EMARBLE นวัตกรรมวัสดุหินเทียมจากเปลือกไข่เหลือทิ้ง

ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไข่ไก่ปีละกว่า 15,000 ล้านฟองต่อปี รองรับการบริโภคทั้งในรูปไข่ไก่สด และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆที่ใช้ไข่ไก่เป็นวัตถุดิบ เปลือกไข่คิดเป็น 11 % ของน้ำหนักรวมของไข่สดซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 50 กรัมต่อฟอง ปริมาณเปลือกไข่เหลือทิ้งจึงอาจมีมากถึง  650 ล้านกิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันมักนำเปลือกไข่เหลือทิ้งเหล่านี้ไปใช้เป็นส่วนผสมการทำปุ๋ยและอาหารสัตว์  แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเหลือทิ้งในทุกๆวัน

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต  หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมวิจัย จึงได้ร่วมกันค้นคว้าวิจัยการนำขยะใกล้ตัวเช่นเปลือกไข่เหลือทิ้งมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยการผสมผสานแนวคิดทั้งศาสตร์และศิลป์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดเป็น “ EMARBLE ”  นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างจากเปลือกไข่เหลือทิ้ง ผลงานจากความร่วมมือของนักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์(Art and Science) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ สำหรับอาคารบ้านเรือน สำนักงาน ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล

ผลงานนวัตกรรมวัสดุหินเทียม“ EMARBLE ”  ผลิตจากเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปไข่เหลว โดยใช้เปลือกไข่ไก่ประมาณ 1600 ฟองต่อ 1 ตารางเมตร (9 กิโลกรัม) เนื่องจากเปลือกไข่มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนต ถึง 95 %  ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตสามารถใช้เป็น filler ในกลุ่ม polymer ได้เป็นอย่างดี  จึงเป็นแนวทางในการนำเปลือกไข่มาผสมผสานเพื่อผลิตเป็นหินเทียมคุณภาพสูงตามมาตรฐานอุตสาหกรรม  แข็งแรงทนทาน ปรับสีได้หลากหลาย สามารถใช้เครื่องมือช่างทั่วไปในการตัดและประกอบชิ้นงาน สามารถขึ้นรูปเป็นชิ้นงานได้ตามต้องการ สามารถทำเป็นวัสดุก่อสร้าง  เช่น  วัสดุกรุผนัง กระเบื้อง โมเสค และหินสังเคราะห์รูปทรงต่างๆสำหรับงานภายในอาคาร

วัสดุหินเทียม“ EMARBLE ” เป็นนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ยังไม่เคยมีการพัฒนาหินเทียมจากเปลือกไข่เพื่องานก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นขยะเหลือทิ้งที่ที่เกิดกลิ่นเหม็นอย่างรวดเร็ว เยื่อบางในเปลือกไข่ทำให้ยากต่อการปรับขนาดซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาวัสดุคอมโพสิท กระบวนการผลิตที่ต้องใช้เปลือกไข่จำนวนมาก สามารถช่วยลดปริมาณขยะ เพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้ง

ทีมวิจัยได้นำวัสดุหินเทียม“ EMARBLE” มาขึ้นรูปเป็นที่นั่งรูปไข่ ขนาดมาตรฐาน 42 เซ้นติเมตร โดยที่ไม่ใช้โครงสร้างอื่นใดนอกจากตัววัสดุเองเพื่อแสดงศักยภาพความแข็งแรงของวัสดุ   โดยนำเปลือกไข่เหลือทิ้งมาตากแดด 3 ชั่วโมง ก่อนการอบเพื่อลดการใช้พลังงานและดับกลิ่น นำมาบดหยาบเพื่อให้ได้ texture ของเปลือกไข่ นำมาหล่อเป็นแผ่นและขัดให้เรียบ ทั้งนี้ผิวเก้าอี้จะมีความเป็นธรรมชาติ วัสดุมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน สามารถซ่อมแซมได้ ดูดซึมน้ำน้อย สามารถทำได้หลากหลายสีตามต้องการ

นวัตกรรมวัสดุหินเทียมจากเปลือกไข่เหลือทิ้ง และที่นั่งรูปไข่ทำจากวัสดุหินเทียม “EMARBLE” ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ประเภทบุคลากรซีเนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

                            ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

                            ภาควิชานวัตกรรมอาคาร

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

                            มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                            สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                           โทร. 02 561 1474

                            e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต