รายการวิทยุ เรื่อง เลี้ยงผึ้งเพื่อการประกอบอาชีพ

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่28 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรื่อง เลี้ยงผึ้งเพื่อการประกอบอาชีพ

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

 ………………………………………………..

 -เพลงประจำรายการ-

               สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่าน วันนี้มาพบกับรายการ  “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.” ทางวิทยุ มก. แห่งนี้เป็นประจำทุกวันเสาร์  รายการนี้ผลิตโดย  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ  และสำหรับในวันนี้กระผมขอเสนอ เรื่อง  “ คุณภาพน้ำกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”                                                                               

               ผึ้งในสกุล “เอพิส”  ซึ่งเป็นภมรที่เก็บสะสมน้ำหวานปริมาณค่อนข้างมากในรัง  มีอยู่ทั้งหมด  4 ชนิด   ผึ้ง  3  ชนิดแรกได้แก่  ผึ้งมิ้ม    ผึ้งหลวงและผึ้งโพรง   ซึ่งเป็นผึ้งพื้นเมืองในแถบเอเซียตอนใต้  ส่วนผึ้งชนิดที่ 4 คือ  ผึ้งพันธุ์เป็นผึ้งพื้นเมืองของทวีปยุโรปและแอฟริกา  ซึ่งมักนิยมนำไปเลี้ยงเป็นการค้าทั่วไปครับ   

               เรามาทำความรู้จักกับผึ้งชนิดแรกกันนะครับนั่นคือ “ผึ้งมิ้ม” เป็นผึ้งที่สร้างรังประกอบด้วยรวงเพียงรวงเดียว    รูปทรงกลมหรือรี  ขนาดรังไม่ใหญ่นักประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางรวงส่วนใหญ่ไม่เกิน  20  เซนติเมตร   ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้วผึ้งมิ้มเป็นผึ้งที่มนุษย์ไม่สามารถนำมาให้สร้างรวงในภาชนะหรือในหีบเลี้ยงที่ต้องการได้   มีลักษณะสำคัญของการที่ผึ้งมิ้มจะต้องสร้างรวงในที่โล่ง  บวกกับผลผลิตน้ำผึ้งแต่ละรวงมีน้อย   ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน  400  กรัมจึงทำให้ผึ้งมิ้มไม่ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งนั่นเองครับ

               คุณผู้ฟังครับ ผึ้งอีกชนิดหนึ่งก็ คือ  “ผึ้งหลวง” คงจะได้ยินชื่อกันบ่อยๆนะครับ เป็นผึ้งพื้นเมืองอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทางคาบสมุทรอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ผึ้งหลวงมีลักษณะของการมีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้งมิ้มครับ นั่นคือจะสร้างรังประกอบด้วยรวงเพียงรวงเดียวห้อยจากกิ่งไม้ หน้าผาหรือจากชายคาบ้าน รวงของผึ้งหลวงมีขนาดใหญ่บางครั้งกว้างเกินกว่า  1  เมตร ซึ่งผิดกับรวงของผึ้งมิ้มที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นผึ้งหลวงจึงเป็นผึ้งอีกชนิดที่เราไม่สามารถนำมาเลี้ยงในภาชนะ หรือในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งได้

               ผึ้งชนิดที่  3  นั่นคือ  “ผึ้งโพรง”     เป็นผึ้งที่มีแนวทางของวิวัฒนาการที่แตกต่างไปจากผึ้งมึ้มและผึ้งหลวงโดยที่ผึ้งชนิดนี้ในธรรมชาติจะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนกันเป็นหลืบ ๆ  อยู่ในโพรงไม้หรือโพรงหิน  ที่มีทางเข้าออกค่อนข้างเล็กแต่ภายในมีที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้  รังของผึ้งโพรงรังหนึ่ง ๆ  มีขนาดรังไม่ใหญ่มากนัก  ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่เก็บสะสมน้ำผึ้งไว้ในรังในปริมาณไม่มากนักประมาณ  2 – 10  กิโลกรัมหรือน้อยกว่า   ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีอัตราการแยกรังค่อนข้างบ่อยครั้ง  และมีพฤติกรรมที่มักจะทิ้งรังไปหาที่อยู่ใหม่ถ้าในบริเวณตำแหน่งที่ตั้งของรังเดิมมีสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  เช่น  อาหารขาดแคลน  มีโรคหรือศัตรูรบกวน

