รายการวิทยุเรื่อง”การจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุย”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=z88RE0oe15o[/youtube]

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 5  เดือน กรกฎาคม  พ.ศ. 2557

เรื่อง การจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุย

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

 ………………………………………………………………………………………………………

 -เพลงประจำรายการ-

           สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันในเรื่องปลาดุกอุย  ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นปลาที่ประชาชนนิยมบริโภคเนื่องจากเนื้อมีคุณภาพและรสชาติดี อย่างไรก็ตามผลผลิตปลาดุกเกือบทั้งหมดเป็นปลาดุกลูกผสม หรือบิ๊กอุย ที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์ปลาดุกอุยกับพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์ เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความต้านทานโรค และเนื้อมีรสชาติใกล้เคียงกับปลาดุกอุย ในปี พ.ศ. 2549 มีผลผลิตปลาดุกที่ผลิตได้จากการเพาะเลี้ยงสูงถึงกว่า 146,500 ตัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการปริมาณแม่พันธุ์ปลาดุกอุยสูงอย่างต่อเนื่องเช่นกันครับ

 คุณผู้ฟังครับ ในการเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมจะใช้วิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้นแม่ปลาดุกอุยให้ตกไข่ เพื่อรีดไข่ผสมเทียมกับน้ำเชื้อซึ่งได้จากการเก็บถุงอัณฑะจากพ่อปลาดุกยักษ์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำฮอร์โมนสังเคราะห์ (LHRHa) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (Domperidone) ฉีดเพียงเข็มเดียวทำให้แม่ปลาดุกอุยตกไข่และสามารถรีดไข่เพื่อผสมเทียมได้ภายหลังการฉีดภายใน 14 – 16 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่พักแม่ปลาเพื่อรอการตกไข่พบว่าเกษตรกรมีวิธีปฏิบัติต่อแม่ปลาที่ไม่ถูกต้อง คือจะนิยมพักแม่ปลาในสภาพที่หนาแน่นและมีน้ำน้อยมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการทำร้ายกันเองของแม่ปลา อย่างไรก็ตามยังคงพบว่า แม่ปลามีบาดแผลและบอบช้ำง่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม่ปลาตายภายหลังการรีดไข่ ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนแม่พันธุ์ปลาที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังพบเมือกที่เกิดขึ้นเป็นปริมาณมากในน้ำที่ใช้พักแม่ปลา จากสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า การพักแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมนในสภาพที่ไม่เหมาะสมทำให้แม่ปลาอยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ คุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ และการสืบพันธุ์ได้ในท้ายที่สุด จากรายงานการศึกษาต่าง ๆ พบว่าสภาวะที่ทำให้ปลาเกิดความเครียดจากการรบกวน เช่น การกักขังอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น การรวบรวมในระหว่างการจับ จะทำให้ปลาเกิดการตอบสนองต่อความเครียด โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ในกระแสเลือดโดยทั่วไป การตอบสนองต่อความเครียดจะสามารถตอบสนองได้ทั้งในระยะเวลาอันสั้น และระยะยาว ซึ่งการตอบสนองต่อความเครียดในระยะยาวจะนำไปสู่ผลเสียอย่างมาก เช่น ต่อการเจริญเติบโต การลดความต้านทานต่อโรค หรือ ตายในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียดทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสืบพันธุ์  โดยการลดระดับฮอร์โมน โกนาโดโทรปิน (gonadotropin) ในต่อมใต้สมองและในพลาสมา  การลดระดับฮอร์โมนสเตอรอยด์ ที่สร้างจากรังไข่ มีผลให้ขนาดของไข่เล็กลงและส่งผลต่อคุณภาพของตัวอ่อนในท้ายที่สุด  ครับคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักสักครู่น่ะครับคุณผู้ฟัง

-เพลงคั่นรายการ-

 กลับมาฟังกันต่อน่ะครับ การศึกษาในครั้งนี้มีคณะผู้วิจัยดังนี้ครับ นายเรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์        นายประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ นายสุบรรณ เสถียรจิตร ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมในการพักแม่พันธุ์ปลาดุกอุยในที่กักขังภายหลังการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ โดยเน้นผลกระทบของความเครียดและความสามารถในการสืบพันธุ์ ซึ่งศึกษาจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับฮอร์โมน รวมถึงศักยภาพในการสืบพันธุ์ เช่น ระยะเวลาในการวางไข่ เปอร์เซ็นต์การวางไข่ของแม่ปลา อัตราฟักและอัตรารอดของลูกปลา ตลอดจนอัตราการสูญเสียแม่ปลาภายหลังการรีดไข่ครับ

วัตถุประสงค์หลักๆที่ผู้วิจัยจะดำเนินการครับ

1.  เพื่อศึกษาผลของความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุยภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ต่อความเครียดและการสืบพันธุ์

2.  เพื่อศึกษาระยะเวลาการวางไข่ เปอร์เซ็นต์การวางไข่ของแม่ปลาดุกอุย อัตราฟัก และอัตรารอดของ           ลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่ได้จากแม่ปลาดุกอุยที่พักในบ่อภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำที่แตกต่างกัน

3. เพื่อศึกษาผลของความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำแตกต่างกันต่ออัตราการรอดของแม่ปลาดุกอุยภายหลังการรีดไข่ครับ

เรามาดูวิธีการดำเนินการวิจัยกันน่ะครับคุณผู้ฟัง

 

1. การวางแผนการทดลอง

วางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอดภายในบล็อก เพื่อศึกษาผลของความหนาแน่นของการพักแม่ปลาดุกอุยภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (domperidone) กระตุ้นการตกไข่ที่แตกต่างกัน 4 ระดับ คือ 5, 10, 15 และ 20 ตัวต่อตารางเมตร ตามลำดับ ภายใต้สภาวะการจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาที่แตกต่างกัน 2 ระบบ (block) คือ Block I ใช้ระบบเปิดที่มีการถ่ายเทน้ำตลอดเวลาของการพักแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมน และ Block II ใช้ระบบปิดที่ไม่มีการถ่ายเทน้ำ ดังนั้น การทดลองประกอบด้วย 8 ชุดการทดลอง (treatment) แต่ละชุดการทดลองประกอบด้วย 3 ซ้ำ (replication) ดังนี้

2. การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลา

ใช้แม่พันธุ์ปลาดุกอุยที่สมบูรณ์แข็งแรงอายุประมาณ 1 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 220บวกลบ30 กรัม จำนวนประมาณ 500 ตัว เลี้ยงในบ่อดินขนาด 2 ไร่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551– มกราคม 2552 เปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อสัปดาห์ละครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี และพัฒนาระบบสืบพันธุ์โดยให้อาหารปลาดุกชนิดเม็ดสำเร็จรูป เปอร์เซ็นต์โปรตีนไม่ต่ำกว่า 30 วันละ 1 มื้อ เวลา 15.00-16.00 น. ที่อัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัว ต่อวัน เมื่อถึงกลางเดือนธันวาคม 2551 ลดปริมาณการให้อาหารเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัว ต่อวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะพันธุ์ของปลาดุกอุย จึงได้ทำการคัดแม่ปลาที่มีความสมบูรณ์เพศ โดยพิจารณาจากลักษณะส่วนท้องที่อูมเป่ง พื้นท้องนิ่ม ติ่งเพศมีลักษณะกลมและมีสีชมพูอมแดง ส่วนพ่อปลาดุกยักษ์ เตรียมจากพ่อปลาที่สมบูรณ์แข็งแรงอายุ 2 ปี ขึ้นไป ปราดเปรียว ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ติ่งเพศมีลักษณะเรียวยาวและมีสีชมพูเรื่อ ๆ ที่ได้ทำการเลี้ยงเช่นเดียวกับแม่ปลาดุกอุยครับ

