รายการวิทยุ เรื่อง “การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และปลอดภัยจากไข้หวัดนก”

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เรื่อง  การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และปลอดภัยจากไข้หวัดนก

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 

……………………………………………………………………………………………………..

 

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้กระผมขอเสนอเรื่อง “การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อเพิ่มรายได้และปลอดภัยจากไข้หวัดนก”

ในช่วงหน้าหนาวซึ่งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้คุณผู้ฟังหลายๆ ท่านมีอาการเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ อย่างเช่น ไข้หวัด แพ้อากาศ หรือภูมิแพ้ ได้ง่ายกว่าในฤดูอื่นๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสบางชนิดนั้นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นอยู่ในอากาศสูง ซึ่งนับวันเชื้อโรคเหล่านี้เริ่มที่จะกลายพันธุ์ให้ตัวเองแข็งแรง และต่อต้านต่อยาหรือวัคซีนที่นำมารักษาได้มากขึ้น ผิดกับมนุษย์เราที่นับวันภูมิคุ้มกันในร่างกายเริ่มอ่อนแอลง ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปในร่างกายจนทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ โรคไข้หวัดนก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เชื้อโรคชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาเพียงไม่นานที่จะทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย และส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพาหะของโรคนี้มาจากสัตว์ปีกทุกชนิด ทั้งที่เรานำมารับประทานและนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงครับ หากเราสัมผัสหรือรับประทานสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนกไปแล้ว โอกาสที่เราจะติดเชื้อไข้หวัดนกนั้นมีสูงมาก ซึ่งในปีแรกๆ ที่โรคไข้หวัดนกได้เกิดขึ้น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกหลายๆ ฟาร์มต้องฆ่าสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดนกหมดทั้งฟาร์ม ประชาชนต่างกลัวโรคนี้กันมาก ส่งผลให้การบริโภคสัตว์ปีกโดยเฉพาะเนื้อไก่หยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง เกษตรกรที่เลี้ยงไก่หลายรายต้องขาดทุนกันเป็นจำนวนมากครับ

คุณผู้ฟังครับ เราจะมีวิธีการป้องกันและแก้ไขอย่างไรให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกสามารถเลี้ยงสัตว์ปีกได้อย่างปลอดภัยปราศจากไข้หวัดนก  คุณผู้ฟังสามารถหาคำตอบได้ในช่วงหน้าครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ เมื่อประมาณหลายปีก่อนโรคไข้หวัดนกกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และจากปัญหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา นับว่าสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิต ตลอดจนการส่งออกสัตว์ปีกของประเทศมากมายมหาศาลนับเป็นหมื่นล้าน กระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงออกกฎหมายและมีผลบังคับใช้โดยให้ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกต้องขึ้นทะเบียนมาตรฐานฟาร์มตามที่กำหนดจึงจะสามารถเลี้ยงสัตว์ปีกได้ครับ

แต่คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบหลังบ้านนั้น รัฐบาลยังไม่มีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงทำให้ชาวบ้านไม่กล้าหรือขาดความมั่นใจในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังชะลอตัวในปัจจุบัน  ประกอบกับไก่พื้นเมืองมีราคาดีมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็นโอกาส และทางเลือกที่น่าสนใจของชาวบ้านในการที่จะเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสานได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโดยธรรมชาติไก่พื้นเมืองจะมีความแข็งแรง ทนต่อโรค หากินเองได้ และประกอบกับสภาพภูมิประเทศของไทยที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารธรรมชาติที่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงไก่พื้นเมือง สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ธรรมชาติช่วยเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ทำให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง อีกทั้งยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติอีกด้วยครับ

ด้วยเหตุนี้เอง  คุณสุชาติ สงวนพันธุ์ นักวิชาการเกษตร จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ศึกษาหลักการเพื่อการเลี้ยงไก่พื้นเมืองระบบปิด เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบหลังบ้าน เพื่อเพิ่มรายได้และปลอดภัยจากไข้หวัดนกครับ