               ด้วยสาเหตุที่ผึ้งโพรงให้ผลผลิตน้ำผึ้งต่อรังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผึ้งพันธุ์  ประกอบกับมีพฤติกรรมในการแยกรังและทิ้งรังในอัตราที่สูงมาก  จึงทำให้หลายๆ ประเทศในเอเซีย   เช่น  จีน  เกาหลี  ญี่ปุ่น  และบางส่วนของอินเดียและปากีสถาน   ได้เปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมผึ้งด้วยการหันไปเลี้ยงผึ้งพันธุ์แทน ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ผลผลิตสูงกว่า และจัดการดูแลเอาใจใส่ได้ง่ายกว่าผึ้งโพรง

               และผึ้งชนิดสุดท้ายที่จะพูดถึง คือ “ผึ้งพันธุ์”          เป็นผึ้งพื้นเมืองของทวีปยุโรปและแอฟริกา  ซึ่งมีพฤติกรรมในการทำรังเช่นเดียวกับผึ้งโพรงของเอเซีย  คือ ทำรังเป็นรวงซ้อนกันเป็นหลืบๆ  อยู่ภายในโพรงไม้ตามธรรมชาติ  ผึ้งพันธุ์ที่ถูกนำไปจากยุโรปไปเลี้ยงอย่างประสบความสำเร็จมีคุณลักษณะที่เด่น คือผึ้งชนิดนี้จะสร้างรังในที่มืด สามารถนำไปเลี้ยงในภาชนะได้ จำนวนประชากรในรังผึ้งค่อนข้างมากในรังผึ้งพันธุ์แต่ละรัง ปกติประมาณ  20,000 – 50,000 ตัว มีพฤติกรรมในการสะสมอาหารจึงสามารถเก็บอาหารได้ในปริมาณมากและมีพฤติกรรมไม่ทิ้งรัง

 -เพลงคั่นรายการ-

               คุณผู้ฟังครับ การที่จะทำการเลี้ยงผึ้งให้ประสบผลสำเร็จนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องรู้จักคุ้นเคยกับข้อมูลที่เกี่ยวกับชีวิตของผึ้งวรรณะต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมและหน้าที่ของผึ้งแต่ละวรรณะภายในสังคม อีกทั้งต้องเข้าใจเรื่องราวของวงจรชีวิตสังคมและปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรังผึ้ง 

               จากการศึกษาสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมผึ้งพบว่ารังผึ้งรังหนึ่งๆ  หรือสังคมหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วย  ผึ้งแม่รัง  ผึ้งงาน  และผึ้งตัวผู้  ซึ่งผึ้งแต่ละประเภทได้แบ่งหน้าที่กันไป ผึ้งแม่รังหรือผึ้งนางพญามีหน้าที่วางไข่ ควบคุมสังคมให้อยู่ในสภาพสมดุลย์ด้วยการผลิตสารเคมีแล้วปล่อยออกไปทั่วบรรยากาศภายในรังผึ้งและผสมพันธุ์

               ผึ้งงานจะมีหน้าที่สร้างและซ่อมแซมรวง ตลอดจนทำความสะอาดรัง  หาอาหาร  ซึ่งได้แก่  เกสรและน้ำหวาน ตลอดถึงการสะสมอาหารและถนอมอาหาร เก็บหาวัสดุอื่น เพื่อใช้ในสังคมยามจำเป็น  ได้แก่ น้ำและยางไม้ ป้อนอาหารให้ผึ้งแม่รัง ผึ้งตัวผู้และตัวอ่อนผึ้ง ป้องกันรัง ถ่ายทอดสารเคมี ที่ได้จากผึ้งแม่รังให้กระจายทั่วรัง ควบคุมอุณหภูมิภายในรังและควบคุมอัตราการวางไข่ของผึ้งแม่รัง  ส่วนผึ้งตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับผึ้งแม่รังที่มาจากรังอื่นกลางอากาศครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

              คุณผู้ฟังครับ ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงในการเลือกสถานที่สำหรับเลี้ยงผึ้งนั้น ก็แบ่งออกเป็น  เรื่องของชนิดและปริมาณของพืชอาหารในท้องที่  คือ  ผึ้งงานจะบินไปดูดน้ำหวานจากต่อมน้ำหวานของดอกไม้หลากหลายชนิดในบริเวณใกล้เคียง  แล้วนำกลับมาสู่รังเพื่อบ่มให้เข้มข้นขึ้นจนกลายเป็นน้ำผึ้งที่เราเห็นนั่นเองครับ ซึ่งก็คือ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทที่ให้พลังงานต่อผึ้งและน้ำตาล เพื่อเสริมสร้างพลังงาน สำหรับเกสรดอกไม้นั้นเป็นหน่วยที่พืชใช้ในการสืบพันธุ์จึงอุดมไปด้วยกรดอมิโน โปรตีน  ไขมัน  มีแร่ธาตุและวิตามินเป็นส่วนประกอบครับ ส่วนเกสรดอกไม้เป็นอาหารที่มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง เพราะรังผึ้งจำเป็นต้องได้รับโปรตีน เพื่อเลี้ยงดูประชากรภายในรังให้มีผึ้งใหม่มาทดแทนสมาชิกเก่าที่ตายไปแล้วนั่นเองครับ

