การจัดการวัชพืชในไร่มันสำปะหลัง/วิจารณ์ วิชชุกิจ

 

เรื่อง  การจัดการวัชพืชในไร่มันสำปะหลัง

เมื่อกล่าวถึงพืชไร่ที่นิยมปลูกกันในประเทศไทย นอกจากอ้อยและสับปะรดแล้ว พืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันคงจะหนีไม่พ้นมันสำปะหลัง เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชที่ได้เปรียบพืชไร่อื่นๆ เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ต้องการการดูแลเอาใจใส่น้อย สามารถขึ้นได้ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทนแล้ง และที่สำคัญมีโรคและแมลงน้อย ประเทศไทยมีการปลูกมันสำปะหลังเชิงการค้ามาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี โดยผลผลิตหัวมันสดที่ได้ส่วนหนึ่งจะถูกแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นอาหารคน และใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำกาว อุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งทอ และการทำเอทานอล ซึ่งเป็นส่วนผสมของแก๊สโซออล์เป็นต้น ดังนั้นการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูง ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญสามประการ คือ การเลือกใช้พันธุ์ที่ดี การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน และการควบคุมกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม วัชพืชเป็นปัญหาที่สำคัญและเกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชมากที่สุด ช่วงหน้าเรามาฟังกันว่า มีวิธีการอย่างไรที่จะกำจัดวัชพืชในไร่มันสำปะหลังอย่างได้ผลและประหยัดที่สุด

การปลูกมันสำปะหลังเพื่อให้น้ำหนักหัวดีนั้น ต้องดูเรื่องการเลือกพื้นที่ปลูก ต้องเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขังเพราะจะทำให้หัวมันสำปะหลังเน่า ควรใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดี ที่ทำให้น้ำหนักหัวสูงและเชื้อแป้งในหัวสูง เช่น พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 หรือพันธุ์ระยอง 5 ต้องมีการบำรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยหรือปลูกพืชบำรุงดินเพื่อให้ดินเสื่อมช้ามีการควบคุมหญ้าและทำรุ่นดี และประการสุดท้ายต้องเก็บเกี่ยวที่อายุเหมาะสม มันสำปะหลังส่วนใหญ่นิยมปลูกด้วยท่อนพันธุ์ และมีระยะปลูกค่อนข้างห่างใช้ระยะระหว่างแถว 1 เมตร และระยะระหว่างต้น 1 เมตร เก็บเกี่ยวที่อายุ 8-12 เดือน การเติบโตของมันสำปะหลังในระยะแรกจะช้ามาก  ใบแรกเริ่มคลี่ให้เห็นได้หลังจากปลูกประมาณ 3 สัปดาห์ และสร้างพุ่มใบให้ชนกันจนคลุมพื้นที่ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนหลังจากการปลูก มันสำปะหลังเริ่มเอาอาหารไปเก็บที่ราก ที่เรียกว่า การลงหัว ประมาณเดือนครึ่งถึงสองเดือนหลังจากปลูก และหลังจาก 4 เดือนไปแล้วไม่มีการลงหัวเพิ่ม แต่จะขยายหัวให้ใหญ่ขึ้นจนกระทั่งเก็บเกี่ยวฉะนั้นถ้ามีวัชพืชรบกวนในระยะ 3-4 เดือนแรก จะทำให้การลงหัวไม่ดีทำให้จำนวนหัวต่อต้นลดลง น้ำหนักหัวไม่ดีตามไปด้วย คุณผู้ฟัง เรามารู้จักกับวัชพืชกัน วัชพืช คือ พืชที่เราไม่ต้องการให้ขึ้นในแปลงปลูกพืชของเราเนื่องจากวัชพืชจะแย่งธาตุอาหาร น้ำ อาหารและแสงแดดของพืชที่เราปลูก ซึ่งการแบ่งประเภทของวัชพืชนั้นแบ่งได้สองประเภทดังนี้