3. การเตรียมระบบการทดลอง

ทุกชุดการทดลองจะใช้บ่อไฟเบอร์กลาสที่มีพื้นที่ก้นถังประมาณ 1 ตารางเมตร หรือ 0.85×1.20×0.35 ลูกบาศก์เมตร พักแม่ปลาดุกอุยหลังจากฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa ร่วมกับ domperidone ภายใต้การจัดการน้ำในบ่อทดลองแตกต่างกัน 2 ระบบ คือ บล็อกที่ 1 ใช้ระบบน้ำแบบเปิด โดยปล่อยน้ำไหลผ่านบ่อทดลองตลอดเวลาในอัตรา 0.5 – 1 ลิตรต่อนาที ในช่วงของการพักแม่ปลา และ บล็อกที่ 2 ใช้ระบบน้ำแบบปิดซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วงของการพักแม่ปลา ในแต่ละบล็อกประกอบด้วยชุดการทดลองที่ปล่อยแม่ปลาในความหนาแน่นที่แตกต่างกัน 4 ระดับ คือ 5, 10, 15 และ 20 ตัวต่อตารางเมตร ตามลำดับ และแต่ละระดับความหนาแน่นประกอบด้วย 3 ซ้ำ ดังนั้น ในการทดลองนี้ใช้บ่อทดลองทั้งหมดจำนวน 24 บ่อ แยกเป็นระบบน้ำแบบเปิดในบล็อกที่ 1 จำนวน 12 บ่อ และระบบน้ำแบบปิดในบล็อกที่ 2 จำนวน 12 บ่อ แม่ปลาที่ปล่อยลงถังทดลองของแต่ละชุดการทดลองใช้วิธีจับสลากแบบสุ่ม ระดับน้ำในบ่อทดลองจะใส่พอท่วมตัวแม่ปลาเท่านั้น ประมาณ 5 เซนติเมตร ครับคุณผู้ฟัง

4. การฉีดฮอร์โมนและการตรวจวัดระดับฮอร์โมน

ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa ชื่อทางการค้า Suprefact ที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อแม่ปลา 1 กิโลกรัม  ร่วมกับ domperidone ชื่อทางการค้า Motilium ในอัตรา 5 มิลลิกรัมต่อแม่ปลา 1 กิโลกรัม ฉีดให้กับแม่ปลาในทุกชุดการทดลองที่ตำแหน่งบริเวณกล้ามเนื้อเหนือเส้นข้างตัวเพียงเข็มเดียวและปล่อยคืนลงบ่อของแต่ละชุดทดลอง ส่วนพ่อปลาดุกยักษ์จะพักแยกจากแม่ปลาและใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ชนิดเดียวกันกับที่ฉีดให้กับแม่ปลาเพียงเข็มเดียวบริเวณกล้ามเนื้อเหนือเส้นข้างตัวในอัตรา LHRHa10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ Motilium5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม โดยฉีดพร้อมกับแม่ปลาดุกอุยและพักพ่อปลาจำนวน 50 ตัว รวมกันในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 5 ลูกบาศก์เมตร

ในการตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและการสืบพันธุ์ ทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมน โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากแม่ปลาดุกอุยจำนวน 1 ตัว ในแต่ละซ้ำของแต่ละชุดการทดลอง ณ เวลาก่อนฉีดฮอร์โมน ช่วงระหว่างพักแม่ปลาหลังการฉีดฮอร์โมนที่ 7 ชั่วโมง และช่วงการตกไข่ ตามลำดับ รวมจำนวนทั้งสิ้น 144 ตัวอย่าง ช่วงนี้พักกันสักครู่น่ะครับคุณผู้ฟัง

 -เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อน่ะครับ

5. การศึกษาวางไข่ อัตราฟัก และอัตรารอดของลูกปลา

ภายหลังการฉีดฮอร์โมนแม่ปลาเป็นระยะเวลาประมาณ 11 ชั่วโมง จึงเริ่มตรวจสอบการตกไข่ของแม่ปลา โดยสังเกตจากไข่ที่ตกอยู่บนพื้นบ่อที่ใช้พักแม่ปลาของแต่ละชุดการทดลองแสดงว่าในชุดการทดลองนั้น ๆ มีแม่ปลาพร้อมที่จะวางไข่ จึงทำการตรวจสอบหาแม่ปลาตัวที่มีความพร้อมนั้น ๆ เพื่อทำการรีดไข่พร้อมกับจดบันทึกเวลาที่รีดไข่ได้ โดยปริมาณไข่ที่รีดได้จากแม่ปลาแต่ละตัวภายในซ้ำเดียวกันของแต่ละชุดการทดลองจะนำมารวมกันและนำไปคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การวางไข่ของแต่ปลาในแต่ละซ้ำของแต่ละชุดการทดลอง