              ดังนั้นบริเวณที่เลี้ยงที่ดีๆนั้น จะต้องเป็นแหล่งที่มีทั้งน้ำหวานและเกสรอย่างเพียงพอเพื่อความอยู่ดีของรังผึ้ง  และเพื่อที่ผึ้งจะได้เก็บสะสมไว้ในรังในปริมาณมากเกินพอในพื้นที่ ซึ่งมีดอกไม้ที่เป็นอาหารของผึ้งออกดอกปริมาณหนาแน่นต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ภายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน พื้นที่นั้นๆก็จะเหมาะกับการเลี้ยงผึ้งมากกว่าบริเวณที่มีพืชออกดอกกระจัดกระจายโดยมีจำนวนดอกน้อยในพื้นที่ภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั่นคือ มีปริมาณอาหารอยู่อย่างไม่หนาแน่นอุดมสมบูรณ์  ทำให้ผึ้งต้องเสียพลังงานในการเก็บอาหารแต่ละเที่ยวบินมากกว่าครับ

              เรามาฟัง ลักษณะของพื้นที่ที่คนเลี้ยงผึ้งต้องการมากที่สุด นั่นคือจะต้องมีพืชอาหารออกดอกหนาแน่น และบานสะพรั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาณาบริเวณเลี้ยงผึ้งที่ดีของโลกนั้นมักจะมีช่วงเวลาที่พืชอาหารผึ้งออกดอกหนาแน่นเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น  โดยทั่วไปจะประมาณ  3 – 4  เดือน  ซึ่งระยะเวลาเพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเก็บผลผลิตน้ำผึ้งจากรังผึ้งได้  ทั้งนี้เพราะผึ้งพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงและมีการสะสมอาหารไว้ภายในรังผึ้งอย่างมากเกินพอ

 -เพลงคั่นรายการ-

               คุณผู้ฟังครับสำหรับเรื่องแหล่งและชนิดของพืชอาหารผึ้ง  คนเลี้ยงผึ้งจะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ในท้องถิ่นที่ตนกำหนดเป็นที่ตั้งรังผึ้ง  และปัจจัยต่าง ๆ  ที่ควรคำนึงถึงแบ่งออกได้เป็นหัวข้อ ๆ ดังนี้  ชนิดของพรรณไม้ที่ให้น้ำหวานและเกสร   รวมถึงระยะเวลาและปัจจัยที่ควบคุมการออกดอกและการบานของไม้แต่ละชนิด  ความหนาแน่นของดอกไม้ต่อพื้นที่ที่จะเกี่ยวข้องถึงประสิทธิภาพในการบินเก็บอาหารของผึ้งงาน  จำนวนผึ้งและรังผึ้งในบริเวณแหล่งอาหาร   ควรจะประเมินสภาพการว่าในอาณาบริเวณรอบ ๆ ลานเลี้ยงผึ้งแต่ละแห่ง  มีปริมาณอาหารที่เพียงพอสำหรับรังผึ้งกี่รังเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการสูงสุด  ระยะห่างระหว่างลานเลี้ยงผึ้งระหว่างคนเลี้ยงผึ้งต่างเจ้าของกัน

               ในเรื่องของสภาพภูมิประเทศ  ก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงผึ้งเช่นกัน  เพราะว่าตำแหน่งที่ตั้งรังผึ้งหรือที่เรียกว่า  “ลานเลี้ยงผึ้ง”   นั้น  นอกจากจะอยู่ในบริเวณหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งอาหารแล้ว  สภาพทำเลที่ตั้งควรจะเป็นลานโล่งแห้ง  สภาพพื้นผิวดินเรียบไม่อับชื้น  ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในตอนเช้ามืดและตอนเย็น  บริเวณรอบ ๆ  ลานเลี้ยงผึ้งควรมีไม้ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันลม  และเป็นแนวบังคับให้ผึ้งที่บินออกจากรังบินตรงขึ้นสูงเหนือยอดไม้ก่อนจึงจะมุ่งไปยังแหล่งอาหาร  เป็นการลดและป้องกันปัญหาผึ้งบินเตี้ย ๆ  ซึ่งอาจบินไปชนและต่อยคนในอาณาบริเวณข้างเคียง  ร่มเงาจากต้นไม้จะช่วยลดรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน    ลานเลี้ยงผึ้งควรเป็นสถานที่ลับตาคนและไม่อยู่ใกล้ชุมชนจนเกินไปจนผึ้งไปก่อนความรำคาญในชุมชนเขตนั้น    นอกจากนั้นควรจะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำจืดสะอาดที่ผึ้งจะบินไปขนน้ำมาใช้ในวันที่มีอากาศร้อน    