คุณผู้ฟังครับ จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่า การที่จะเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประสบความสำเร็จและปลอดจากโรคไข้หวัดนกนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากเกินกว่าความสามารถของชาวบ้านที่เคยเลี้ยงมา เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของรูปแบบการเลี้ยงไก่และเทคนิควิธีการเลี้ยงและพยายามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลผลิตไก่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพตามที่ต้องการ และประการสำคัญคือเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนกกับไก่พื้นเมืองและตัวผู้เลี้ยงเองด้วยครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ รูปแบบการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อเพิ่มรายได้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก เป็นรูปแบบที่อาศัยหลักการของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นมาตรการให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อการค้าต้องปฏิบัติตาม เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก แต่ได้นำมาทำการประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปแบบวิธีการปฏิบัติที่ง่าย เหมาะกับศักยภาพความพร้อมของผู้เลี้ยงและสภาพความเป็นอยู่ของไก่พื้นเมืองแบบเดิมตามธรรมชาติ  ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ ด้วยกันคือ การเลี้ยงไก่ในบริเวณที่กำหนด  การปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ  และการจัดการเลี้ยงดูไก่ที่ถูกต้องและเหมาะสมครับ

สำหรับการที่จะเลี้ยงไก่พื้นเมืองในบริเวณที่กำหนดโดยให้ไก่อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขนั้นต้องมีการกำหนดรูปแบบลักษณะโรงเรือนที่เหมาะสม เนื่องจากธรรมชาติของไก่พื้นเมืองมีนิสัยชอบคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินเอง ซึ่งทำให้ไก่มีความแข็งแรงและมีความทนทานต่อโรค ดังนั้นรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมต่อไก่พื้นเมืองจึงควรเป็นโรงเรือนแบบกึ่งเปิด กึ่งปิด คือ มีโรงเรือนเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่นอนของไก่ในตอนกลางคืน และมีบริเวณพื้นดินรอบนอกโรงเรือนด้วยครับ

ลักษณะโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบกึ่งเปิดกึ่งปิดนั้นขนาดโรงเรือนควรมีความกว้าง คูณยาว อย่างน้อย 4×8 ม. ซึ่งสามารถเลี้ยงไก่พื้นเมืองได้ประมาณ 80-100 ตัว มีการปิดกั้นด้วยลวดตาข่ายหรืออวนเพื่อป้องกันสัตว์อื่นๆ ที่เป็นพาหะของโรคไข้หวัดนก เช่น นก และสัตว์อื่นๆ ที่เป็นศัตรูเข้าไปภายในโรงเรือน เช่น หนู หรืองู หลังคาโรงเรือนอาจมุงด้วยจาก  หญ้าแฝก หรือกระเบื้องก็ได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี หน้าโรงเรือนควรมีประตูเข้า – ออก และมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหน้าโรงเรือน ในสภาวะปกติอาจจะไม่ต้องปิดประตู แต่ในสภาวะที่เกิดโรคไข้หวัดนกควรจะปิดประตูให้ไก่อยู่แต่ในโรงเรือน พื้นภายในโรงเรือนควรเป็นพื้นปูนและใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้น เพื่อสะดวกในการทำความสะอาดมูลไก่ ส่วนภายในโรงเรือนควรทำคานนอน เพื่อให้ไก่นอนสูงจากพื้นประมาณ 50-70 ซม. และควรกั้นห้อง เพื่อเลี้ยงลูกไก่ระยะแรกเกิดด้วย สำหรับรอบๆ โรงเรือนควรมีบริเวณหรือพื้นที่เพื่อให้ไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหารอย่างน้อย 150 ตารางเมตร มีการกั้นบริเวณพื้นที่ด้วยลวดตาข่ายหรืออวนที่มีตาถี่ ความสูงประมาณ 2 เมตร และควรมีพื้นที่ร่มเงาเพื่อให้ไก่ได้พักอาศัย และปลูกสมุนไพรบางชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร หญ้า และพืชสมุนไพรอื่นๆ เพื่อให้ไก่ได้จิกกินเป็นอาหารได้ครับ

 -เพลงคั่นรายการ-

หลักสำคัญในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อป้องกันไข้หวัดนกข้อต่อไป นั่นก็คือการปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติเบื้องต้นที่ไม่ยุ่งยาก ลงทุนต่ำ แต่ให้ผลคุ้มค่าต่อการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัดนกต่อไก่ และที่สำคัญ คือปลอดภัยต่อผู้เลี้ยงและสมาชิกในครอบครัว ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองควรให้ความสำคัญด้วยการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดดัง ต่อไปนี้

