รายการวิทยุ เรื่อง เทคนิคการผลัดขนในไก่ไข่/นิรัตน์ กองรัตนานันท์

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่9 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558
เรื่อง เทคนิคการผลัดขนในไก่ไข่
บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก.แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมี

กระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

เจอกันอีกแล้วนะครับ วันนี้กระผมมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจมากๆมาฝากครับ เป็นผลงานวิจัยเรื่อง “เทคนิคการผลัดขนไก่ไข่” ผลงานของ รศ.นิรัตน์ กองรัตนานันท์ ท่านสังกัดอยู่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขนนี่เองครับ

คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า อาชีพการเกษตรในประเทศไทยนี้ ยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเลี้ยงไก่ไข่เป็นกลุ่มอาชีพหนึ่งของอาชีพภาคการเกษตรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้เลยครับ ซึ่งในบางสถานการณ์เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาวิกฤตขาดความต่อเนื่องในการจัดหาจัดซื้อไก่ทดแทนสำหรับผลัดเปลี่ยนไก่แก่ที่ผ่านการให้ผลผลิตไข่ครบปีซึ่งจำเป็นต้องจำหน่ายเป็นไก่แก่ปลดระวางนั้นเอง นอกจากนี้เกษตรกรอาจมีความจำเป็นบางอย่างที่ไม่สามารถจำหน่ายไก่แก่ปลดระวางออกจากฟาร์มได้ ดังนั้นนะครับหากว่ามีเทคนิคการจัดการฟาร์มที่สามารถยืดอายุการให้ผลผลิตไข่ของแม่ไก่แก่ภายในฟาร์มออกไปได้อีกโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์ก็จะนับได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมากเลยทีเดียวครับซึ่งในโครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาวิจัยค้นคว้าหาวิธีการจัดการฟาร์มไก่ไข่เพื่อยืดอายุการให้ผลผลิตไข่ของไก่แก่ปลดระวางหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งนั่นคือ การรีไซเคิลแม่ไก่ที่ผ่านการให้ผลผลิตไข่ครบหนึ่งปีแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ฟังดูก็คล้ายๆกับการทำให้แม่ไก่ที่มีอายุมากกลับมาเป็นไก่สาวใหม่อีกรอบหนึ่ง ฟังไม่ผิดหรอกครับทางคณะผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานวิจัยในครั้งนี้คงจะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในการที่จะนำไปปรับประยุกต์ใช้ในฟาร์มเพื่อใช้แก้ปัญหาวิกฤตในบางสถานการณ์ได้รวมทั้งผู้ที่สนใจโดยทั่วไปด้วยครับ

-เพลงคั่นรายการ-

เรามาเริ่มกันเลยนะครับ ก่อนอื่นเลยในช่วงต้นปีพ.ศ.2555 ได้เกิดวิกฤตขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศของเราพอสมควรครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ วิกฤตขาดแคลนไก่ไข่ โดยส่งผลกระทบทำให้ไข่และลูกไก่มีราคาแพงสร้างความเดือดร้อนในวงกว้างให้กับทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ สาเหตุของปัญหาเกิดจากนโยบายจำกัดปริมาณการนำเข้าไก่พ่อแม่พันธุ์ของภาครัฐจึงส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตลูกไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการในการเลี้ยงสำหรับการผลิตไข่เพื่อการบริโภคของประชากรทั้งประเทศนั่นเองและยังมีข้อจำกัดของการเลี้ยงไก่ไข่อีก นั่นคือ อายุการให้ผลผลิตของแม่ไก่ โดยปกติหลังจากที่แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 1 ปีแล้วจะถูกปลดจำหน่ายเป็นไก่แก่ปลดระวาง (spent hen) เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมจัดซื้อลูกไก่หรือไก่สาวทดแทน (replacement) รุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยงทดแทนฝูงแม่ไก่ที่ถูกปลดออกไปซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับสภาวะวิกฤตความผันผวนของราคาไข่และลูกไก่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากมีเทคนิคการจัดการฟาร์มที่เกษตรกรสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ของแม่ไก่ออกไปได้อีกจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่งนั่นเองล่ะครับคุณผู้ฟัง