ประเภทแรกเป็นวัชพืชที่แบ่งตามอายุของวัชพืช มีสองชนิดด้วยกัน ชนิดแรกคือวัชพืชล้มลุก หมายถึง วัชพืชที่มีอายุปีเดียว ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวงจรชีวิตตั้งแต่งอกจากเมล็ด เจริญเติบโตออกดอกให้ผล และตาย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ฤดู หรือ 1 ปี เท่านั้น วัชพืชพวกนี้จะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เช่น ผักเบี้ย ผักโขม ผักยาง หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก เป็นต้น  วัชพืชที่แบ่งตามอายุชนิดที่สองก็คือ วัชพืชยืนต้น หรือวัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่มีอายุอยู่ได้หลายปี วัชพืชพวกนี้นอกจากจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดแล้ว ยังมีส่วนอื่นๆที่ใช้ขยายพันธุ์ได้อีก เช่น หัว ลำต้นใต้ดิน ราก เหง้า และไหล เป็นต้น ตัวอย่างวัชพืชพวกนี้ได้แก่ หญ้าคา หญ้าขน แห้วหมู หญ้าแพรก หญ้าชันกาด สาบเสือ ไมยราบ เป็นต้น   วัชพืชประเภทที่สองนั้นแบ่งออกตามลักษณะของใบ วัชพืชชนิดแรกคือ วัชพืชใบแคบ โดยทั่วไปจะมีลักษณะใบยาว เส้นใบขนานกับตัวใบ ลำต้นกลมมีข้อ ปล้อง เห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น หญ้าปากควาย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าตีนนก หญ้าขจรจบ  วัชพืชที่แบ่งตามลักษณะของใบอีกชนิดหนึ่งก็คือวัชพืชใบกว้าง ใบจะมีลักษณะกว้างมากกว่าแคบ ตัวใบอาจมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปกลม รูปแฉก เส้นใบจะสานกันเป็นร่างแห ตัวอย่าง เช่น ผักเบี้ย ผักโขมหนาม ผักเสี้ยนผี สาบเสือ ไมยราบ

ผศ.ดร.วิจารณ์  วิชชุกิจ จากภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัย และทดลองปฏิบัติงานในภาคสนามและในไร่เกษตรกรนับสิบปี   ซึ่งวิธีการการจัดการวัชพืชในไร่มันสำปะหลังมีหลายแบบด้วยกัน แบบแรกคือการควบคุมวัชพืชด้วยการทำรุ่น การทำรุ่นนั้นหมายถึงการกำจัดวัชพืชโดยการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น จอบ หรือคราด ซึ่งมี 3 วิธีด้วยกัน

วิธีแรกคือเมื่อเราปลูกมันสำปะหลังไปแล้ว ควรจะเริ่มทำรุ่นครั้งแรกให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยให้วัชพืชขึ้นแข่งนานขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลง ในฤดูฝนควรจะเริ่มกำจัดวัชพืชที่ 15 วันหลังจากปลูก และจะทำไปจนถึง 120 วัน หลังจากนั้นพุ่มใบมันสำปะหลังจะชนกันคลุมพื้นที่ได้หมด แต่ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจจะต้องยืดเวลาของการทำรุ่น ขึ้นอยู่กับแรงงาน จำนวนหรือความหนาแน่นของวัชพืชและสภาพแวดล้อม เช่น ปริมาณฝน การทำรุ่น  เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังไม่มากนัก สามารถใช้แรงงานในครอบครัว ซึ่งควรเริ่มทำครั้งแรกภายใน 1 เดือน เมื่อทำรุ่นเสร็จแล้วจึงใส่ปุ๋ยและทำรุ่นอีก 2 ครั้ง คือ ที่ 60 และ 90 วัน หลังจากนั้นพุ่มใบมันสำปะหลังจะชนกันคลุมพื้นที่ได้หมด วัชพืชจะขึ้นรบกวนได้ยาก

วิธีที่สองคือการใช้แรงงานสัตว์ โดยใช้วัวหรือควาย ติดไถหัวหมูไถดินระหว่างแถวมันสำปะหลัง เรียกว่า การแทงร่อง หรือเดี่ยวร่อง ครั้งแรกจะเริ่มไถให้ดินพลิกเข้าหาโคนต้นมัน เรียกว่า เดี่ยวเข้า หรือ แทงพนม จะเริ่มหลังจากปลูกประมาณ 15 วัน ซึ่งต้นวัชพืชยังเล็ก ขี้ไถจะกลบวัชพืชได้หมด หลังจากนั้นอีก 30 วัน จะใช้ไถอีกครั้ง คราวนี้จะให้ขี้ไถออกจากโคนต้น เรียกว่า การเดี่ยวออก หรือแทงผ่า และใช้จอบถากวัชพืชระหว่างแถวมันอีก ซึ่งจะเหลือพื้นที่ที่จะต้องถากเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น  ครั้งที่ 3 เมื่อมันสำปะหลังอายุ 3-4 เดือน ต้นโตพุ่มใบชนกันไม่สะดวกจะใช้แรงงานสัตว์เพราะจะทำให้กิ่งหักหรือกระทบกระเทือนหัวมันได้ จึงจำเป็นต้องใช้จอบถากแทน