ผู้เลี้ยงต้องมีรองเท้าประจำสำหรับเปลี่ยนเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงไก่ อาจเป็นรองเท้าบูท หรือรองเท้าแตะก็ได้ ก่อนใส่รองเท้าควรจุ่มเท้าในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งก่อนเข้าบริเวณเลี้ยงไก่และโรงเรือน ไม่ควรให้อ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคถูกแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำยาเสื่อมประสิทธิภาพ และควรเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือเมื่อพบว่าน้ำยาสกปรก ในเรื่องของเครื่องแต่งกายก็สำคัญเช่นกันครับ ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือสวมเสื้อคลุมก่อนเข้าบริเวณพื้นที่เลี้ยงไก่ทุกครั้ง จากนั้นทำการฉีดพ่นร่างกาย แขน ขา ให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์ 70% ที่ใส่ในกระบอกฉีดพ่นฝอยก่อนเข้าพื้นที่เลี้ยงไก่ นอกจากนี้ควรฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งภายในโรงเรือน และบริเวณพื้นที่เลี้ยงไก่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในกรณีที่เกิดโรคระบาดในพื้นที่ใกล้เคียงควรมีการฉีดพ่นทุกวัน ที่สำคัญไม่ควรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงไก่เข้าไปในบริเวณพื้นที่เลี้ยงไก่เด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องเข้าบริเวณพื้นที่เลี้ยงไก่ให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนครับ

คุณผู้ฟังครับ การที่จะเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก ให้ประสบความสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากการปฏิบัติตามที่กล่าวในหัวข้อข้างต้นแล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเพิ่มความสนใจ เอาใจใส่ต่อการเลี้ยง มีการจัดการดูแลไก่ให้ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติของไก่พื้นเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ไก่ที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณภาพตามปกติ พร้อมทั้งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นซึ่งต้องอาศัยเทคนิคในการจัดการดูแลไก่ที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยผู้เลี้ยงควรมีการเปลี่ยนน้ำสะอาดให้ไก่กินอย่างเพียงพอและทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำทุกวัน เพื่อลดปัญหาการเกิดเชื้อแบคทีเรีย อันเนื่องจากการบูดเน่าของเศษอาหารที่ตกหล่นในน้ำกิน ซึ่งถ้าไก่กินน้ำนี้เข้าไปอาจทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ และควรแขวนภาชนะใส่น้ำให้สูงจากพื้นในระดับที่เหมาะสมกับการกินของไก่ 

ภายในโรงเรือนควรมีการปูวัสดุรองพื้นบริเวณที่ไก่นอนด้วยแกลบหรือฟางข้าว เพื่อให้ดูดซับความชื้นของของเสียและกลิ่นจากมูลไก่ ซึ่งจะช่วยให้โรงเรือนมีความสะอาดปราศจากกลิ่นเหม็น และควรเปลี่ยนเมื่อพบว่าสกปรก ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชได้ครับ

อีกประการหนึ่ง นั่นก็คือผู้เลี้ยงควรจัดให้มีภาชนะใส่อาหารให้ไก่กินอย่างเพียงพอและมีการเสริมอาหารสำเร็จรูปเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเลี้ยงด้วยข้าวโพด ข้าวเปลือก และปลายข้าว นอกจากนี้ควรหาเศษพืชผักที่มีในท้องถิ่นให้เป็นอาหารเสริมเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ เช่น เศษพืชผัก ผลไม้ แหน หยวกกล้วยสับ หญ้าสด ใบกระถิน เป็นต้น  ภายในโรงเรือนควรติดไฟแสงสว่าง เพื่อล่อแมลงให้เป็นอาหารประเภทโปรตีนสำหรับไก่อีกทางหนึ่ง และจัดหาเปลือกหอยบดหยาบใส่ภาชนะวางไว้ให้ไก่ได้เลือกกิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยเฉพาะแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะช่วยทำให้เปลือกไข่แข็งแรง นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนชนิดที่จำเป็น เช่น นิวคาสเซิล ฝีดาษ หลอดลมอักเสบทุกๆ 6 เดือน และหมั่นดูแลตรวจสุขภาพไก่เป็นประจำทุกๆวัน ถ้าพบว่าไก่มีอาการผิดปกติต้องรีบแก้ไขทันทีครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ  การปฏิบัติต่อไก่อายุต่างๆ ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น ถือว่ามีความสำคัญเช่นกันครับ โดยผู้เลี้ยงควรแยกแม่ไก่ที่เลี้ยงลูกออกจากฝูงไก่ใหญ่ เพื่อให้ลูกไก่ได้กินน้ำ อาหาร และอยู่ในความดูแลของแม่อย่างเต็มที่ ลูกไก่ก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ภายในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ครับ  ผู้เลี้ยงควรจัดเตรียมรังสำหรับวางไข่ให้เหมาะสม และพอเพียงให้กับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่ และควรรองพื้นรังฟักไข่ด้วยพืชสมุนไพรที่ช่วยกำจัด หรือขับไล่ตัวไรหรือแมลง เช่น ใบกะเพรา ตะไคร้ มาปูรองพื้น และก่อนที่จะให้แม่ไก่ฟักไข่ ควรฆ่าไรและเหาบนตัวแม่ไก่ก่อนโดยจับแม่ไก่จุ่มน้ำยาฆ่าไรเหา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไรและเหารบกวนแม่ไก่ในขณะฟักไข่