คุณผู้ฟังครับการผลัดขนของไก่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยปกติสัตว์ปีกจะมีการผลัดขนปีละหนึ่งครั้งโดยมีการหลุดร่วงของขนชุดเก่าและมีขนชุดใหม่เจริญขึ้นมาแทนที่ ในช่วงระยะที่สัตว์ปีกเพศเมียกำลังผลัดขนอวัยวะสืบพันธุ์จะเกิดการฝ่อ (atresia) ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่กันไปพร้อมๆ กับการหยุดไข่ ไก่ไข่สายพันธุ์ลูกผสมทางการค้าที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปตามฟาร์มนี้ หลังจากที่ให้ผลผลิตไข่กันอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานานประมาณ 1 ปี จะมีพฤติกรรมผลัดขนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่เป็นการผลัดขนที่เกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอทั้งฝูง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการผลัดขนนานถึง 4 เดือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตไข่ของฝูงไก่ลดลงทำให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปลดไก่ออกจากฟาร์ม เพื่อจำหน่ายเป็นไก่แก่ปลดระวาง

คุณผู้ฟังครับในต่างประเทศเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการกระตุ้นแม่ไก่ที่มีอายุมากให้ผลัดขน เป็นวิธีการจัดการฟาร์มที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้สำหรับยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ของแม่ไก่ออกไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ให้นานมากขึ้นแล้ว ยังมีผลดีในด้านของการปรับปรุงคุณภาพเปลือกไข่ และคุณภาพของไข่ขาวอีกด้วย

 -เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ วิธีกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปคือ การอดอาหารไก่ การอดน้ำ หรืออาจใช้ทั้งวิธีการอดอาหารและอดน้ำร่วมกัน เพื่อเร่งให้ได้ผลเร็วขึ้น พร้อมๆ กับมีการลดจำนวนชั่วโมงแสงที่สัตว์ได้รับต่อวันให้ลดลงเหลือเท่ากับหรืออาจน้อยกว่าความยาวของแสงตามธรรมชาติ การอดอาหารหรืออดน้ำไก่สามารถกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีอดอาหารไก่นานติดต่อกันประมาณ 10 ถึง 14 วันเพื่อกระตุ้นให้ไก่เกิดความเครียด หยุดไข่และมีการผลัดขน หลังจากผลัดขนเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ แม่ไก่จะเริ่มกลับมาให้ผลผลิตไข่ในรอบใหม่คล้ายๆ กับไก่สาวที่เพิ่งเริ่มให้ผลผลิตไข่

อย่างไรก็ตามผลการวิจัยของนักวิชาการหลายท่านบ่งชี้ว่าการกระตุ้นการผลัดขนโดยวิธีการอดอาหารมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และคุณภาพของกระดูกของไก่ สังเกตพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณผนังลำไส้ของไก่กลุ่มที่ถูกอดอาหารโดยพบอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ กระตุ้นไก่ไข่ให้ผลัดขนโดยการอดอาหารไก่นานติดต่อกัน 10 วัน พบว่าความแข็งของกระดูกทีเบีย (tibia) ของไก่กลุ่มที่ถูกอดอาหารมีค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไก่กลุ่มควบคุม การกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่โดยวิธีการอดอาหารจึงถูกรณรงค์ต่อต้านอย่างรุนแรงโดยกลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสัตว์เนื่องจากการอดอาหารสัตว์เป็นวิธีการปฏิบัติต่อสัตว์ที่ขัดต่อหลักศีลธรรมและหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) นั่นเองครับ ดังนั้นเราจึงมีความพยายามในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อหาวิธีทางเลือกทดแทนวิธีการอดอาหาร ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการให้ไก่ได้รับอาหารที่มีการปรับเปลี่ยนสมดุลของแร่ธาตุบางชนิด เช่นการให้อาหารที่มีความเข้มข้นของแร่ธาตุสังกะสีในระดับที่สูงมาก หรือการให้อาหารที่มีระดับความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมต่ำ การให้อาหารที่มีระดับแคลเซียมต่ำ หรือการให้อาหารที่มีปริมาณเยื่อใยสูงโดยมีระดับพลังงานต่ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้อาหารสูตรผลัดขนที่ประกอบด้วยอาหารพื้นฐาน หรือการใช้วัสดุผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวโพด เมื่อเปรียบเทียบการกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่โดยวิธีการอดอาหารกับวิธีไม่อดอาหารโดยให้ไก่กินอาหารสูตรผลัดขนที่ประกอบด้วยอัลฟัลฟ่า (alfalfa) เป็นส่วนประกอบหลักรายงานว่าเปอร์เซ็นต์เถ้าในกระดูก tibia  ของไก่กลุ่มที่ได้รับอาหารสูตรผลัดขน alfalfa มีแนวโน้มสูงกว่าของไก่กลุ่มที่ถูกอดอาหารในขณะที่วิธีการกระตุ้นผลัดขนทั้งสองวิธีมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันครับ

ส่วนโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 9 สัปดาห์ ระยะเวลาของโปรแกรมที่นานขึ้นมีผลต่อการปรับปรุงผลผลิตไข่และคุณภาพไข่ในช่วงหลังการผลัดขน อย่างไรก็ตามการให้สัตว์อยู่ในสภาพที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ได้ ดังนั้นการทดลองครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนที่ใช้ระยะเวลาในช่วงสั้นๆ ที่มีต่อการฝ่อของอวัยวะสืบพันธุ์ ค่าทางโลหิตวิทยา พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อผนังลำไส้ คุณภาพกระดูก รวมทั้งสมรรถภาพการให้ผลผลิตไข่และคุณภาพไข่หลังการผลัดขนในไก่ไข่สายพันธุ์ลูกผสมทางการค้า โดยเปรียบเทียบการใช้อาหารสูตรผลัดขนที่ประกอบด้วยอาหารพื้นฐานล้วนๆ ที่แตกต่างกัน 4 ชนิดได้แก่ ปลายข้าว รำละเอียด ข้าวโพดบด และมันสำปะหลังบด ครับ

-เพลงคั่นรายการ-

จากผลการทดลองพบว่าอาหารผลัดขนทั้ง 4 สูตรที่ใช้ในโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนของการทดลองครั้งนี้สามารถกระตุ้นให้แม่ไก่เกิดการผลัดขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังเกตได้จากเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนผลผลิตไข่ของไก่ทดลองทั้ง 4 กลุ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการขาดแคลเซียมของไก่ในช่วงระยะที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขน เนื่องจากอาหารผลัดขนทั้ง 4 สูตรมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบในระดับต่ำนั่นเองครับ

คุณผู้ฟังครับการที่ไก่ขาดแคลเซียมมีผลทำให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้ามีการตอบสนองต่อ LH-releasing hormone ลดลงส่งผลกระทบต่อการผลิต/การหลั่ง LH และกระบวนการตกไข่ นอกจากนี้แคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) ซึ่งในสัตว์ปีกฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการผลิตและการหลั่งของฮอร์โมน LH ที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 7 ของการให้อาหารผลัดขนผลผลิตไข่ของไก่กลุ่มที่ได้รับอาหารผลัดขนสูตรมันสำปะหลังบดมีค่าเท่ากับ 0 เปอร์เซ็นต์ ต่อจากนั้นแม่ไก่หยุดไข่ทั้งฝูงอย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดระยะของโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนบ่งชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของการขาดแคลเซียมที่มีต่อกระบวนการตกไข่อย่างชัดเจนนั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมการผลัดขนไก่กลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวลดลงมากที่สุด เป็นผลมาจากการกินอาหารลดลงจึงมีผลทำให้ปริมาณพลังงานที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การขาดพลังงานอย่างต่อเนื่องจึงส่งผลทำให้น้ำหนักตัวของแม่ไก่ลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ถึง 4 หลังจากที่แม่ไก่กลับมาได้รับอาหารไก่ไข่และการกระตุ้นแสงพบว่าปริมาณอาหารที่กินของไก่กลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของแม่ไก่เพื่อชดเชยกับการที่ได้รับพลังงานไม่เพียงพอในช่วง 14 วันที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนครับ

เมื่อศึกษาการฝ่อของรังไข่และท่อนำไข่พบว่าเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนน้ำหนักรังไข่ของไก่ทั้ง 4 กลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนมีค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไก่กลุ่มมันสำปะหลังบด การฝ่อของรังไข่ที่สังเกตพบในไก่ทดลองทั้ง 4 กลุ่มเป็นผลมาจากปัจจัยร่วมกันระหว่างสภาวะการขาดแคลเซียมดังที่ได้กล่าวมาแล้วกับการลดลงของชั่วโมงแสงในช่วงของโปรแกรมการผลัดขน ในสัตว์ปีกการเปลี่ยนแปลงของความยาวแสง (photoperiod) มีผลกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนวงจรที่ควบคุมการหลับการตื่น ซึ่งเป็นวงจรที่ถูกควบคุมโดยการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อโดยจะไปมีผลกระตุ้นกระบวนการทางสรีรวิทยาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบสืบพันธุ์และการผลัดขน

ในการทดลองครั้งนี้ไก่ทดลองทั้ง 4 กลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนนอกจากจะได้รับจำนวนชั่วโมงแสงลดลงจากวันละ 16 ชั่วโมงเหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมงแล้วยังได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ลดลงอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่กลุ่มมันสำปะหลังบด ดังนั้นจึงนับได้ว่าการขาดแคลเซียมและการได้รับความยาวแสงลดลงเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์ (gonadotropins) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเป็นสาเหตุชักนำให้กระเปาะไข่ที่อยู่ในระดับชั้นของการเจริญพัฒนา (follicular hierarchy) เกิดการฝ่อสารไข่แดงถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย เมื่อกระเปาะไข่เกิดการฝ่อจึงมีผลทำให้รังไข่เกิดการฝ่อและมีน้ำหนักลดลง

จากการทดลองในครั้งนี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักท่อนำไข่เป็นไปในทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักรังไข่ อธิบายได้ว่าหลังจากที่รังไข่เกิดการฝ่อระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในกระแสเลือดจะมีค่าลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลทำให้เกิดการฝ่อของท่อนำไข่

เป็นที่แน่ชัดว่าโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ไม่มีผลต่อน้ำหนักอวัยวะภายในอันได้แก่ หัวใจ ตับ กระเพาะจริง ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และไตของไก่ทดลองแต่อย่างใด

เป็นที่แน่ชัดว่าโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของกระดูกของไก่ทดลองแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นความยาวของกระดูก humerus น้ำหนักและความยาวรวมทั้งเปอร์เซ็นต์เถ้าในกระดูก femur หรือน้ำหนักและความยาวของกระดูก tibia รวมทั้งความแข็งของกระดูก tibia (Table 8)

หลังจากที่ไก่ออกจากโปรแกรมการผลัดขนและกลับมาได้รับอาหารไก่ไข่สูตรระยะไข่ควบคู่ไปกับการกระตุ้นแสงด้วยโปรแกรมแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน พบว่าไก่กลุ่มที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนด้วยอาหารมันสำปะหลังบดกลับมาให้ผลผลิตไข่ในอัตราการไข่ที่ช้ากว่าไก่ที่ถูกกระตุ้นให้ผลัดขนอีก 3 กลุ่มที่เหลืออย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามผลผลิตไข่สะสมของไก่ทั้ง 4 กลุ่มตลอดช่วงระยะเวลา 20 สัปดาห์ของการให้ผลผลิตในรอบใหม่นี้มีค่าไม่แตกต่างกัน

-เพลงคั่นรายการ-

สรุปและข้อเสนอแนะ

ผลการทดลองบ่งชี้ว่ามันสำปะหลังบดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสูตรผลัดขนในโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลกระทบต่อสภาวะความเครียด คุณภาพกระดูก พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อผนังลำไส้ หรืออัตราการตาย อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในขั้นต่อไปเพื่อปรับปรุงเทคนิคของโปรแกรมการผลัดขนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเพิ่มปรับปรุงอัตราการให้ผลผลิตไข่และคุณภาพเปลือกไข่หลังการผลัดขน และนักวิจัยเองแนะนำว่าควรศึกษาเปรียบเทียบกับไก่กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ถูกรบกวนหรือเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความเครียดชักนำให้ไก่เกิดการผลัดขนได้ นอกจากนี้อายุของไก่ทดลองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากไก่บางตัวที่มีอายุมากเกินไปอาจมีการผลัดขนโดยธรรมชาติเกิดขึ้นบ้างแล้วซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจมีผลรบกวนอิทธิพลของปัจจัยการทดลองเองครับ

คุณผู้ฟังครับ สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