ชุดตรวจสอบสารพิษเชื้อราแบบรวดเร็ว

ชุดตรวจสอบ1 ชุดตรวจสอบ2

  การปนเปื้อนเชื้อราในผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มธัญพืชและสินค้าแปรรูปจากธัญพืชต่างๆ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

   ซีราลีโนน (Zearalenone; ZEA) เป็นสารพิษที่สร้างจากเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium sp.) หลายสายพันธุ์  พบมากในข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันสำปะหลัง เมล็ดทานตะวัน และธัญพืชอื่นๆ เป็นสารพิษที่มีความคงทนต่อความร้อน และอาจตกค้างคงอยู่เป็นเวลานานๆ ในธัญพืชที่นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปเป็นอาหารของมนุษย์  รวมทั้งในอาหารสัตว์  การตรวจวิเคราะห์สารพิษนี้ที่ทำกันโดยทั่วไปจะใช้เทคนิคโครมาโตกราฟฟี ซึ่งต้องทำโดยผู้ชำนาญการเฉพาะทางและใช้เวลานาน

        ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.รัชนี ฮงประยูร  ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน ร่วมกับ ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร และนางสุวรรณา กลัดพันธุ์ นายธนภูมิ มณีบุญ จากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้เทคนิควิธีการทางอิมมูโนวิทยา มาพัฒนาเป็นชุดตรวจสอบสารพิษซีราลีโนนแบบรวดเร็ว ใช้งานง่ายโดยใครๆก็สามารถใช้ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะทาง สะดวกในการพกพาไปใช้งานตามสถานที่ต่างๆ รู้ผลวิเคราะห์อย่างรวดเร็วจึงประหยัดเวลา และสามารถตรวจคัดกรองตัวอย่างได้จำนวนมาก ทำให้การเฝ้าระวังและควบคุมการปนเปื้อนสารพิษเชื้อราดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ ชุดตรวจสอบสารพิษซีราลีโนนแบบรวดเร็วที่พัฒนาขึ้นมี 2 รุ่น คื่อ ชุดตรวจสอบ KU-ZEA 1 บอกปริมาณสารพิษซีราลีโนนในตัวอย่างในช่วงการวิเคราะห์ 40 – 1,000 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจ 35 นาที และชุดตรวจสอบ KU-SEA 2 สามารถบอกปริมาณสารพิษซีราลีโนนในตัวอย่างว่ามีความเข้มข้นสูงกว่าหรือต่ำกว่า 100 ส่วนในพันล้านส่วน โดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น

 ชุดตรวจสอบสารพิษซีราลีโนนนี้เป็นชุดตรวจสอบชุดแรกที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยเพื่อการใช้งานภายในประเทศ เป็นการลดการนำเข้าชุดตรวจสอบที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนของการตรวจสอบและต้นทุนการผลิตทางการเกษตร และยังสนับสนุนการเฝ้าระวัง การปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร ซึ่งส่งผลดีในภาพรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย

ดร.รัชนี ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ :  ผศ.ดร.รัชนี ฮงประยูร

                     ภาควิชาโรคพืช  คณะเกษตร กำแพงแสน

                     มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                   

เรียบเรียงโดย   :  วันเพ็ญ นภา

                    ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                     0-2561-1474

                      rdiwan@ku.ac.th

           ผศ.ดร.รัชนี  ฮงประยูร