               และที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งก็  คือ  เรื่องของศัตรูในธรรมชาติ  ซึ่งบริเวณลานเลี้ยงผึ้งควรจะเป็นแหล่งที่ปลอดภัยจากศัตรูธรรมชาติที่จะเข้ารบกวนทำอันตรายรังผึ้ง  ศัตรูธรรมชาติที่ควรระมัดระวังไม่ให้เข้าไปรบกวนรังผึ้งหรือกินผึ้ง  จนประชากรลดน้อยหรืออ่อนแอลงและทำลายรังผึ้งทั้งรัง   นับตั้งแต่แมลงด้วยกันเอง  เช่น  มด  ต่อ  แตน  สัตว์เลื้อยคลานประเภทตุ๊กแก  จิ้งจก  จิ้งเหลน  กิ้งก่า  สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ  ได้แก่  กบ  คางคก  นอกจากนี้แล้วยังมีนก  เหยี่ยว  สัตว์เลือดอุ่น  นับตั้งแต่กระแต  ลิง  จนถึงขนาดใหญ่  คือ  หมี

               ศัตรูเหล่านี้จะกินตัวเต็มวัย  ตัวอ่อน  น้ำผึ้งและรวงผึ้งเป็นอาหาร  ซึ่งบางชนิดอาจทำลายผึ้งได้ทั้งรังบางชนิดทำให้จำนวนประชากรในรังลดน้อยลงจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลผึ้งให้ปลอดภัยจากสัตว์เหล่านี้เป็นพิเศษ

-เพลงคั่นรายการ-

               คุณผู้ฟังครับสำหรับวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงผึ้งนั้น  ควรเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพดี  ในต่างประเทศนั้นนิยมใช้ไม้สนทำหีบเลี้ยงผึ้ง  ซึ่งมีคุณสมบัติคือ  น้ำหนักเบา  แต่คนเลี้ยงผึ้งในภาคเหนือของประเทศไทย และพม่านิยมใช้ไม้สักทำหีบเลี้ยงเพราะมีความคงทนถาวรและไม่ปิดตัว  ภายหลังก็มีบริษัทผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงผึ้งบางราย   พยายามใช้พลาสติกเหนียวแทนไม้แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากคนเลี้ยงผึ้งมืออาชีพ   เพราะว่ารังผึ้งต้องวางอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา  ได้รับความร้อน  ความเย็น    แสงแดดและความชื้น  ขณะที่ไม้มีคุณสมบัติเป็นฉนวน  สามารถยืดหยุ่นรับแรงกระแทกได้ดีพอสมควร  ซึ่งพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแจ้งนาน ๆ  มักจะเปราะกว่าไม้  อีกทั้งไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับไอน้ำที่เกิดจากการหายใจของผึ้งในรัง  ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ภายในรัง  จึงทำให้รังผึ้งพลาสติกชื้นกว่ารังที่ทำด้วยไม้ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผึ้ง

               ส่วนชุดหีบเลี้ยงผึ้งนั้นจะประกอบด้วย   ฐานรัง  หีบมาตรฐานสำหรับวางตัวอ่อน  แผ่นตะแกรงกันผึ้งแม่รัง  หีบสำหรับรวงน้ำผึ้ง  แผ่นฝาชั้นใน   ฝาครอบนอกและคอนหรือกรอบรวง  นอกจากนี้แล้วสิ่งที่จำเป็น สำหรับการเลี้ยงผึ้งได้แก่  ชุดอุปกรณ์เก็บและสกัดน้ำผึ้งจากรวง  ซึ่งชนิดและรูปแบบของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บและสกัดน้ำผึ้งจากรวงนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของงานและความประสงค์ของคนเลี้ยงผึ้ง  ซึ่งก็มีตั้งแต่อุปกรณ์ธรรมดาที่อาจหยิบฉวยหรือดัดแปลงจากสิ่งของที่มีอยู่ในครัวเรือน  โดยใช้แรงคนล้วน ๆ  หรืออุปกรณ์เฉพาะอย่างกึ่งอัตโนมัติหรือแบบอัตโนมัติที่ใช้แรงจากเครื่องยนต์หรือกระแสไฟฟ้าในการเดินเครื่อง