คุณผู้ฟังครับ การแยกขังแม่ไก่ไว้ต่างหาก ไม่ให้แม่ไก่และลูกไก่ได้ยินเสียงกัน พร้อมกับจัดน้ำและอาหารให้แม่ไก่กินอย่างพอเพียง ประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น ก็สามารถนำแม่ไก่ไปปล่อยเข้าฝูงพ่อพันธุ์ได้แล้ว  วิธีการดังกล่าวจะทำให้แม่ไก่วางไข่ชุดต่อไปได้เร็วขึ้นครับ

เมื่อเปรียบเทียบการเลี้ยงไก่พื้นเมืองโดยให้แม่ไก่เลี้ยงลูกเองตามธรรมชาติกับใช้วิธีการแยกแม่ไก่และลูกไก่ออกจากกันนั้น สรุปได้ว่า แม่ไก่ที่เลี้ยงลูกเองจะใช้เวลา 4- 4.5 เดือน ในการผลิตลูก 1 ครอก  ใน 1 ปีจึงจะได้ลูกไก่เพียง 2.5 ครอกเท่านั้น ขณะเดียวกันถ้าผู้เลี้ยงแยกลูกไก่มาเลี้ยงดูแทนแม่ไก่จะใช้เวลา 1.5-2 เดือนต่อการผลิตลูกไก่ 1 ครอก ดังนั้นใน 1 ปีจึงได้ลูกไก่ประมาณ 5-6 ครอก ซึ่งโดยทั่วไปไก่พื้นเมืองจะให้ลูกครอกละประมาณ 8-10 ตัว ดังนั้น ถ้าเกษตรกรเลี้ยงโดยการแยกแม่ไก่และลูกไก่ออกจากกัน แม่ไก่ 10 ตัว จะผลิตลูกไก่หมุนเวียนเพื่อให้เกิดรายได้ 500- 600 ตัวต่อปี แต่ถ้าเกษตรกรเลี้ยงแม่ไก่ที่เลี้ยงลูกเองตามธรรมชาติ 10 ตัวเช่นกัน จะมีไก่หมุนเวียนเพื่อให้เกิดรายได้ 200-300 ตัวต่อปีเท่านั้นครับ

คุณผู้ฟังครับ ข้อดีจากการเลี้ยงไก่ตามรูปแบบ หรือวิธีการที่แนะนำคือผู้เลี้ยงสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัดนก และโรคอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับไก่ และผู้เลี้ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจำนวนไก่ที่เลี้ยงจะเพิ่มมากกว่าการเลี้ยงแบบเดิม เนื่องจากโอกาสที่ไก่จะสูญเสียจากการที่ถูกสัตว์อื่นมากัดกินหรือทำร้ายลดลง ไก่มีสุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่ดี เพราะผู้เลี้ยงดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และด้วยการเลี้ยงในโรงเรือนนี้เอง ทำให้ไก่มีที่อยู่เป็นสัดส่วนไม่ไปรบกวนหรือสร้างความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน ทำให้ผู้เลี้ยงไก่และเพื่อนบ้านมีความสุข สบายใจเพิ่มขึ้น จากข้อดีข้างต้น จะเห็นได้ว่านอกจากจะทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้นจากการขายไก่พื้นเมืองแล้ว ยังก่อให้เกิดความสุขสบายใจเพิ่มขึ้นด้วย และถ้าผู้เลี้ยงให้ความสนใจเลี้ยงดูไก่อย่างจริงจังต่อเนื่องแล้ว การเลี้ยงไก่พื้นเมืองสามารถจะพัฒนาให้เป็นอาชีพหลักได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับคุณผู้ฟัง กับสาระดีๆ ที่ทางรายการของเราได้นำมาให้คุณผู้ฟังได้ฟังกันในวันนี้ กระผมหวังว่า สาระในวันนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังได้บ้างนะครับ คุณผู้ฟังสามารถติชมรายการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยการเขียนจดหมายและจ่าหน้าซองมายัง  “สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเล็บมุมซองว่า “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903” หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 ในวันและเวลาราชการครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ

สุชาติ สงวนพันธุ์

สุชาติ สงวนพันธุ์ นักวิชาการเกษตร จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

…………………………………………………………………………………….