มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวไทย คุณค่าก้าวไกลจากวิถีไทยสู่วิถีโลก (7) ข้าวหอมมะลิ ๘๐: พันธุ์ข้าวหอมขาวดอกมะลิทนน้ำท่วม

       7.27.3

        จากต้นกำเนิดข้าวหอมมะลิ(Thai Jasminerice) ซึ่งมีชื่อทางการว่า Thai Hom Mali  เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะเด่นที่มีกลิ่นหอมแบบดอกมะลิหรือคล้ายกลิ่นใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่กล่าวกันว่าปลูกที่ไหนในโลกก็ไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับปลูกในประเทศไทยและต้องเป็นพื้นที่ภาคอีสานด้วย ที่สำคัญเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นนำชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

          ข้าวหอมมะลิ ๘๐ เป็นข้าวเจ้าหอมขาวดอกมะลิทนน้ำท่วมพัฒนาได้จากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่มีการเพิ่มเติมลักษณะความทนน้ำท่วมฉับพลันโดยคุณภาพหุงต้มไม่เปลี่ยนแปลง  เป็นข้าวที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์โดยใช้ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ กรมการข้าวเป็นพันธุ์แม่ และใช้พันธุ์ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ FR13A ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองจากอินเดีย พันธุ์ IR49830-7-1-2-2และIR67819-CA-61จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ(IRRI) เป็นพันธุ์พ่อ ทำการปรับปรุงพันธุ์ ผ่านการบรูณาการวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเน้นการใช้เทคนิคโมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอในการคัดเลือก (DNA Marker Assisted Selection) ร่วมกับวิธีปรับปรุงพันธุ์แบบผสมกลับ (Backcrossing) เพื่อถ่ายทอดยีนที่ทนน้ำท่วมบนโครโมโซมที่ 9 เข้าสู่ข้าวขาวดอกมะลิ 105 วิธีการดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกและย่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ลง ผลจากการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพดังกล่าว ทำให้ได้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่มียีนทนน้ำท่วมฉับพลันเพิ่มเติมเข้ามา โดยยังคงลักษณะคุณภาพการหุงต้มและความอร่อยของข้าวขาวดอกมะลิไว้

 7.1มะลิ80

 การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 80

                 ทีมวิจัยนำโดยรศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ กรมการข้าว ได้ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๘๐ จากการปรับปรุงพันธุ์แบบผสมกลับร่วมกับการคัดเลือกด้วยดีเอ็นเอเครื่องหมาย ของยีนควบคุมความทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน จากนั้นนำสายพันธุ์ที่ได้ไปทดสอบความทนทานต่อน้ำท่วมในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาในจังหวัดต่างๆ พร้อมกับทำการประเมินการยอมรับของเกษตรกรที่เคยปลูกขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ดั้งเดิมในปี พ.ศ. 2550   ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายสายพันธุ์หอมมะลิ 80 นี้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงประทานช่วยเหลือหรือเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน

 ลักษณะประจำพันธุ์

– ทนน้ำท่วมแบบฉับพลันในทุกระยะการเจริญเติบโต

– ข้าวเจ้าหอม ความสูงประมาณ        155 เซนติเมตร

– พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะนาปี

– ลำต้นสีเขียวจาง ใบสีเขียวยาวค่อนข้างแคบ ฟางอ่อน

– ใบธงทำมุมกับคอรวง เมล็ดข้าวรูปร่างเรียวยาว

– อายุเก็บเกี่ยว ประมาณช่วงวันที่   26 – 30 พฤศจิกายน ของทุกปี

– จำนวนรวงต่อกอประมาณ 10 – 12รวง(นาดำ)          .

– เมล็ดข้าวกล้อง กว้าง x ยาว x หนา = 2.1 x 7.2 x 1.7 มิลลิเมตร

– การเกิดท้องไข่ประมาณ            0.8

– ข้าวเปลือกสีฟางคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

 

คุณสมบัติทางโภชนาการในข้าวกล้อง

–  ปริมาณอะไมโลส                  14-15%

– ระดับค่าการสลายตัวในด่าง       (1.7% KOH)

   ประมาณ 7 % เหมือนข้าวขาวดอกมะลิ 105

– ค่าการยืดตัวของแป้งสุกประมาณ 70 – 95 มิลลิเมตร

  ใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีค่า 70 – 85 ม.ม.

– คุณภาพข้าวสุก ความนุ่ม และกลิ่นหอม คล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ105

– เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวประมาณ 63% ใกล้เคียงพันธุ์ขาวดอกมะลิ105

ผู้พัฒนาพันธุ์ : รศ.ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร, ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา, ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง, ดร.วนิตชาญ รื่นใจชน ดร.สมหมาย อมรศิลป์ มีชัย เชียงหลิว วินธัย กมลสุขยืนยง สมเด็จ อิ่มมาก กาญจน ปัญญาแวว โจนาลิซา แอล เซี่ยวหลิว จุฑารัตน์ จันทรบูรณ์ อาสาหะ พัฒนาธาดา

หน่วยงาน : ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม

ที่มาข้อมูล :  เกษตรนวัตกรรม รวบรวมผลงานวิจัยนวัตกรรมทางการค้นตว้าวิจัยในวาระครบรอบ 72 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์