               คุณผู้ฟังครับ  การเก็บน้ำผึ้งจากรังผึ้งนั้น  ลำพังคนเลี้ยงผึ้งที่มีผึ้งอยู่เพียงไม่กี่สิบรังก็อาจใช้อุปกรณ์ที่ง่าย ๆ  ได้แก่  แปลงปัดตัวผึ้งออกจากรวงน้ำผึ้ง   ซึ่งควรจะมีเส้นขนแปลงยาวประมาณ  2.5 – 3  นิ้ว  และอ่อนนุ่มพอสมควรที่จะไม่ทำให้ผึ้งชอกซ้ำ   วิธีใช้ก็คือ คนเลี้ยงผึ้งเปิดสำรวจรังผึ้งดูว่ารวงไหนพร้อมที่จะเก็บได้   โดยสังเกตจากที่ผึ้งงานใช้ไขผึ้งปิดฝาหลอดรวงน้ำผึ้งเต็มทั้งคอน   ก็แสดงว่าน้ำผึ้งนั้นบ่มจนได้ที่แล้ว  ใช้แปลงปัดตัวผึ้งที่เกาะอยู่นบรวงออกเบาๆ  แล้วรีบน้ำรวงเหล่านั้นเก็บไว้ในหีบที่มีฝาปิดมิดชิด  ป้องกันไม่ให้ผึ้งมุดเข้าไปกินน้ำผึ้ง

               ในกรณีที่คนเลี้ยงผึ้งมีรังผึ้งจำนวนมากและอยากที่จะทุ่นแรงงานและเวลา   ก็อาจใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการเก็บได้แก่  ใช้สารเคมีเบนซาลดีไฮด์หรือบิวทีริคแอนไฮโณทาลงบนแผ่นผ้า   ที่ขึงอยู่ระหว่างกรอบไม้วางซ้อนเหนือหีบบนสุดของรังผึ้ง   พร้อมกับเอาฝารังครอบลงอีกชั้นหนึ่ง   เมื่อฝารังซึ่งมีสังกะสีเคลือบผิวอยู่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์   ไอของสารเคมีก็จะระเหยลงสู่ภายในหีบ  ขับไล่ให้ผึ้งลงมารวมกลุ่มกันอยู่ข้างล่าง  คนเลี้ยงผึ้งก็สามารถยกหีบบนที่มีแต่รวงน้ำผึ้งไปทั้งหีบได้

               อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี  คือใช้แผ่นกระดานที่มีประตูกลสอดเข้าไปคั่นระหว่างหีบน้ำผึ้งกับตัวอ่อนในช่วงที่พร้อมจะเก็บน้ำผึ้งได้แล้ว  ประตูกลจะอำนวยให้ผึ้งงานที่ติดอยู่ในหีบน้ำผึ้งมุดออกจากหีบบนไปสู่หีบล่างที่เป็นที่อยู่ตัวอ่อน  แต่ไม่สามารถมุดจากหีบข้างล่างขึ้นสู่หีบน้ำผึ้งได้  เมื่อเวลาผ่านไป  1 – 2  วัน  หีบบนที่เป็นหีบน้ำผึ้งก็จะไม่มีตัวผึ้งหลงเหลืออยู่  คนเลี้ยงผึ้งสามารถยกไปทั้งหีบได้โดยสะดวก

               สำหรับการใช้เครื่องมือไฟฟ้า  หรือเครื่องยนต์ในการเก็บน้ำผึ้งจากรัง  ก็ได้แก่  การใช้เครื่องเป่า  ซึ่งอาจดัดแปลงจากเครื่องดูดฝุ่นที่สลับทิศทางลมเข้าออก  หรือซื้อเครื่องเป่าผึ้งต่างหาก  หรือซื้อเครื่องยนต์ขนาดเล็กดัดแปลงเสริมใบพัดและท่อให้มีลมพุ่งออกจากท่อ  หลักการก็คือยกหีบน้ำผึ้งออกจากรัง  แล้วใช้เครื่องเป่าให้ตัวผึ้งที่เกาะติดอยู่กับรวงผึ้งในหีบหลุดกระเด็นไปกลางอากาศ   ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผึ้งและส่วนใหญ่จะกลับสู่รังได้โดยปลอดภัย  เมื่อเป่าผึ้งออกจากหีบน้ำผึ้งแล้วก็พร้อมที่จะโยกย้ายหีบที่มีรวงน้ำผึ้งอยู่เต็มไปได้

               คุณผู้ฟังครับ  เวลาของรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้ว  พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า  ทางสถานีวิทยุ  มก. แห่งนี้  สำหรับวันนี้  สวัสดีครับ