งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มันสำปะหลัง

ชื่อสามัญ          Cassava, Tapioca, Manioc,  Yuca, Mandioa
ชื่อท้องถิ่น          มันสำปะหลัง มันสำโรง (กลาง) ต้าวน้อย ต้าวบ้าน (ภาคเหนือ) มันต้น มันไม้ (ภาคใต้) มันหิ่ว (พังงา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sciencetific Name: Manihot esculenta  (L.) Crantz
ชั้น               :  Class        Angiospermae
ชั้นย่อย          :  Subclass  Dicotyledonae
อันดับ            :  Order Geraniales
วงศ์               :   family      Euphorbiaceae
สกุล              :   Genus      Manihot
ชนิด             :  Species   esculenta

 

    มันสำปะหลัง จัดเป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่มยืนต้น มีอายุอยู่ได้หลายปี เป็นพืชอาหารที่ใช้เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต เป็นพืชที่ปลูกง่าย   ทนต่อความแห้งแล้ง  ปัญหาโรคแมลงมีน้อย   การเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นกับฤดูกาล จึงสามารถจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้    ซึ่งถ้าพิจารณาจากปริมาณการผลิตพืชอาหารทั่วโลกมันสำปะหลังจัดอยู่ในลำดับที่ 8 ของ 10 อันดับแรกของพืชเศรษฐกิจโลก

มันสำปะหลัง มีชื่อสามัญเรียกหลายชื่อตามภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า แคสซาวา (Cassava) หรือทาพิโอกา (Tapioca) ภาษาโปรตุเกสในประเทศบราซิลเรียกว่า แมนดิโอกา (Mandioca) แถบประเทศในทวีปแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า แมนิออก (Manioc) ประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ใช้ภาษาสเปนเรียกว่า ยูกา (Yuca) ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า “มันหลา”) คำว่า “สำปะหลัง” ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า “ซำเปอ (Sampou)” ของชวาตะวันตก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ราก  :  มันสำปะหลัง มีราก 2 ชนิด คือ รากจริงเป็นแบบรากฝอย และรากสะสม อาหาร ที่เรียกกันทั่วไปว่า หัว

รากจริงเป็นระบบรากแบบ adventitious root system รากที่งอกจากท่อนพันธุ์ (cutting) สามารถงอกได้จาก 3 ส่วนคือ รากจากส่วนเนื้อเยื่อ root from cambium  รากจากส่วนตา (root from bud) และรากจากส่วนรอยหลุดร่วงของใบ (root from leaf scar)

ส่วนหัว (tuber) ของมันสำปะหลัง คือส่วนรากที่ขยายใหญ่เพื่อสะสมอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรต ในส่วน parenchyma cell รากสะสมอาหารมีปริมาณแป้งประมาณ 15 – 40 % มีกรดไฮโดรไซยานิก ( HCN ) หรือ กรดพรัสซิก ( prussic acid ) ซึ่งมีพิษ จะมีอยู่มากในส่วนของเปลือกมากกว่าเนื้อของหัว (ภาพที่  1)

หัวมันสำปะหลังเมื่อตัดตามขวางมีส่วนประกอบ (ภาพที่  2) ดังนี้

  1. เปลือกชั้นนอก (periderm) เป็นชั้นของเซลล์ผิวชั้นนอก (epidermal cell) และชั้นของคอร์ก (cork layer) รวมกัน มีสีขาว หรือสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ หรือสีชมพู

2.เปลือกชั้นใน (cortical region) เป็นส่วนของคอร์เทกซ์ (cortex) และกลุ่มโฟลเอ็ม (phloem bundle) มีสีขาว ความหนา 0.1-0.3 ซม.

เปลือกชั้นนอกและเปลือกชั้นใน เรียกรวมกันว่า  เปลือก ( peel)

  1. ส่วนแกนกลางหรือส่วนสะสมแป้ง (central pith หรือ starchy flesh) มีสีขาว เหลือง หรือสีชมพู ประกอบด้วยเซลล์พาเรนไคมา (parenchyma cell) กลุ่มท่อน้ำ (xylem bundle) และท่อน้ำยาง (latex tube)