ข้อสนเทศงานวิจัยและพัฒนาโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน

1-1 รูปนำ

      ในอดีต การเลี้ยงโค กระบือของเกษตรกรไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อไว้สำหรับการทำเกษตรกรรม   เป็นแรงงานช่วยในการไถนา ลากเกวียน และนวดข้าว  โดยนิยมเลี้ยงกระบือมากกว่าโค เพราะกระบือใช้แรงงานได้ดีกว่าโค  จำนวนกระบือจึงมีมากกว่าโค เมื่อปลดจากการใช้งาน หรือมีมากเกินการใช้แรงงาน เกษตรกรจึงนำไปขาย

      ช่วงหลังปีพ.ศ. 2525 เกษตรกรเริ่มหันมาใช้เครื่องจักรกล รถแทรกเตอร์ มากขึ้น แทนการใช้แรงงานโค กระบือ การเลี้ยงไว้ในครัวเรือนจึงลดลง และเริ่มนำไปขายเพื่อการบริโภคมากขึ้น  โดยเนื้อโคเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ราคาที่ขยับสูงขึ้น เกษตรกรจึงเห็นว่าการเลี้ยงโคสามารถได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มหันมาเลี้ยงโคเพื่อขายเนื้อเป็นเป้าหมายหลัก  ขณะเดียวกันจำนวนกระบือค่อยๆลดลง จำนวนโคจึงทิ้งห่างจากจำนวนกระบืออย่างมาก

1-2 รูปโค-บทนำ 

     จากความต้องการของตลาดที่มีต่อการบริโภคเนื้อโคมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ขณะที่คุณภาพโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงอยู่ ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จึงมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพ หรือนำเข้าพ่อพันธุ์โค รวมทั้งน้ำเชื้อแช่แข็งจากต่างประเทศ  ปีละหลายล้านบาท  ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย  เป็นการตอบสนองความต้องการของสังคม ช่วยลดการสูญเสียเงินตราในการนำเข้าจากต่างประเทศ  การดำเนินการศึกษาวิจัยด้านโคเนื้อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อให้ได้โคเนื้อที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมสำหรับประเทศไทย การดำเนินงานวิจัยโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างประเทศ รวมถึงแนวร่วมจากเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโค จนได้กำเนิด “โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน” โคเนื้อพันธุ์แรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย  เป็นพันธุ์โคเนื้อที่มีคุณสมบัติดีครบถ้วน ตามหลักสากลของเกณฑ์มาตรฐานความเป็นเลิศของโค อย่างไรก็ตามกว่าจะเป็น “โคพันธุ์กำแพงแสน” จนสามารถกลายเป็นธุรกิจพันล้านในปัจจุบัน   ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานวิจัยด้วยความอดทน อย่างต่อเนื่อง และยาวนาน   เป็นความภูมิใจของประชาชนชาวไทยที่สมควรจารึกไว้ในแผ่นดิน