6. การพักแม่ปลาภายหลังการรีดไข่

แม่ปลาที่รีดไข่แล้วจะปล่อยคืนลงบ่อพักเดิมในแต่ละชุดการทดลอง โดยใช้ระดับน้ำพอท่วมตัวแม่ปลา และเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ทุกวันในตอนเช้า พร้อมติดตามจดบันทึกจำนวนแม่ปลาที่ตายภายใน 72 ชั่วโมง เพราะเป็นช่วงระยะเวลาวิกฤตที่พบว่าแม่ปลาส่วนใหญ่จะตายภายหลังการรีดไข่ ข้อมูลที่ได้นำมาคำนวณหาอัตรารอดของแม่ปลาต่อไปครับ

7. การเตรียมและประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ

การเตรียมน้ำเชื้อจะใช้พ่อปลาดุกยักษ์ที่ได้พักแยกจากแม่ปลาดุกอุยในบ่อไฟเบอร์กลาสขนาด 5 ลูกบาศ์กเมตร ระดับน้ำพอท่วมตัวปลาพร้อมถ่ายเทน้ำ 1 – 2 ลิตรต่อนาที กระตุ้นการสร้างน้ำเชื้อโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRHa อัตรา 10 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ร่วมกับยา Motilium5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ฉีดเพียงเข็มเดียวพร้อมกับการฉีดแม่ปลาดุกอุย การเตรียมน้ำเชื้อจะใช้สัดส่วนพ่อปลาดุกยักษ์ 1 ตัว ต่อแม่ปลาดุกอุย 10 – 15 ตัว โดยทำการเตรียมน้ำเชื้อแบบรวมและเก็บรักษาน้ำเชื้อไว้ในสารละลาย Ringer Solution โดยผ่าท้องพ่อปลาและจะเลือกใช้ถุงน้ำเชื้อที่มีลักษณะขาวขุ่นเท่านั้น การเตรียมน้ำเชื้อจะทำหลังจากรีดไข่ปลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสุ่มตัวอย่างสารละลายน้ำเชื้อมาประเมินคุณภาพน้ำเชื้อตรวจดูตัวเป็นตัวตายครับคุณผู้ฟัง

 

8. การตรวจวัดคุณภาพน้ำ

คุณภาพน้ำในแต่ละบ่อพักแม่ปลาดุกอุยจะตรวจวิเคราะห์ ณ เวลาก่อนฉีดฮอร์โมน ช่วงระหว่างการพักหลังการฉีดฮอร์โมนที่ 7 ชั่วโมง และช่วงการวางไข่ ครับ

9. การวิเคราะห์ผลทางสถิติ

                ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อดูถึงผลของความหนาแน่นของแม่ปลาและระบบการจัดการน้ำในบ่อพักแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมน ต่อระยะเวลาการตกไข่ เปอร์เซ็นต์การวางไข่ อัตราการฟัก อัตราการรอดตายของลูกปลา อัตราการรอดของแม่ปลา ระดับต่าง ๆ ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องในการสืบพันธุ์  ช่วงนี้พักสักครู่น่ะครับคุณผู้ฟัง

