ถ่านอัดแท่งอนามัย

พลังงานเชื้อเพลิง “ถ่าน” นับเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในครัวเรือนเพื่อประกอบอาหารประเภทปิ้ง ย่าง ฯลฯ ในอดีตเราจะคุ้นเคยกับถ่านไม้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการผลิตถ่านอัดแท่งโดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ผักตบชวา มาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งเรียกว่า “เชื้อเพลิงเขียว” และถ่านจากแกลบ รวมทั้งการนำถ่านไม้มาอัดแท่งเพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านการให้ความร้อนที่สูงและสม่ำเสมอมากขึ้น การส่งเสริมใช้ถ่านไม้จากวัสดุเศษเหลือการเกษตร นอกจากจะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว การผลิตถ่านที่มีคุณภาพยังจะช่วยให้อาหารปิ้งย่างมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ ในกระบวนการเผาถ่านนอกจากได้ถ่านแล้ว ยังมีน้ำส้มควันไม้เป็นผลพลอยได้ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอีกด้วย

ถ่าน คือ ไม้หรือฟืนที่ผ่านกระบวนการไล่ความชื้นในเนื้อไม้ออกไป ถ่านไม้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิง ให้ความร้อน หรือใช้งานในด้านอื่นๆ แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของไม้ เนื่องจากความหนาแน่นและองค์ประกอบทางเคมีของไม้มีความแตกต่างกัน อาทิเช่น ไม้ที่มีความหนาแน่นมาก เมื่อเป็นถ่านจะให้พลังงานความร้อนที่สูงและอยู่ได้นานกว่าถ่านที่มีความหนาแน่นน้อย นอกจากนี้ถ่านยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย

ประเภทของถ่าน ลักษณะทั่วไป ความชื้น ค่าความร้อน เถ้า สารระเหย การใช้งาน
ถ่านไม้หุงต้ม ต้องมีสีดำเสมอ ไม่มีเศษดิน และไม้เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ปนอยู่ ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก ไม่น้อยกว่า 6,000 แคลอรีต่อกรัม ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก ต้องไม่เกินร้อยละ 25โดยน้ำหนัก เมื่อติดไฟต้องไม่มีสะเก็ดไฟกระเด็น มีควันได้เล็กน้อย
ถ่านไม้ปิ้งย่าง ต้องมีสีดำเสมอ ไม่มีเศษดิน และไม้เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ปนอยู่ ต้องไม่เกินร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก ไม่น้อยกว่า 7,000 แคลอรีต่อกรัม ต้องไม่เกินร้อยละ 3 โดยน้ำหนัก ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก เมื่อติดไฟต้องไม่มีสะเก็ดไฟกระเด็น มีควันได้เล็กน้อย
ถ่านไม้อัดแท่ง ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องมีรูปทรงเดียวกัน ต้องมีสีดำเสมอ อาจแตกหรือหักได้บ้าง ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก ไม่น้อยกว่า 5,000 แคลอรีต่อกรัม เมื่อติดไฟต้องไม่มีสะเก็ดไฟกระเด็น ไม่มีควันและกลิ่น

ถ่านอัดแท่ง คือถ่านไม้ที่ได้มาจากกระบวนการผลิตถ่านที่มีอุณหภูมิประมาณ 500 – 700 องศาเซลเซียส เพื่อไล่น้ำมันดินให้ออกไปจากถ่าน (ปกติกระบวนการเปลี่ยนไม้เป็นถ่านจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส แต่ยังมีปริมาณคาร์บอนเสถียรต่ำและมีน้ำมันดินเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่สูงมาก) ทำให้ถ่านมีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น ทำให้ถ่านไม้มีความบริสุทธิ์ ปราศจากสารก่อมะเร็ง และเมื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารก็ไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งย่าง อีกทั้งยังผ่านกระบวนการบดและอัดให้เป็นก้อน ทำให้ถ่านที่ได้มีความหนาแน่นสม่ำเสมอ เมื่อติดไฟจะทำให้มีความร้อนสม่ำเสมอ ควบคุมความร้อนง่าย ไฟไม่แตกประทุ และมีควันน้อย

คุณสมบัติของถ่านอัดแท่งอนามัย เป็นถ่านที่ให้ค่าความร้อนสูง ให้ความร้อนสม่ำเสมอ สะอาด เพราะมีปริมาณคาร์บอนเสถียรสูง สารระเหยต่ำ ควันน้อย ขี้เถ้าน้อย  อาหารที่ปิ้งย่างมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ประหยัดและสะดวก เพราะมีความหนาแน่นสูง ติดไฟนาน

ขั้นตอนการผลิตถ่านอัดแท่งประกอบไปด้วย การบดถ่านโดยนำถ่านที่เผาได้มาบดเป็นผง หลังจากนั้นทำการผสมถ่านโดยใช้ผงถ่าน  แป้งมัน และน้ำ  และนำผงถ่านที่ได้ผสมเรียบร้อยแล้วเข้าเครื่องอัดแท่ง หลังจากนั้นนำถ่านอัดแท่งที่ได้ผึ่งแดดให้แห้ง หรือนำไปอบที่อุณหภูมิ 80-100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 48 ชม.

ข้อดีของถ่านอัดแท่ง คือ สามารถนำวัสดุต่าง ๆ ที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตถ่านได้ ไม่ว่าจะเป็น กะลามะพร้าว กะลาปาล์ม ซังข้าวโพด แกลบ ใบไม้ ขี้เลื่อยชานอ้อย และเศษไม้ปลายไม้ ฯลฯ   สามารถกำหนดความแน่นของถ่านได้ตามต้องการ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เนื่องจากถ่านมีรูปร่างและขนาดเหมือนกันทุกก้อน  และสามารถกำหนดค่าความร้อนและอายุการใช้งานของถ่านอัดแท่งได้ โดยการนำวัสดุต่าง ๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ค่าความร้อนที่ต้องการ

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ที่มาข้อมูล :  นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

                ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

ข้อมูลโดย                นายอนุชา ทะรา

                                 สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด

                                 คณะวนศาสตร์ 

                                 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่โดย      ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                                สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                                โทร. 02 561 1474

                                e-mail : rdiwan@ku.ac.th

นายอนุุชา ทะรา