วิธีที่สามคือการใช้เครื่องจักร พรวนระหว่างร่อง จะทำได้ขณะมันสำปะหลังยังเล็ก อายุประมาณ 1-2 เดือนหลังปลูก  เป็นเครื่องพรวนดินติดรถไถเดินตามหรือรถแทรกเตอร์ พรวนดินระหว่างแถวมันและใช้จอบถากบริเวณใกล้ๆต้นมัน โดยจะลดพื้นที่การถากหญ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามันสำปะหลังโตจะไม่สามารถกระทำได้เพราะจะกระทบกระเทือนต่อการลงหัวและอาจทำให้กิ่งฉีกหักง่าย  การใช้เครื่องพรวนดินระหว่างแถวนั้น ควรจะขยายแถวมันสำปะหลังให้กว้างขึ้น และลดระยะระหว่างต้นลง เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ เช่น การใช้เครื่องพรวนดินติดท้ายแทรคเตอร์ อาจจะใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 75-80 เซนติเมตร ระหว่างแถว 1.10-1.20 เมตร แทนระยะปลูก ระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 1 เมตร

ต่อไปเป็นรูปแบบของการควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมี  การควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีนั้นจะเป็นการใช้สารเคมีที่จำแนกตามระยะเวลาการใช้สารได้ 2 ประเภทได้แก่

การใช้สารเคมีคุมวัชพืชแบบก่อนงอก หรือบางทีเรียกว่าสารคุมหรือยาคุม  หมายถึงการใช้สารเคมีฉีดพ่นทันทีที่ปลูกมันสำปะหลังเสร็จ หรือไม่เกิน 3 วัน ก่อนที่วัชพืชและมันจะงอก การใช้สารเคมีแบบนี้ สามารถคุมวัชพืชได้นาน 2 เดือนถึง 2 เดือนครึ่ง แต่การใช้ยังไม่แพร่หลายมากนักเนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้หลายประการ

ข้อจำกัดในการใช้สารเคมีแบบก่อนงอก คือต้องทราบว่าชนิดของสารเคมีนั้นสามารถใช้ได้กับมันสำปะหลังหรือไม่ ขณะพ่นสารเคมีดินต้องมีความชื้นเพียงพอ เพื่อให้สารเคมีกระจายครอบคลุมเต็มพื้นที่ และซึมลึกลงไปในดินประมาณครึ่งนิ้วเพื่อทำลายเมล็ดวัชพืชที่กำลังจะงอก  อัตราสารเคมีที่ใช้นั้น ต้องใช้อัตราตามคำแนะนำ เพราะถ้าใช้มากเกินไปมันสำปะหลังจะได้รับพิษ แต่ถ้าใช้น้อยเกินไปก็ไม่สามารถที่จะคุมวัชพืชได้ อัตราที่ใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของดิน ถ้าเป็นดินทรายจะใช้อัตราต่ำ ดินเหนียวจะใช้อัตราสูง  การใช้สารคุมจะต้องใช้ปริมาณน้ำที่จะใช้ผสมสารต่อพื้นที่สูง สารเคมีที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะระบุอัตราการใช้และปริมาณน้ำที่จะใช้ต่อพื้นที่ด้วย เช่น สารอะลาคลอร์ ใช้อัตรา 500-750 ซีซี ใช้น้ำ 80 ลิตรต่อไร่ หมายความว่า ถ้าเป็นดินทรายจะใช้สาร 500 ซีซี แต่ถ้าเป็นดินเหนียวจะใช้สาร 750 ซีซี ผสมน้ำ 80 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่พอดี สารคุมจะควบคุมวัชพืชได้เฉพาะวัชพืชที่กำลังงอกจากเมล็ดเท่านั้น ฉะนั้นควรมีการเตรียมดินให้ละเอียดไม่ให้มีเศษซากหรือต้นวัชพืชพวกที่อายุข้ามปีหลงเหลืออยู่ ซึ่งสารคุมไม่สามารถทำลายได้ และที่สำคัญสารคุมไม่สามารถควบคุมวัชพืชทุกชนิดได้ ทำให้วัชพืชบางชนิดขึ้นได้หลังการใช้สาร ถ้าใช้สารนั้นบ่อยๆวัชพืชที่หลงเหลืออยู่ก็จะแพร่กระจายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น วิธีแก้ไขก็คือ อย่าใช้สารคุมอย่างเดียวกันเป็นเวลานานๆติดต่อกัน ควรมีการใช้สารอย่างอื่นสลับกันบ้าง เพื่อป้องกันการดื้อยาของวัชพืช

การใช้สารอะลาคลอร์หรือเมโทลาคลอร์ จะใช้ได้อย่างปลอดภัยในมันสำปะหลัง แม้ว่าจะใช้อัตราสูงกว่าที่แนะนำ แต่จะควบคุมวัชพืชได้ดีฉพาะวัชพืชใบแคบ ส่วนสารไดยูรอนและสารออกซี่ฟลูออเฟนนั้นควบคุมวัชพืชได้ดีทั้งสองจำพวก แต่ถ้าใช้อัตราสูงเกินไปจะเป็นพิษต่อมันสำปะหลัง ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อมันสำปะหลังและสามารถควบคุมวัชพืชได้ดี จึงควรใช้สารผสม 2 ชนิด และลดอัตราการใช้ลง เช่น ใช้สารอะลาคลอร์ หรือ เมโทลาคลอร์อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 300 ซีซี ผสมไดยูรอนอัตรา 100 กรัม ผสมน้ำ 80 ลิตร แล้วฉีดพ่นให้ทั่วพื้นที่ 1 ไร่ ชื่อการค้าของสารอะลาคลอร์ก็มี แลสโซ่  แลนเซอร์  อะลาคลอร์  คาล่าร์ เป็นต้น ชื่อการค้าของสารเมโทลาคลอร์ก็คือ ดูอัล  เมโทลาคลอร์  ส่วนไดยูรอนนั้นก็มี คาร์เมก ไดยูรอน ซูรอน เป็นต้น

การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการใช้สารเคมีควบคุมพืชแบบหลังงอก บางทีเรียกว่า ยาฆ่าหญ้า สารเคมีแบบนี้แบ่งตามลักษณะที่สารเข้าไปฆ่าวัชพืชได้ 2 แบบ  แบบแรกคือแบบสัมผัส หมายถึง สารที่มีผลในการทำลายหรือฆ่าพืชเฉพาะส่วนที่ถูกสัมผัสเท่านั้น เช่น สารพาราขวัทหรือกรัมม็อกโซน ซึ่งวัชพืชจะตายเฉพาะส่วนที่ถูกสารเท่านั้น  แบบที่สองคือแบบดูดซึม หมายถึง เมื่อเราพ่นสารไปบนต้นวัชพืชแล้ว พืชจะดูดสารนั้นเข้าไป แล้วสารจะไหลไปยังส่วนต่างๆของพืช เช่น ที่ยอดและราก ทำให้พืชที่ได้รับสารนั้นตายทั้งต้น เช่น สารไกลโฟเสทหรือราวด์อัพ

การใช้สารฆ่าวัชพืชหลังจากวัชพืชงอกไปแล้วนั้น มีข้อควรระวังอยู่หลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการฉีดพ่นต้องระวังอย่าให้โดนต้นหรือใบมันสำปะหลังควรฉีดพ่นในขณะที่วัชพืชยังมีขนาดเล็ก ยังไม่ออกดอก ซึ่งจะทำลายได้ง่าย ควรใช้สารฆ่าวัชพืชเมื่อมันสำปะหลังมีอายุมากกว่า 4 เดือนแล้วหรือมีลำต้นสูงเกิน 70 เซนติเมตร การฉีดพ่นควรฉีดพ่นสารขณะลมสงบ เพื่อป้องกันละอองสารปลิวไปถูกพืชข้างเคียง ถ้าเป็นสารชนิดดูดซึม จะต้องมีระยะปลอดฝนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นสารชนิดสัมผัสระยะปลอดฝนอาจเพียง 30  นาที การผสมสารนั้นควรใช้น้ำสะอาดมาผสม อย่าให้สารเคมีถูกผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีแผลเพราะจะทำให้แผลรักษาหายยาก กลายเป็นแผลเรื้อรัง ในระหว่างการฉีดพ่นควรสวมรองเท้าบู๊ทยางทุกครั้ง และข้อควรจำในการควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีนั้น ทุกครั้งก่อนใช้สารควบคุมวัชพืชควรอ่านรายละเอียดว่าใช้กับพืชที่เราปลูก เช่น มันสำปะหลังได้หรือไม่ และจำเป็นต้องทราบว่าสารเคมีนั้นเป็นยาคุมหรือยาฆ่า หากสารเคมีที่ใช้เป็นสารเคมีแบบใช้ก่อนงอกต้องฉีดพ่นทันทีก่อนวัชพืชงอก และถ้าหากเป็นสารเคมีแบบหลังงอก ให้ฉีดพ่นทางใบเมื่อวัชพืชงอกขึ้นมาแล้ว  จากนั้นต้องดูว่าสารเคมีที่จะใช้นั้นเป็นสารเคมีแบบเลือกทำลายหรือไม่เลือกทำลาย แบบเลือกทำลายก็คือสารเคมีที่เลือกทำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้างหรือวัชพืชใบแคบ และทำลายพืชปลูกบางชนิด ส่วนสารเคมีแบบไม่เลือกทำลายนั้นสามารถทำลายวัชพืชได้ทุกชนิดรวมทั้งทำลายพืชปลูกได้ทุกชนิดด้วย

เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก.
โทรศัพท์ 0-2561-1474