ไม้ตะกู…ไม้เศรษฐกิจของไทย

[mejsvideo autoplay=”true” src=”http://www3.rdi.ku.ac.th/radio/14-05-11.wmv” height=”360″]

ออกอากาศ วันที่ 14 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บทวิทยุโดย  หทัยรัตน์  ศรีสุภะ

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดย        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน………………เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ การปลูกไม้โตเร็วในประเทศไทย ในส่วนของผู้ผลิตไม้เศรษฐกิจโตเร็วในไทยแล้ว มีเกษตรกรและผู้สนใจที่มองเห็นช่องว่างทางการตลาดและเห็นว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้ทำการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วจำนวนมากทั้งไม้โตเร็วทั่วไปและไม้โตเร็วที่ได้รับความนิยม อย่างเช่นพวก ต้นยูคาลิปตัส เพื่อป้อนเนื้อไม้ให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ  ขายเป็นไม้ค้ำยัน หรือนำไปแปรรูปใช้งาน แต่จากข้อถกเถียงที่ว่าเมื่อปลูกยูคาลิปตัสแล้วมีผลต่อดินทำให้ดินเสื่อมโทรมและเสื่อมสภาพ ทำให้เมื่อเกษตรกรหันกลับมาปลูกพืชดั้งเดิมหรือพืชชนิดอื่นจะได้ผลผลิตไม่ดีหรือไม่ดีเท่าเดิม  ก็เลยทำให้ผู้ที่คิดจะปลูกยูคาลิปตัสส่วนหนึ่งได้ชะลอการปลูกไปก่อน  โดยการหันมามองไม้โตเร็วชนิดอื่นที่คิดว่าจะดีกว่า เช่น เพาโลเนีย  ไม้ยมหอม กระถินณรงค์  กระถินเทพา  สะเดาเทียม  เลี่ยน  เป็นต้น  แต่ว่าการปลูกไม้ดังกล่าวส่วนหนึ่งก็จะพบปัญหาต่างๆกันไปเหมือนกันค่ะ เช่น เพาโลเนีย ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นไม้เมืองหนาว เมื่อนำมาปลูกในเมืองไทย     ก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศที่ไม่เหมาะสมและทำให้ดูแลยาก ไม้ไม่เจริญเติบโต ไม่ได้คุณภาพตามที่คาดหวังไว้  ส่วนในกรณีไม้ยมหอมก็มีปัญหาเรื่องหนอนกินยอดอย่างรุนแรงค่ะ ทำให้มีผลต่อการเจริญ เติบโตของไม้ เป็นต้น ข้อมูลปัญหาที่พบเหล่านี้เกษตรกรส่วนมากจะพบปัญหาด้วยตัวเอง หลังจากที่ต้องลงทุนปลูกไปจำนวนมากแล้ว เนื่องจากไม่มีข้อมูลเรื่องอุปสรรคและปัญหาของไม้ที่ควรจะได้รับรู้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจก่อนปลูก หรือมีข้อมูลบ้างแต่เทียบกับความตั้งใจที่จะปลูกไม้รวมถึงช่องว่างทางการตลาด และผลตอบแทนเป็นปัจจัยทำให้เกษตรกรมองข้ามจุดเหล่านี้ไป

คุณผู้ฟังค่ะที่ผ่านมาปัญหาในการปลูกไม้โตเร็วอย่างจริงจังเพื่อเป็นธุรกิจ  ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญอยู่เสมอนั่นมีอยู่หลายประการค่ะ ยกตัวอย่างเช่น  …

  1. ผู้ที่ต้องการปลูกไม้ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจ ไม้บางชนิดมีข้อมูลการปลูกในประเทศน้อยมาก เกษตรกรไม่เคยเห็นแม้แต่แปลงปลูกจริงๆที่มีอายุในแต่ละช่วง  ไม่เคยเห็นเนื้อไม้ว่าไม้เป็นอย่างไร  คุณภาพเนื้อไม้ที่ได้เป็นอย่างไร  ต้นที่โตแล้วเป็นอย่างไรและไม้โตเร็วจริงหรือไม่  โรคและศัตรูพืชมีมากน้อยเพียงใด  ด้วยสิ่งเหล่านี้นี่เองค่ะจึงทำให้เกษตรกรต้องเสี่ยงลองผิดลองถูกกันเอง เมื่อพบอุปสรรคและปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ ถึงเวลานั้นก็ได้ปลูกไปเป็นจำนวนมากแล้ว  หลายครั้งนะค่ะที่ทำให้การตัดสินใจของเกษตรกรเกิดความผิดพลาดและผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ
  2. ผู้ที่ต้องการปลูกได้รับข้อมูลเฉพาะเชิงบวกและคุณสมบัติที่ดีเสมอ   จึงง่ายต่อการตัดสินใจโดยที่ไม่เคยรับทราบข้อด้อยของไม้เลย ปัญหาต่างๆของไม้ดังกล่าวจึงไม่ค่อยปรากฏในการนำเสนอ ในที่สุดก็ไม่สามารถปลูกและได้ผลดีตามที่ต้องการเท่าไหร่นัก
  3. ไม้ที่ปลูกบางชนิดเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศเหมาะที่จะปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็น  ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศอย่างประเทศไทย ไม้บางชนิดเป็นไม้เฉพาะถิ่น เช่น สะเดาช้างเป็นไม้แถบทางใต้ของประเทศ  เมื่อนำมาปลูกในเขตอื่นก็จะโตได้ไม่ดีเท่าทางภาคใต้ แต่เมื่อนักวิจัยมีการทดลองและศึกษาข้อมูลในแปลงทดลองเพื่อทำการศึกษาไม้ชนิดหนึ่ง ก็ทำให้รู้ถึงศักยภาพของไม้ตะกูเป็นอย่างมากค่ะ เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของไม้ตะกูในสภาวะที่เหมาะสมทั้งในแนวตั้ง และแนวเส้นผ่าศูนย์กลางเจริญเติบโตได้ดีมากค่ะ จึงทำให้ตะกูกลายเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่สามารถจัดเป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วในอนาคตได้ แต่ว่ายังติดปัญหาอยู่ที่แหล่งต้นใหญ่ ต้นกล้าหรือแหล่งเพาะพันธุ์ยังมีน้อย และยังเพาะพันธุ์ได้ยากค่ะ ….. แต่สำหรับคุณผู้ฟัง รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.ของดิฉัน ที่กำลังสนใจเกี่ยวกับไม้ตะกู ไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ดีของเนื้อไม้ การปลูกดูแลรักษา และอัตราการเจริญเติบโตที่ง่ายกว่า วันนี้รายการของเรามีข้อมูลดีๆเหล่านี้มาเล่าสู่คุณผู้ฟังให้ได้ทราบกันด้วยค่ะ … แต่ต้องติดตามในช่วงหน้าของรายการนะค่ะ

-เพลงคั่นรายการ- 

คุณผู้ฟังค่ะ ปัจจุบันไม้ตะกูกำลังเป็นไม้ที่ได้รับการกล่าวถึงและมีการส่งเสริมการปลูกกันอย่างมากจากหน่วยงานภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองถึงด้านการเจริญเติบโตและผลผลิต รอบระยะเวลาตัดฟัน ระยะปลูกที่เหมาะสม ฯลฯ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยให้ถ่องแท้ก่อนการตัดสินใจลงทุนปลูกสร้างสวนป่า ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของไม้ตะกูที่อายุต่างๆกัน ด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสำรวจการระบาดทำลายของแมลงศัตรูพืชของไม้ตะกู

และผลจากการศึกษาของ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก นักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านได้เห็นถึงความเป็นไปได้ของไม้ตะกูที่จะกลายเป็นไม้เศรษฐกิจได้ ซึ่งก็ได้แสดงผลการวิจัยไว้ว่า ไม้ตะกูมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในช่วง 2-4 ปีแรกค่ะ จากนั้นก็มีแนวโน้มที่ลดลง การเจริญเติบโตก็เป็นไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและการจัดการ โดยเฉพาะระยะปลูกที่มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต จากการประเมินในด้านมวลชีวภาพและปริมาตรไม้ เมื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและผลผลิตกับไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สัก แต่ผลจากการวิจัยที่ได้ไปสำรวจพบว่า ไม้ตะกูมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าไม้สักและมีการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับไม้กระถินเทพา และไม้ยูคาลิปตัสที่ไม่ได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์ แต่มีการเจริญเติบโตและผลผลิตต่ำกว่าไม้ยูคาลิปตัสที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าเราปลูกไม้ตะกูจะให้ผลดีมากที่สุดนั้น ก็ควรปลูกผสมในรูปแบบวนเกษตรร่วมกับไม้หรือพืชเกษตรชนิดอื่นๆ  โดยใช้ระยะปลูกที่กว้าง  เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่  การปลูกด้วยระยะปลูกที่แคบนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของแมลงเจาะทำลายยอดและต่อไปในระยะยาวยังมีผลต่อการเจริญเติบโตในภาพรวมของทั้งพื้นที่อีกด้วยนะค่ะคุณผู้ฟัง

ปัจจุบันไม้ตะกูจัดว่าเป็นไม้ที่ได้รับการกล่าวถึงและมีการส่งเสริมการปลูกกันอย่างมาก โดยเฉพาะจากหน่วยงานภาคเอกชน ส่วนในด้านข้อมูลด้านการเจริญเติบโต การปลูกและการดูแลรักษายังมีข้อมูลจากการศึกษาเพียงเล็กน้อยอยู่เพียงเล็กน้อยค่ะ เลยทำให้เกษตรกรผู้ที่สนใจปลูกไม้ตะกูจำนวนมากยังมีความสงสัยถึงความเป็นไปได้และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยยังมีคำถามว่าจะมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่สูงและสามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางด้านวนวัฒนวิทยา ซึ่งได้แก่ลักษณะธรรมชาติของไม้ตะกู ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม วนวัฒนวิธีในการจัดการสวนป่า ตลอดทั้งการจัดการปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชทั้งหลาย เนื่องจากไม้แต่ละชนิดก็ย่อมต้องการสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไปค่ะ …. เดี๋ยวเราพักกันสักครู่นะค่ะคุณผู้ฟัง  แล้วช่วงหน้าเรามาฟังถึงเรื่องของการส่งเสริมปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกันค่ะ ว่าเขาจะใช้วิธีการอย่างไร .. ช่วงหน้าสักครู่เดียวค่ะ

-เพลงคั่นรายการ- 

คุณผู้ฟังค่ะ อย่างที่ได้บอกไปเมื่อช่วงที่แล้วว่า ปัจจุบันไม้ตะกูจัดว่าเป็นไม้ที่ได้รับการกล่าวถึงและมีการส่งเสริมการปลูกกันอย่างมาก  โดยเฉพาะจากหน่วยงานภาคเอกชน  ในด้านการส่งเสริมปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจนั้น ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับหน่วยงานภาครัฐเคยมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในช่วงปี  พ.ศ. 2535  ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างสวนป่าไร่ละ 3,000 บาท  ด้วยชนิดไม้ที่หลากหลายชนิดที่รัฐให้การสนับสนุน สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนก็มีการตื่นตัวในเรื่องการปลูกสร้างสวนป่าเช่นกัน โดยเฉพาะสวนป่าไม้โตเร็ว และสิ่งที่จะยืนยันได้อย่างหนึ่ง นั่นก็คือเอกสารหนังสือส่งเสริมปลูกไม้ป่าหลายชนิดที่วางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วไปที่มีมากขึ้น ข้อมูล ข่าวสาร การส่งเสริมการปลูกที่มีอยู่อย่างมากมายบนอินเตอร์เน็ท  รวมทั้งตัวของเกษตรกรเองนั้น ก็มีการตื่นตัวในอาชีพการปลูกสร้างสวนป่าขึ้นอย่างมาก  ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากราคาของผลผลิตการเกษตรที่เคยทำมานั้นตกต่ำลง  ประกอบกับแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจต่อการปลูกไม้ป่า ทำให้เกษตรกรหลายรายรวมทั้งเจ้าของที่ดินจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีต       หันมาให้ความสนใจเพื่อทำการลงทุน ทำการปลูกสร้างสวนป่ามากขึ้นค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ และแม้ว่าจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากขึ้น รวมทั้งความสนใจของเกษตรกรผู้ปลูกป่าเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้การปลูกป่าเศรษฐกิจของประเทศได้รับการพัฒนาไปได้เท่าไหร่นัก พันธุ์ไม้หลายชนิดที่เคยมีกระแสการสนับสนุนให้ปลูก เริ่มตั้งแต่ไม้สัก สะเดาเทียม ยมหอม
เพาโลว์เนีย กฤษณา พบว่าการปลูกป่าไม้เหล่านี้โดยเฉพาะไม้สะเดาเทียม ยมหอมและเพาโลว์เนีย นั้นก็ต้องประสบกับความล้มเหลว  เพราะว่า..เนื่องจากการผู้ส่งเสริมมีการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจปลูกแต่ด้านดีเพียงด้านเดียวทำให้เกษตรกรไม่ทราบข้อเท็จจริงของไม้เหล่านั้นได้ทั้งหมด อย่างเช่น ปัจจัยจำกัดอะไรบ้างในการปลูกไม้แต่ละชนิด นอกจากนี้การที่ผู้สนับสนุนได้ส่งเสริมการปลูกอย่างมาก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจปลูก จึงทำให้กระแสในการปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้รับความนิยม มีตัวอย่างที่ชัดเจน คือการส่งเสริมปลูกไม้ยมหอมซึ่งทำให้เกิดการระบาดของแมลงหนอนเจาะยอดยมหอม เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในทุกพื้นที่ จนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ชนิดดังกล่าวต้องล้มเลิกการปลูกไม้ยมหอมไปในที่สุด … แต่ว่าไม้ตะกูไม่เป็นอย่างนั้นค่ะ กลับได้รับความนิยมเรื่อยมา นั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม้ตะกูต้องมีข้อดีในบางประการที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการปลูกสร้างสวนป่ามากขึ้น  ถ้าอย่างนั้นในช่วงหน้าดิฉันมีลักษณะทางนิเวศวิทยาของไม้ตะกูมาเล่าให้ฟังค่ะ สำหรับช่วงนี้พักสักครู่นึงค่ะ …

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังค่ะ ลักษณะทางนิเวศวิทยาของไม้ตะกู ก็จะประกอบไปด้วยการเจริญเติบโตของต้นตะกู  ซึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการได้แก่ ดิน น้ำ อุณหภูมิ และแสงสว่าง  ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นตะกู ได้แก่ ดินตะกอนทับถม ที่มีผิวหน้าดินลึกและระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง ความชื้นในดินเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโต โดยไม้ตะกูจะขึ้นได้ดีในท้องที่ ที่มีฝนตกประมาณ 1,500 – 5,000  มิลลิเมตรต่อปี  และมีความชื้นในอากาศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80  และเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 21 – 32  องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิหรือต่ำกว่านี้ ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ตะกูได้  ไม้ชนิดนี้มีความอ่อนไหวต่อความแห้งแล้ง และน้ำค้างแข็งมากค่ะ คือมันจะไม่ทนแล้ง และไม่ทนหนาว       แต่สามารถทนน้ำท่วมแช่ขังอยู่ได้นานถึง 2 – 3 สัปดาห์ จึงมักพบเห็นไม้ตะกูในบริเวณที่ดินมีความชุ่มชื้นสูง ไม้ตะกูเป็นพรรณไม้ที่ต้องการแสงมาก การเจริญเติบโตของไม้ตะกู (เทียบจากปริมาณมวลชีวภาพของทั้งต้นและความสูง) จะดีที่สุดเมื่อปลูกในที่มีความเข้มของแสงปริมาณร้อยละ75-100 ความยาวนานของแสงในรอบวันมีผลต่อความแตกต่างด้านการเจริญเติบโตของกล้าไม้ตะกูน้อยมาก

แต่อย่างไรก็ตามสภาพความสมบูรณ์ ขนาด อายุ ของกล้าไม้และวิธีการปลูกกล้าไม้  นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง  สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้การเติบโตและพัฒนาการของต้นไม้มีความแตกต่างกันได้ นอกจากสภาพแวดล้อมและการดูแลจัดการแล้ว  กล้าไม้ที่มีขนาดพอเหมาะ อายุกล้าเหมาะสมประกอบกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็จะเป็นการส่งผลให้มีการเติบโตที่ดีได้อีกทางหนึ่ง

คุณผู้ฟังค่ะ สำหรับในประเทศไทยตะกูมีการกระจายพันธุ์อยู่แทบทุกภาคของประเทศเลยค่ะ โดยพบที่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี เลย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี อุทัยธานีปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ตราด ตรัง สตูล สงขลาและภูเก็ต ขึ้นได้ตั้งแต่ที่ราบริมทะเลไปจนถึงระดับความสูง 1,000 เมตร  โดยมักพบต้นตะกูขึ้นเป็นกลุ่มล้วนๆ ตามริมแม่น้ำลำธาร หนองบึง พื้นที่ชุ่มน้ำ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งดินเป็นดินตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาทับถมเป็นเวลานาน เป็นดินลึก ระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง และในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางลงแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้  หรือสองข้างทางรถยนต์ที่ตัดผ่านป่าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น เช่นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง เป็นต้นค่ะ  สำหรับอัตราการเจริญเติบโตของไม้ตะกูในระยะแรกจะช้าแต่จะเร็วมากขึ้นภายหลังย้ายปลูกแล้ว  1  ปี โดยอาจมีความสูงถึง  3  เมตร อัตราการเจริญเติบโตทางความสูงโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ  2-3  เมตร/ปี ติดต่อกันไปนาน  6-8  ปี  คุณผู้ฟังค่ะ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกันระหว่างไม้ตะกูกับยูคาลิปตัสแล้ว ก็จะพบว่า การเติบโตและผลผลิตของตะกูจะดีกว่ายูคาลิปตัส โดยเปรียบเทียบกันที่ อายุประมาณ 2 ปีค่ะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลผลิตของไม้ทั้งสองชนิดนั้น จะไม่มีความแตกต่างกันมากนักในช่วงอายุ 5 ปี ซึ่งไม้ยูคาลิปตัสในแปลงที่ไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์จะมีการเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ทำให้ผลผลิตนั้นต่ำกว่าไม้ที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ …. คุณผู้ฟังค่ะ ผศ.ดร.นิคม แหลมสักอาจารย์ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ก็ได้ให้แนวคิดในเรื่องของการปลูกสร้างสวนป่าเอาไว้ด้วยนะค่ะว่า  ความสำเร็จของการปลูกสร้างสวนป่านั้นยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อีกมากที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นในด้านการใช้ประโยชน์ คุณสมบัติของไม้ที่แตกต่างกัน ปัจจัยด้านการเจริญเติบโตและผลผลิตที่ดีกว่าก็ยังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราจะเน้นความสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาเลือกชนิดไม้ เพื่อใช้ในการปลูกสร้างสวนป่า แต่สิ่งที่สำคัญ คือต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการปลูกเป็นสำคัญค่ะ ว่าต้องการไม้เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านใดเป็นหลัก การนำไม้ไปใช้มีความหลากหลายเพียงใด ปัจจัยทางด้านการตลาดในอนาคตมีความแน่นอนเพียงใด แหล่งรับซื้ออยู่ที่ใด และความมั่นคงของระบบการตลาดของไม้ชนิดดังกล่าวเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย ….. เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ แล้วกลับมาติดตามฟังกันต่อในช่วงหน้า กับรายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.

-เพลงคั่นรายการ- 

คุณผู้ฟังค่ะ ปัจจัยต่างๆนาๆที่เราจะต้องให้ความสำคัญ  เพื่อทำให้การปลูกสร้างสวนป่านั้นประสบความสำเร็จ  ข้อหนึ่งที่จะละเลยไปไม่ได้เลยนั่นคือ ระยะปลูก นั้นเองค่ะ ระยะในการปลูกนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการปลูกสร้างสวนป่า ทั้งนี้การพิจารณาเลือกระยะปลูกนั้นต้องคำนึงถึงธรรมชาติของไม้ที่ปลูกและวัตถุประสงค์ของการปลูกเป็นสำคัญ การเลือกระยะปลูกที่แคบเกินไปทำให้ต้องสิ้นเปลืองกล้าไม้มากเกินความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ในแปลงปลูกอย่างมากเนื่องจากต้นไม้จะมีการแก่งแย่งแสงสว่าง น้ำ ธาตุอาหาร และพื้นที่ว่างในอากาศและในดินเพื่อการเจริญเติบโต เมื่อพิจารณาดูไม้ที่อายุ ประมาณ 2 ปี จะพบว่าไม้ตะกูมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าไม้ยูคาลิปตัสอย่างที่ได้บอกไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะพบว่าอิทธิพลของระยะปลูกและสภาพความเหมาะสมของพื้นที่น่าจะมีบทบาทอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของไม้ตะกู เนื่องจากลักษณะธรรมชาติของไม้ตะกูเป็นไม้ที่ต้องการแสงสว่างและมีลักษณะการแตกกิ่งที่แผ่กว้างตั้งฉากกับลำต้น จึงต้องการพื้นที่ว่างที่มากพอต่อการขยายเรือนยอด ซึ่งหากปลูกด้วยระยะปลูกที่แคบก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ เคล็ดลับในการปลูกไม้ตะกูให้เจริญเติบโตและมีผลผลิตที่ดีสม่ำเสมอทั้งแปลง ก็ควรปลูกให้มีระยะปลูกที่กว้าง เช่น ปลูกในระบบวนเกษตรร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา ส่วนการปลูกในระยะปลูกที่แคบนั้นนอกจากจะสิ้นเปลืองกล้าไม้จำนวนมาก ต้นไม้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร และต้องลงทุนทำการตัดขยายระยะเพื่อให้หมู่ไม้ที่เหลือมีการเติบโตที่ดีขึ้น โดยไม้ที่ตัดออกไปก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่เนื่องจากมีขนาดเล็กแล้ว แถมยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอีกด้วยนะค่ะ  คุณผู้ฟังค่ะ ไม้ตะกูก็ใช่ว่าจะไม่มีศัตรูที่ไหนนะค่ะ เพราะยังมีแมลงศัตรูอีกไม่น้อยที่จ้องจะคอยเข้าทำลายอยู่อย่างน้อยถึง 12 ชนิดเลยค่ะ โดยพบแมลงทำลายใบ 8 ชนิด แมลงทำลายส่วนของลำต้น 4 ชนิด และแมลงทำลายยอด 1 ชนิด ศัตรูเยอะไม่ใช่เล่นๆเลยนะค่ะ การเข้าทำลายของมันจะแบ่งโซนกันค่ะ โดยที่แมลงทำลายยอดนั้นจะส่งกระทบความเสียหายอย่างมากต่อสวนป่าที่อายุยังน้อยค่ะ  เนื่องจากการทำลายส่วนยอดทำให้ลำต้นเสียรูปทรง ต้นที่มีการระบาดรุนแรงอาจตายได้ และพบการระบาดมากในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะในสวนป่าที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี  ดังนั้นคุณผู้ฟังเกษตรกรที่สนใจในการทำสวนป่าก็ต้องเน้นให้ความสำคัญ ในการพิจารณาหาวิธีการควบคุมกำจัดที่มีประสิทธิภาพต่อไป  สำหรับแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ มีการระบาดในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก   วิธีการที่จะได้ผลดีที่สุดนั่นก็คือต้องอาศัยการช่างสังเกตค่ะ คอยหมั่นตรวจสอบการระบาดของแมลงในแปลงอย่างสม่ำเสมอ และใช้วิธีการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี  ร่วมกับการวางแผนการปลูกที่เหมาะสม โดยใช้วิธีการปลูกผสมร่วมกับไม้ชนิดอื่นหรือปลูกในระบบวนเกษตร ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการระบาดทำลายของแมลงศัตรูไม้ตะกูลงได้บ้างค่ะ ….

ดิฉันหวังว่า เนื้อหาสาระเกี่ยวกับการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกู ไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรเห็นโอกาสความเป็นไปได้ของการลงทุนปลูกสร้างสวนป่า มองเห็นแนวทางใหม่ในการเสริมสร้างอาชีพในอนาคต และไม่เพียงเท่านั้น ในทางอ้อมเรายังจะได้อนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ โดยการสร้างสวนป่า คืนต้นไม้ให้กับธรรมชาติ และคืนอากาศดีๆ ให้กับเราได้หายใจกันต่อไป ….

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วค่ะ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ…….