มหัศจรรย์สารสกัดโปรตีนจากเมือกหอยทาก

หอยทาก เป็นศัตรูพืชของเกษตรกรซึ่งสามารถทำความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร   สัตว์กลุ่มนี้มีการสัมผัสกับผิวดินตลอดเวลา จึงทำให้ต้องมีการผลิตเมือกเพื่อต้านทานต่อเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ตัวหอยทาก เมือกหอยทากจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของหอยทากบก ทั้งในการเคลื่อนที่ และป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นของผิวตัว และยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์อีกด้วย

ปัจจุบันมีการนำเมือกหอยทากมาใช้ในทางการแพทย์และเวชสำอางเป็นจำนวนมาก และด้วยคุณสมบัติที่เมือกหอยทากสามารถต้านทานต่อเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ตัวหอยทาก ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้  ดร.ปราโมทย์ ชำนาญปืน อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีแนวคิดในการศึกษาผลของโปรตีนจากเมือกหอยทากยักษ์แอฟริกัน หรือ giant African snail (Achatina fulica) ต่อการเหนี่ยวนำการตายของเซลล์มะเร็งเต้านมเพาะเลี้ยง โดยได้ทำการศึกษาลักษณะโครงสร้างและชนิดของต่อมเมือกรวมไปถึงอายุของหอยที่มีผลต่อการสร้างเมือก องค์ประกอบโปรตีนของเมือก 

1

                           ต่อมเมือกและองค์ประกอบโปรตีนของเมือกหอยทาก

2

                      การชักนำการตายของเซลล์มะเร็งเต้านมที่ทำการเพาะเลี้ยง

จากการศึกษาในหอยทากยักษ์แอฟริกันที่มีอายุ 1 เดือน พบว่า ทั้งบริเวณส่วนบนและส่วนล่างของเท้าจะมีต่อมเมือกที่เรียงชิดกันแน่น เมื่อหอยทากยักษ์แอฟริกันมีอายุครบ 2 เดือน ในบริเวณส่วนบนของเท้าต่อมเมือกจะเริ่มแยกตัวออกจากกัน  แต่ในบริเวณส่วนล่างขอเท้าต่อมเมือกยังคงเรียงตัวชิดกัน แต่เมื่อหอยทากยักษ์แอฟริกันมีอายุครบ 3 เดือน ในบริเวณส่วนบนของเท้าจะมีต่อมเมือกที่มีขนาดใหญ่และเรียงชิดกันส่วนในบริเวณส่วนล่างของเท้าต่อมเมือกยังคงเรียงตัวชิดกันเช่นเดิม อวัยวะที่พบองค์ประกอบที่เป็น acid mucopolysaccharide ในหอยทากยักษ์แอฟริกันได้แก่ ท่อทางเดินอาหาร columella muscle และบริเวณเท้า ส่วนอวัยวะภายในที่พบการสร้างเมือกชนิดที่เป็น neutral mucopolysaccharide ได้แก่ กระเพาะอาหาร digestive gland และ columella muscle

เมื่อทำการสกัดแยกสารจากเมือกหอยทาก และทำให้โปรตีนที่แยกได้มีความบริสุทธิ์ แล้วทำการระเหิดแห้งแบบแช่แข็ง นำมาทดสอบฤทธิ์ของโปรตีนในเมือกหอยทากที่มีผลต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมเพาะเลี้ยง พบว่าสารสกัดจากเมือกหอยทาก มีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำการตายของเซลล์มะเร็งเต้านมโดยอัตราการรอดชีวิตของเซลล์มีค่าต่ำที่สุด ภายหลังจากการได้รับสารเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกลุ่มความคุม โดยที่ระดับความเข้มข้น 1,000 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อต้านมะเร็งเต้านม 

ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าโปรตีนจากเมือกหอยทากยักษ์แอฟริกัน มีประสิทธิภาพในการชักนำการตายของเซลล์มะเร็งเต้านมเพาะเลี้ยง  สามารถเป็นฐานข้อมูลสำหรับการใช้สารจากธรรมชาติเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม และเพื่อลดการรักษาด้วยวิธีซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาต่อไปในอนาคต และเป็นการใช้ประโยชน์จากหอยทากศัตรูพืชอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างและระบุชนิดของโปรตีนอย่างละเอียดเพื่อศักยภาพการพัฒนาต่อยอดเป็นเภสัชภัณฑ์ต่อไป

Pramote ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ดร.ปราโมทย์ ชำนาญปืน

ภาควิชาสัตววิทยา

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.thดร.ปราโมทย์ ชำนาญปืน