การเลี้ยงสุกรในหน้าร้อน

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=_2TrbXb0AIY[/youtube]

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งนะครับกับรายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อเสริมสร้างได้รายให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ  สุกร เป็นสัตว์ที่ทำรายได้ให้เกษตรกรได้ง่าย ใช้เวลาเลี้ยงไม่นาน ราคาดี แต่ต้องมีการบริหารและจัดการที่ดี ดังนั้นการเลี้ยงสุกรเพื่อให้ได้รับผลผลิตสูงสุดตามความต้องการนั้น นอกจากการให้อาหารและการจัดการเลี้ยงดูที่ถูกต้องแล้ว เกษตรกรต้องหมั่นดูแลสุขภาพของสุกรให้สมบูรณ์ แข็งแรง ตลอดเวลาอีกด้วยครับ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนปีนี้ ซึ่งมีอากาศร้อนจัดกว่าทุกปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางวันมีฝนตกร่างกายสัตว์ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดความเครียด กินอาหารน้อยลง สุกรอาจเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น ในช่วงหน้าร้อนนี้เกษตรกรต้องระมัดระวังการเกิดโรคระบาดในสัตว์ด้วย เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์ในสุกร โรคท้องเสียติดต่อ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและในส่วนของโรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร หากมีการระบาดขึ้น จะสร้างความเสียหาย แก่ผลผลิตสุกรอย่างร้ายแรง  ในช่วงหน้ากระผมมีวิธีการดูแลสุกรดีๆมาบอกกับคุณผู้ฟังครับ…

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ การดูแลสุกรในหน้าร้อนนั้นนับว่าเป็นช่วงที่สำคัญช่วงหนึ่งเลยนะครับ อาจเพราะด้วยหน้าร้อนจะนำปัญหาต่างๆนานาเข้ามาไม่ว่าจะเป็นโรค หรือผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีผลต่อสุกรโดยตรง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากผู้เลี้ยงแล้ว แน่นอนครับว่าการตามมาแก้ปัญหาทีหลัง คงจะไม่คุ้มทุนแน่นอน  และการจัดการดูแลสุกรในหน้าร้อนนี้ เป็นวิธีการที่ถูกต้องตามที่ อาจารย์ สมโภชน์  ทับเจริญ นักวิชาการเกษตร 8 (ชำนาญการ) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้อธิบายถึงวิธีการจัดการ ที่เหมาะสมกับการดูแลสุกรในหน้าร้อนว่าต้องทำอย่างไรครับ

เรื่องของอาหารการกินก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ หมูกินอาหารได้ไม่มากเนื่องจากอากาศร้อน ทั้งหมดนี้ก็มาจากความร้อนซึ่งเกิดมาจาก 2 ทางด้วยกันนะครับ คือ 1. จากความร้อนนอกร่างกาย  2.จากความร้อนในร่างกาย ความร้อนนอกร่างกายมาจากอากาศและสิ่งแวดล้อม ส่วนความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มาจากอาหารที่กินเข้าไป การลดความร้อนภายนอกร่างกายในโรงเรือนปิดก็คงต้องเข้าใจในระบบการทำงานของเครื่อง ที่ให้เกิดความสัมพันธ์กันของไอน้ำและความเร็วลม ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ส่วนโรงเรือนเปิด ต้องดูเรื่องม่านกันแดดและป้องกันไอแดด แต่ต้องไม่บังคับลม  โดยสังเกตดูต้นไม้ที่ปลูกอยู่รอบๆจะต้องกีดขวางทางลมเข้าออกครับ

และการเลี้ยงกันแบบมีอ่างน้ำทั้งในโรงเรือนปิดและโรงเรือนเปิด โดยอ่างน้ำในคอกมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้สุกรลงไปขับถ่ายเท่านั้น แต่ถ้าร้อน เหนื่อย หอบ ก็ต้องแช่น้ำช่วยครับ เพราะสุกรส่วนมากจะกินอาหารแบบเต็มที่ อาหารจะย่อยและดูดซึมตลอดเวลา  การอาบน้ำจะเป็นการล้างความร้อนออกจากร่างกายดีที่สุดนะครับ น้ำที่ให้กินต้องไม่ร้อน ไม่เช่นนั้นสุกรจะกินอาหารลดลง แต่ถ้าเป็นสุกรในโรงเรือนปิดก็อาบน้ำได้ครับ การไอ จาม มักมาจากฝุ่นละอองจึงต้องดูว่ามีฝุ่นมากน้อยแค่ไหน บางคนดูและให้ความสนใจแต่เรื่องโรค ซึ่งผิดพลาดได้ เพราะอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดครับ

คุณผู้ฟังครับ ความเอาใจใส่ในเรื่องของความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญนะครับ การกวาดและเก็บมูลสุกรก่อนการอาบน้ำและเปิดสเปรย์เป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นด้านล่างของเท้าสุกรจะเปื่อยและเน่าตามมา อันเนื่องมาจากความเปียกชื่นปนกับมูล สะสมเชื้อโรคมากมาย ตามมาด้วยระบบสืบพันธุ์ติดเชื้อเป็นหนองมากขึ้น ตัวก็เป็นแผลเน่าเปื่อย คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่ตามแก้ไขรักษากันยากครับ ส่วนคุณภาพอาหารที่ดีในช่วงหน้าร้อน จะช่วยทำให้หมูกินได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาหารที่หยาบ มีใยสูงมากก็จะก่อให้เกิดความร้อนมากขึ้น ในกระบวนการย่อยและดูดซึม น้ำก็เช่นกัน ต้องเป็นน้ำสะอาด เตรียมไว้อย่างเพียงพอ และมีเหลือสำรองไว้เสมอ ผู้เลี้ยงหลายคนมีปัญหาสุกรก็กินน้ำน้อย ส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหารตามมา นั่นอาจจะเป็นเพราะเรื่องอุณหภูมิของน้ำด้วยนะครับ ควรดูแลเอาใส่ใจในจุดเล็กน้อยด้วย ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ยังมีสุกรอีกประเภทหนึ่งที่ต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษอย่างมากด้วยนะครับ นั้นก็คือ การดูแลแม่สุกรในเล้าคลอดครับ การให้น้ำ ให้อาหาร และการจัดการสภาวะแวดล้อมก็เหมือนๆ กับแม่อุ้มท้องนั่นแหละครับ เพียงแต่แตกต่างกันที่มันมีลูกเล็กๆ กินนมอยู่ด้วย โดยทั่วไปการย้ายสุกรอุ้มท้องสัปดาห์ที่ 15 ขึ้นเล้าคลอด ก็มักจะทำกันตอนเช้าตรู่หรือเย็น แต่ในหน้าร้อนอย่างนี้ ไม่ว่าจะตอนเช้าหรือเย็นก็ยังทิ้งความร้อนเอาไว้ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ แม่อุ้มท้องแก่ ก่อนย้าย เมื่อเข้าซองคลอดแล้วก็ต้องติดตามดูต่อไป ไม่ให้แม่สุกรแสดงอาการเหนื่อย หอบ เอาพัดลมตั้งโต๊ะเป่าในกรณีที่แม่สุกรหอบมากๆ ในระยะก่อนคลอดครับ ซึ่งในช่วงนี้เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขเปิดประตูสู่ความสำเร็จของผลผลิตเลยก็ว่าได้นะครับ พยายามอย่าให้แม่สุกรเครียดและเหนื่อยหอบจากความร้อนโดยเด็ดขาดครับ มิฉะนั้นการคลอดอาจจะทุลักทุเลมาก เช่น การคลอดยาก ใช้เวลานาน ไม่มีลมแบ่ง เป็นไข้ก่อนคลอด รกค้าง คลอดลูกติด ตายแรกคลอด หรือ ลูกออกมาแล้วติดเชื้อไข้จากแม่หมู อ่อนแอ เลี้ยงยาก แม่ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ต้องเลิกเลี้ยง ลูกที่ป่วยต้องถูกย้ายไปฝากให้แม่อื่นเลี้ยงก่อน  แต่ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการทำให้แม่สุกรที่เอาไปฝากเลี้ยงติดเชื้อไข้จากลูกสุกรตัวนั้นไปด้วยครับ  เห็นไหมครับคุณผู้ฟังเพียงการดูแลสุกรอุ้มท้องในหน้าร้อนไม่ดีเพียงไม่กี่วันก่อนคลอด สามารถที่จะส่งผลเสียตามมามากมาย แต่อย่างไรก็ตามนะครับ อาจารย์ สมโภชน์  ก็ให้คำแนะนำไว้ว่า ยังไงแล้วสุกรหน้าร้อนก็ยังเลี้ยงง่าย  รองลงมาจากหน้าหนาวและง่ายกว่าหน้าฝนด้วยครับ เพราะในสภาพการเลี้ยงแบบเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนปิดหรือโรงเรือนเปิดก็ตาม การลดความร้อนด้วยการอาบน้ำก็ยังคงใช้ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวันนี้หรือในอนาคตก็ตาม เพราะน้ำที่สะอาด คือยารักษาโรคได้แทบทุกโรคครับ ไม่ว่าจะเอาไปเป็นน้ำกินหรือน้ำใช้ก็ตามครับ ……คุณผู้ฟังครับ วันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ แล้วพบกับผลงานวิจัยที่น่าสนใจกันอีกในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