 -เพลงคั่นรายการ-

           กลับมาฟังกันต่อน่ะครับคุณผู้ฟัง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำในบ่อพักแม่ปลาดุกอุย     ภายหลังฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ไม่มีผลต่อปริมาณฮอร์โมน cortisol ของแม่ปลา โดยทุกชุดการทดลองมีปริมาณฮอร์โมน cortisol ต่ำสุด ณ ช่วงก่อนฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นหลังจากฉีดฮอร์โมนที่ 7 ชั่วโมง และสูงสุดในช่วงวางไข่ การเพิ่มขึ้นของปริมาณฮอร์โมน cortisol ภายหลังการฉีดฮอร์โมนอาจเป็นผลมาจากความเครียดที่เกิดจากทั้งจากการถูกฉีดฮอร์โมนและการถูกกักขังอยู่รวมกันเป็นระยะเวลานานถึง 12-15 ชั่วโมงครับ แต่เป็นที่สังเกตว่าการพักแม่ปลาที่ระดับความหนาแน่นต่ำ ๆ จะทำให้แม่ปลามีพื้นที่ในการเคลื่อนที่ภายในที่กักขังได้มากกว่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ปลาที่พักในระดับความหนาแน่นต่ำสุดที่ 5 ตัวต่อตารางเมตร ในระบบน้ำแบบเปิดจะมีอาการว่ายน้ำกระวนกระวายตั้งแต่ชั่วโมงที่ 7 และรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงช่วงการตกไข่ ผลจากการถ่ายเทของน้ำใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของระบบน้ำแบบเปิดจะช่วยกระตุ้นให้แม่ปลาเคลื่อนที่และมีอาการก้าวร้าวรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมของปลาดุกอุยที่พบได้ในธรรมชาติโดยเฉพาะในช่วงฝนตกชุกและได้รับน้ำใหม่จะกระตุ้นให้ปลาดุกอุยสามารถคืบคลานหลบหนีออกจากบ่อเลี้ยง จากพฤติกรรมนี้จึงส่งผลทำให้แม่ปลาดุกอุยที่กักขังในระบบเปิดที่ความหนาแน่นต่ำสุดที่ 5 ตัวต่อตารางเมตร มีการตายสูง เนื่องจากปลาดุกมีก้านครีบหูที่คมและแข็งทำให้เกิดการทิ่มแทงในระหว่างเคลื่อนไหวเกิดเป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่ผิวลำตัวและเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แม่ปลาได้รับความบอบช้ำมากขึ้นและทำให้เกิดการตายหลังการรีดไข่ได้ครับ  ขณะที่เพิ่มความหนาแน่นสูงขึ้นตั้งแต่ 10 ตัวต่อตารางเมตร เป็นต้นไปสามารถลดอัตราการตายของแม่ปลาลงและมีอัตราการสูญเสียแม่ปลาต่ำสุดที่ความหนาแน่น 20 ตัวต่อตารางเมตร ของทั้ง 2 ระบบ ซึ่งพบว่าที่ระดับความหนาแน่นสูงแม่ปลาจะมีการเคลื่อนไหวน้อยลงและมีอาการสงบ

ในขณะเดียวกันแม้ว่าคุณภาพน้ำของทั้ง 2 ระบบ จะแตกต่างกัน โดยบ่อระบบน้ำแบบปิดจะมีปริมาณออกซิเจนละลาย (1.1 – 2.9 มิลลิกรัมต่อลิตร) ต่ำกว่า และมีปริมาณแอมโมเนียรวม (5 มิลลิกรัมต่อลิตร) สูงกว่าในระบบน้ำแบบเปิด แต่ก็ไม่ส่งผลต่อความเครียดของแม่ปลาในทุกชุดการทดลอง ทั้งนี้เป็นเพราะปลาดุกอุยมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจสามารถทนอยู่ในสภาวะการขาดออกซิเจนได้

การตายของแม่ปลาหลังจากรีดไข่พบว่าเกิดกับแม่ปลาส่วนใหญ่ที่มีบาดแผลฉกรรจ์ตามผิวลำตัวและน่าจะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตายของแม่ปลาหลังจากเกิดการติดเชื้อตามมาครับ

 คุณผู้ฟังครับ ขณะที่ระยะเวลาตกไข่ของแม่ปลาแม้ว่าจะไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในระบบน้ำแบบเปิด พบว่าเกิดขึ้นได้ค่อนข้างเร็วกว่าระบบปิดถึง 3 ชั่วโมง และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของไข่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากผลการทดลอง พบว่า ความหนาแน่นและการจัดการระบบน้ำมีผลต่ออัตราการฟักไข่  โดยไข่ที่ได้จากแม่ปลาที่พักในระดับความหนาแน่นที่สูงขึ้นของระบบน้ำทั้งแบบเปิดและปิดมีค่าเฉลี่ยอัตราการฟักสูงขึ้น ขณะที่อัตรารอดของลูกปลา (ระยะถุงไข่แดงยุบ) ของแม่ปลาที่พักในระบบน้ำแบบเปิดเท่านั้นที่สูงกว่าของแม่ปลาที่พักในบ่อระบบน้ำแบบปิด ทั้งนี้น้ำเชื้อของพ่อปลาดุกยักษ์ที่นำมาผสมกับไข่ในการทดลองครั้งนี้มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 87.8-89.2 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่า การกระตุ้นของน้ำใหม่ที่มีการถ่ายเทของน้ำตลอดเวลาจะช่วยส่งเสริมให้ไข่มีการพัฒนาเป็นไปได้ดีกว่าและทำให้มีการตกไข่ที่เร็วขึ้น ส่งผลให้ได้ไข่ที่สมบูรณ์ มีการเจริญพัฒนาและฟักออกเป็นตัวและมีอัตรารอดที่สูงครับ ช่วงนี้พักกันสักครู่น่ะครับ คุณผู้ฟัง

 -เพลงคั่นรายการ-

          กลับมาฟังกันต่อน่ะครับ การตกไข่ช้าของแม่ปลาที่พักในระบบน้ำแบบปิดอาจทำให้แม่ปลาต้องอยู่ในสภาวะก่อความเครียดนานกว่าแม่ปลาที่พักในระบบน้ำแบบเปิด ผลของความเครียดจะทําให้ปลามีการวางไข่ช้าออกไป เนื่องจากการตกไข่ช้าส่งผลให้เกิดการเสื่อมสลายของรังไข่ มีผลทําให้ขนาดของไข่เล็กลง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการฟักและอัตรารอดของลูกปลา

นอกจากนี้ คุณภาพน้ำในบ่อระบบน้ำแบบเปิดมีปริมาณออกซิเจนละลายและอุณหภูมิสูงกว่าในระบบน้ำแบบปิด และในบ่อระบบน้ำแบบปิดที่มีปริมาณแอมโมเนียรวมสูงกว่าในระบบน้ำแบบเปิด ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเจริญของไข่เช่นกัน เมื่อนํ้ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมก็จะมีผลยับยั้งการเจริญของไข่ เช่น อุณหภูมิจะกระตุ้นการเจริญของไข่ แต่อุณหภูมิที่ลดตํ่าลงจะไปยับยั้งการเจริญของไข่ นอกจากนี้ปริมาณออกซิเจนยังมีผลต่อขบวนการสร้างพลังงานและการเจริญของไข่ เมื่อออกซิเจนไม่เพียงพอพลังงานก็จะไม่เพียงพอที่จะนําไปใช้ในการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้การเจริญของไข่หยุดชะงัก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของไข่และลูกปลาที่ได้ครับคุณผู้ฟัง

จากการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า ในการเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมเห็นควรให้พักแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ LHRH a ร่วมกับ domperidone ที่ความหนาแน่น 20 ตัวต่อตารางเมตร ในระบบน้ำแบบเปิด จะทำให้แม่ปลามีเปอร์เซ็นต์การวางไข่สูงสุด ให้อัตราฟักออกเป็นตัวสูงสุด มีอัตรรารอดของลูกปลาระยะถุงไข่แดงยุบสูงไม่แตกต่างจากชุดการทดลองอื่นของระบบน้ำแบบเปิด และแม่ปลามีอัตราการตายเฉลี่ยต่ำสุดหลังการรีดไข่เป็นเวลา 72 ชั่วโมง จึงสามารถเสนอให้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแม่ปลาดุกอุยในการเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสม และมีข้อเสนอแนะสำหรับเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไปในประเด็นของการนำยาสลบมาประยุกต์ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสม เช่น น้ำมันกานพลู ว่าจะมีผลต่อความเครียดของแม่ปลาภายหลังการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ การสืบพันธุ์ และการตายของแม่ปลาหรือไม่อย่างไร เพื่อพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาชนิดอื่นๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ครับคุณผู้ฟัง

 สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