคัญยิ่ง มีความได้เปรียบทางคุณค่าทางอาหารและมีเสน่ห์ที่ดึงดูดของสีม่วง รวมทั้งมีรสชาติที่แตกต่าง

 

แอนโทไซยานิน(Anthocyanins) เป็นสารประกอบฟีนอล เป็นเม็ดสีที่อยู่ในเนื้อเยื่อพืช แอนโทไซยานินทำให้เกิดสีในพืชหรือผลิตภัณฑ์ของพืชที่มีเม็ดสีนี้ แอนโทไซยานินในใบพืชทำหน้าที่ป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเลต มนุษย์ได้นำแอนโทไซยานินมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จึงมีการจดสิทธิบัตรของกรรมวิธีการเตรียมและการประยุกต์ใช้แอนโทไซยานินในประเทศญี่ปุ่น และมีการนำมาใช้เป็นอาหารสีธรรมชาติ รวมทั้งมีศักยภาพสูงสำหรับเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางยา และประยุกต์เป็นยารักษาโรคด้วย

จากผลการสำรวจของ Euromonitor พบว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปี และคาดว่าในปี 2560 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดได้แก่ จีน บราซิล และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ โดยมูลค่าตลาดอาหารสุขภาพของไทยจะอยู่ที่อันดับ 19 ของโลก ตลาดอาหารสุขภาพในเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงตลาดไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามข้าวโพดสีม่วงจากต่างประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ดังนั้นในปี พ.ศ.2534 โครงการปรับปรุงพันธ์ข้าวโพดสีม่วง  นำโดย ดร. โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ดร.สรรเสริญ จำปาทอง ชไมพร เอกทัศนาวรรณ  นพพงศ์ จุลจอหอ และฉัตรพงศ์ บาลลา จากศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงเปรู มาผสมกับพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดีเด่น พันธุ์ Suwan 3(S)C4 (ME)C1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสายพันธุ์แท้ KS 23-F5S5-705-1 และมีการผสมกลับ 1 ครั้งในชั่ว F2 ในแต่ละกลุ่ม โดยใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพ่อ การพัฒนาสายพันธุ์แท้ใช้วิธีการคัดเลือกแบบฝักต่อแถว นำสายพันธุ์แท้ผสมแบบข้ามกลุ่ม 5×6 factorial crosses ทดสอบพันธุ์ลูกผสมที่ได้ในปี พ.ศ. 2538 และคัดเลือกข้าวโพดสีม่วงลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง ทดสอบรวม 6 การทดลอง ในช่วงปีพ.ศ. 2538-2546 การวิจัยทำที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ จากนั้น นำพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงลูกผสมที่ดีเด่น จำนวน 14 พันธุ์ มาทดสอบผลผลิตเมล็ดและซัง ลักษณะทางการเกษตร และปริมาณสารแอนโทไซยานิน ในปลายฤดูฝนพ.ศ. 2553

ที่มาของข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูง

ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูงที่ดีเด่นพันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903 ได้มาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แม่ KPei 34002 และ KPei 34004 ผสมกับสายพันธุ์แท้ KPei 34010 ตามลำดับ

ลักษณะเด่นของข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูง

ผลการทดสอบผลผลิตในไร่กสิกรในเขตพื้นที่จังหวัด นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา สระบุรี และฉะเชิงเทรา  จำนวน 18 แห่ง ในฤดูฝน ปีพ.ศ. 2555 พบว่า พันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 652 และ 675 กก./ไร่ ต่ำกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์สุวรรณ 4452 (พันธุ์เปรียบเทียบ 932กก./ไร่) 30.0 และ 27.6 % ตามลำดับ (P< 1.01) และในปีพ.ศ. 2556 พบว่า พันธุ์ KPSC 901 และKPSC 903 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 880 และ943 กก./ไร่ ต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 4452 (1,224 กก./ไร่) 28.1 และ23.0 % ตามลำดับ(P<0.01) พันธุ์KPSC 903 ให้ผลผลิตเฉลี่ย  943 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ KPSC 901 (880กก./ไร่) ร้อยละ 5 และการผลิตเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ KPSC 903 ให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 258 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ KPSC 901(120 กก./ไร่) ร้อยละ 15 โดยเฉพาะปริมาณสารแอนโทไซยานินในเมล็ดและซัง พันธุ์ KPSC 903 ให้ปริมาณ 27.360 และ 53.733 มก./กรัม สูงกว่าพันธุ์ KPSC 901 ซึ่งให้ปริมาณ 19.832 และ34.006 มก./กรัม ร้อยละ 38.0 (ไม่แตกต่างทางสถิติที่ P= 0.05) และ 58.0 (แตกต่างทางสถิติที่ P= 0.05) ตามลำดับ

 

ข้าวโพดพันธุ์ KPSC 903 มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกข้าวโพดต่างๆ ให้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่สูง และให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงสำหรับการผลิตเพื่อเป็นการค้าได้ 

การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน  SMEs โรงงานแปรรูป นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้ได้รับความรู้และเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูง เพื่อสร้างเศรษฐกิจและการตลาดอาหารสุขภาพ เพื่อสร้างภูมิต้านทาน และลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ   การนำไปใช้ประโยชน์โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมแปรรูปใช้ในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวโพดทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคาดว่ามีขนาดของผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท

ข้าวโพดสีม่วงลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูง ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประเภทบุคลากรซีเนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  :    ดร. โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ดร.สรรเสริญ จำปาทอง ชไมพร เอกทัศนาวรรณ  นพพงศ์ จุลจอหอ และฉัตรพงศ์ บาลลา

                                  ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ

                                  คณะเกษตร

                                  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่        :      ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                                   สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                                  โทร. 02 561 1474

                                   e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร. โชคชัย เอกทัศนาวรรณ