การพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้สุกรสุขภาพดีและให้เนื้อคุณภาพดี

เป้าหมายในการผลิตสุกร โดยทั่วไปอยู่ที่ผลตอบแทนทางธุรกิจ ซึ่งมักขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของชิ้นส่วนซากของสุกร โดยชิ้นส่วนซากที่มีราคาสูงสุด คือ เนื้อแดงสันใน รองมาได้แก่ เนื้อแดงสันนอก เนื้อสามชั้น เนื้อแดงไหล่ เนื้อแดงสะโพก และเนื้อแดงเศษมัน ทั้งนี้ปริมาณเนื้อแดงของสุกรมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพันธุกรรมและการจัดการฟาร์ม ซึ่งผู้ผลิตสามารถประเมินได้โดยการสังเกตขนาดร่างกายภายนอกหรือใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ อย่างไรก็ตาม ในระบบการผลิตสุกรทางการค้า การพัฒนาพันธุกรรมของสุกรให้มีความสามารถในการเจริญเติบโตดีเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ สุกรที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วอาจมีการสะสมของไขมันในร่างกายสูงกว่าการพัฒนากล้ามเนื้อ ปริมาณไขมันดังกล่าวอาจไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่นิยมเนื้อสุกรที่มีไขมันน้อย การศึกษาความสามารถในการเจริญเติบโตของสุกรที่สัมพันธ์กับปริมาณและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของไลโปโปรตีน (HDL และ LDL) ไตรกลีเซอร์ไรด์ และคลอเรสเตอรอลที่มีอยู่ในกระแสเลือดในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของสุกรต่างพันธุ์ ตลอดจนพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสุกรทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น

ssssssss

ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ และ ดร.ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี คณะผู้วิจัยจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเจริญเติบโตและปริมาณไลโปโปรตีนในกระแสเลือดของสุกร โดยพบว่า รูปแบบการผสมข้ามพันธุ์ และความหนาไขมันสันหลังมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและขนาดร่างกายของสุกร กลุ่มพันธุ์ที่แตกต่างกันของสุกรมีอิทธิพลต่อไลโปโปรตีนและคลอเรสเตอรอล และอายุของสุกรมีผลต่อ HDL เท่านั้น นอกจากนี้ การกลายของยีน IGF-II ส่งผลให้สุกรมีลำตัวยาวและความหนาไขสันหลังลดลงแต่ทำให้เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงเพิ่มขึ้น ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์สุกร ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการผลิตสุกรคุณภาพในระบบการผลิตสุกรเชิงการค้าในอนาคตได้ ท่านใดสนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ 0-2579-1120 หรือ e-mail: agrskk@ku.ac.th

sakorn

ผศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

sss

ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี

 

 

เรียบเรียงโดย    : วิทวัส ยุทธโกศา ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.  rdiwwy@ku.ac.th Tel.0-2561-1474