นวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จากหางน้ำยางพารา

      น้ำทิ้งและหางน้ำยางจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้น จะมีเศษยางหรือปริมาณเนื้อยางหลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่มักนำมาใช้ทำยางสกิม ด้วยการเติมกรดซัลฟิวริกเข้มข้นลงไปให้เนื้อยางแยกออกจากน้ำยาง เอาเศษยางมาอัดก้อน  เป็นยางคุณภาพต่ำ ราคาถูก ส่วนใหญ่นำไปใช้สำหรับงานที่ไม่ต้องการคุณสมบัติทนทานมากนัก นอกจากนั้นน้ำที่เหลือจากการผลิตยางสกิม จะมีสารปนเปื้อนของซัลเฟตสูง เกิดก๊าซไข่เน่าส่งกลิ่นเหม็น เป็นปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา

1   2

 ก)  น้ำยางสกิมผสมกับออร์กาโนเคลย์

 ข) ตะกอนออร์กาโนเคลย์ชนิด Cloisite30B หลังอบที่ 70ºC เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

3

                                      ชิ้นงานทดสอบ

      ผศ.ดร.ธาริณี นามพิชญ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาทางเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าน้ำทิ้งและหางน้ำยาง ด้วยการใช้แร่ดินเหนียวออร์กาโนเคลย์  เป็นตัวจับเนื้อยางออกจากหางน้ำยางและยังเป็นการบำบัดน้ำทิ้งทางอ้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องใช้กรดซัลฟิวริก ไม่มีซัลเฟตปนเปื้อนในน้ำทิ้ง และพบว่าการใช้นาโนเคลย์ ที่ถูกดัดแปรให้มีลักษณะชอบอินทรีย์ที่เรียกว่า ออร์กาโนเคลย์ (Organoclay) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถจับเนื้อยางแยกออกจากหางน้ำยางแล้วตกตะกอนได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือแต่น้ำใส พร้อมทั้งสามารถลดค่า BOD, COD ลงได้ด้วย  จากกระบวนการดังกล่าวจะได้ยางนาโนคอมโพสิท ซึ่งงานวิจัยได้ต่อยอดนำไปขึ้นรูปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยางรองแท่นตัดถุงพลาสติก โดยมีการใช้เส้นใยชานอ้อยเป็นสารตัวเติมทางเลือกทำหน้าที่เป็นสารเสริมแรง ระหว่างหางน้ำยางและแร่ดินเหนียวในผลิตภัณฑ์ โดยทดสอบการเติมเส้นใยชานอ้อยในระดับต่างๆ ทดสอบคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ด้านการคงรูป ความหนืด ความแข็ง ความทนทานต่อการขัดสี และความทนทานต่อแรงดึงยืด  ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ยางที่มีการเติมเส้นใยชานอ้อย จะมีค่าความแข็งมากขึ้น อีกทั้งถ้ามีการเติมปริมาณเส้นใยชานอ้อยมากขึ้น จะทำให้ เวลาที่ใช้ในการทำให้ยางคงรูปลดน้อยลงเนื่องจากเส้นใยชานอ้อยจะส่งเสริมการเกิดปฏิกริยา Curing โดยดูได้จากค่าสมบัติการคงรูป ของยาง แต่การเพิ่มเส้นใยจะไปลดความทนทานต่อแรงดึงยืดจนขาด  เนื่องจากการกระจายตัว ของเส้นใยชานอ้อยต่ำ มีการรวมตัวของเส้นใยชานอ้อยส่งผลให้ค่าความหนืดเพิ่มขึ้นจากการเกิด high interaction และการเกิด formation ของ network structure ระหว่างแร่ดินเหนียว เส้นใยชานอ้อย และยาง

 การประยุกต์ใช้ออร์กาโนเคลย์ในการบำบัดน้ำทิ้งโรงงานยาง เป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังได้ผลพลอยได้ที่สามารถพัฒนาเป็นยางนาโนคอมโพสิทผสมเส้นใยชานอ้อย เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางแบบใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราไปสู่การใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ธาริณ๊

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร. ธาริณี นามพิชญ์

ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ

คณะอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรียบเรียง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

  ผศ.ดร. ธาริณี นามพิชญ์