จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชและเพิ่มผลผลิตพืชในรูปปุ๋ยชีวภาพ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Vt5O3VxMVco[/youtube]

บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่15 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่อง  จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชและเพิ่มผลผลิตพืชในรูปปุ๋ยชีวภาพ

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการนี้เป็นรายการที่จะนำเสนอผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ วันนี้กระผมขอเสนอเรื่อง “ชีวมวลจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชและเพิ่มผลผลิตพืชในรูปปุ๋ยชีวภาพ ” ซึ่งเป็นผลงานของ นางกณิษฐา สังคะหะ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน

มาเริ่มกันเลยนะครับ คุณผู้ฟังครับ ทราบไหมครับว่า จุลินทรีย์ในดินมีหลายชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย รา แอคติโนไมซีด สาหร่าย โปรโตซัว โรติเฟอร์ ไมโคพลาสมา และไวรัส เป็นต้นครับ จุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่การส่งเสริมการเจริญเติบโต และการทำลายพืช กล่าวโดยรวมแล้วจุลินทรีย์ในดินมีความสำคัญดังต่อไปนี้ ครับ

          1. ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีขนาดของโมเลกุลเล็กลง

          2. มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปของธาตุอาหารพืช  เช่น   เปลี่ยนจากรูปที่เป็นสารอินทรีย์ไปเป็นสารอนินทรีย์ เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช ในบางกรณีจุลินทรีย์อาจมีกิจกรรมที่สามารถลดความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชได้ครับ

          3. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชโดยการสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช

          4. การตรึงไนโตรเจน จุลินทรีย์หลายชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนได้

          5. จุลินทรีย์หลายชนิดมีบทบาทในการสร้างกรดอินทรีย์บางชนิด บ้างสามารถสร้างกรดอนินทรีย์ ในปริมาณที่พอเหมาะที่จะละลายแร่ธาตุอาหารพืช และเป็นประโยชน์ต่อพืชต่อไป

          6. จุลินทรีย์หลายชนิดอาจเป็นเชื้อสาเหตุของโรคพืชทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตได้ ในทางตรง กันข้ามมีจุลินทรีย์หลายชนิดที่ทำหน้าที่กำจัด และยับยั้งการเจริญเติบโตจุลินทรีย์ชนิดอื่น รวมทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช จึงมีผลทำให้การระบาดของโรคพืชบางชนิดลดลงได้ครับ

          7. บทบาทของจุลินทรีย์บางชนิดในดินสามารถผลิต และปลดปล่อยสารปฎิชีวนะ กรณีนี้นำไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ครับ คุณผู้ฟังครับ เราได้ทราบความสำคัญของจุลินทรีย์บ้างแล้ว ช่วงนี้ขอพักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากในดินที่มีจุลินทรีย์มากมายหลายชนิดแตกต่างกันออกไป การจัดการดินที่ดีและเหมาะสมจะส่งเสริมให้มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในปริมาณที่มาก   หากมีการจัดการที่ไม่ดีแล้ว  การสะสมของเชื้อสาเหตุโรคพืชก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้แล้ว สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในดิน    เช่น  ปริมาณออกซิเจน  ธาตุอาหารในดิน อินทรียวัตถุ   pH  ของดิน  อุณหภูมิ  และความชื้น   ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการกำหนดชนิด  ปริมาณ   และบทบาทของจุลินทรีย์ในดินได้ด้วยครับ

           คุณผู้ฟังครับ การที่จุลินทรีย์มีคุณประโยชน์มากมายต่อทางการเกษตรเช่นนี้ โดยเฉพาะเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชทั้งทางด้านการควบคุมโรคพืช และการช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้กับพืชนั้น   หน่วยโรคพืชและศาสตร์สัมพันธ์   ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง   สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์    จังหวัดนครปฐม    ดำเนินงานวิจัยทางด้านฐานข้อมูลการวินิจฉัยโรคพืช   และการใช้จุลินทรีย์ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดิน   จึงได้ร่วมงานกับอาจารย์ ภาควิชาปฐพีวิทยา   คณะเกษตร  กำแพงแสน   มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยการใช้จุลินทรีย์เป็นปุ๋ยชีวภาพ และสามารถละลายฟอสเฟตในดินได้    ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยเห็นว่าการถ่ายทอดแนวความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้  โดยนำผลงานวิจัยมาประยุกต์ ใช้ร่วมกับความรู้และประสบการณ์   นำมาจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ทางด้านจุลินทรีย์      และการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการควบคุมเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืช และปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งจุลินทรีย์ในดิน ที่มีคุณประโยชน์ด้านการเพิ่มปริมาณแร่ธาตุอาหารให้กับพืช ให้แก่   เกษตรกร ผู้นำเกษตรกร  เจ้าหน้าที่ของ รัฐ ครู อาจารย์จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวความคิดซึ่งกันและกันหรือถ้ามีปัญหาข้อเสนอแนะ  ก็พร้อม ที่จะดำเนินการวิจัยเพื่อตอบหรือแก้ไขปัญหาในทันที  เพื่อใช้เป็นข้อมูลทางด้านการวิจัยต่อไปครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ การปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งพืชผัก พืชสวน  พืชไร่  และไม้ดอกไม้ประดับ   มักประสบปัญหาพืชแสดง อาการเป็นโรค โดยระบบรากพืชถูกทำลายทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ตั้งแต่ระยะต้นกล้าจนกระทั่งเติบ โตให้ผลผลิต   พืชจะแสดงอาการรากเน่าหรือโคนเน่า  เนื่องจากเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืชเข้าทำลาย   เช่น  เชื้อราสเคลอโรเทียม (Sclerotium rolfsii) หรือเรียกว่าราเมล็ดผักกาด  เชื้อราไรซ็อคโทเนีย (Rhizoctonia sp.)  เชื้อราพิเทียม (Pythium sp.)    เชื้อราฟัยท็อปโทรา   (Phytophthora sp.)   และเชื้อราฟูซาเรียม (Fusarium sp.)  เป็นต้นครับ  เมื่อเชื้อโรคพืชเหล่านี้เข้าทำลายระบบรากพืช  ทำให้พืชแสดงอาการเหี่ยวแห้งหรือตายเป็นกิ่ง ๆ  จน กระทั่งตายยืนต้นในที่สุด   ทั้งนี้พืชจะแสดงอาการเป็นโรครุนแรงหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุของโรคและช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืชเป็นสำคัญ   นอกจากนี้แล้วเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดินสามารถ เป็นโรคกับพืชได้หลายวงศ์เลยครับ

คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันการควบคุมโรคพืชโดยใช้จุลินทรีย์ จะช่วยลดปริมาณและกิจกรรมของเชื้อโรค     โดยส่ง เสริมพัฒนาการใช้สิ่งมีชีวิต    รวมทั้งจุลินทรีย์ที่อยู่ตามสภาพธรรมชาติในดินและที่ผิวรากพืช     ให้สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชลงได้ จนเกิดสมดุลทางชีวภาพ คือการไม่เกิดการระบาดของโรคนั่นเอง   โดยเชื่อมั่นได้ว่าจากการปรับปรุงพัฒนาวิธีทางเขตกรรมที่เหมาะสม    เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยและส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หรือเพิ่มความต้านทานของพืชต่อเชื้อโรคนี้   จะสามารถลดระดับการเกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่เป็นที่นิยมปฏิบัติศึกษาทดลองมากที่สุด นั่นก็คือการใช้จุลินทรีย์ในรูปเซลล์ที่มีชีวิตเจริญแข่งขันกับพวกเชื้อโรค    ตลอดจนการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริม การเจริญเติบโตของพืช    เพื่อให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค     วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ประหยัดปลอดภัยไร้มลภาวะครับ และได้ผลเป็นระยะเวลานาน      เนื่องจากมีข้อดีที่ว่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถเพิ่มปริมาณ และมีชีวิตคงทนอยู่ในดินในระยะเวลาที่นานกว่าสารเคมีครับ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.)    เป็นเชื้อราที่สามารถ

 1)  แข่งขันการใช้แหล่งอาหารสำหรับการเจริญเติบโต

 2)  เส้นใยเชื้อรา Trichoderma  sp.   เจริญพันรัดเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืช  โดยแทงทะลุเส้นใยเชื้อโรคและปล่อยน้ำย่อยหรือเอนไซม์ออกมาย่อยผนังเซลล์เชื้อโรค ทำให้เส้นใยสปอร์และส่วนพักตัวเชื้อโรคแฟบเหี่ยว   ไม่สามารถเจริญได้ตามปกติ

 3) บางสายพันธุ์สามารถสร้างสารปฏิชีวนะออกมายับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืช     ส่วนการพัฒนาผลิตและการใช้เชื้อรา Trichoderma  sp. ในระยะแรกนั้น เป็นผลงานวิจัยเริ่มต้นจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการควบคุมเชื้อราในดินสาเหตุโรคพืช โดยใช้เมล็ดข้าวฟ่างเป็นวัตถุดิบ มีการใช้แกลบ และรำข้าวผลิตเชื้อรา   Trichoderma  sp.  ในรูปหัวเชื้อสด    ต่อมาได้มีการพัฒนาใช้ปลายข้าวเมล็ดข้าวโพด และธัญพืชชนิดอื่น ๆ เป็นแหล่งอาหารในการผลิตเชื้อรา Trichoderma  sp.ในรูปหัวเชื้อสด เผยแพร่สู่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านการเกษตรครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ เดี๋ยวช่วงหน้าเรามาเรียนรู้ต่อกันในเรื่องของปุ๋ยชีวภาพกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นส่วนผสมอยู่มากขึ้น   หรืออาจทำให้พืชได้รับประโยชน์จากธาตุอาหารในดินมากขึ้น อันเนื่องมาจากกิจกรรมของจุลินทรีย์นั้น ๆ มีการศึกษาวิจัยการ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพกันอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้นี่เองครับ  คือ  ในช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2510    เน้นการ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากเชื้อไรโซเบียมในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์    รวม ทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตร     ต่อมาก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้เชื้อเร่งปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพทั้งสองชนิดนี้     ปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก   และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย   นอกจากนี้แล้ว   ยังมีการศึกษาวิจัยปุ๋ยชีวภาพกันอีกหลายชนิด  ได้แก่  แหนแดง  สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน  ผงเชื้อไมคอร์ไรซา   เป็นต้น  มีการผลิตผงเชื้อออกมาสู่ตลาดและเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปแล้วหลายชนิด    ในขณะที่การศึกษาวิจัยก็ยังดำเนินต่อไป   เพื่อค้นหา สายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง และเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน    การศึกษาและพัฒนาเกี่ยว กับการนำสารอินทรีย์เหลือใช้  และเศษเหลือจากการแปรรูปผลผลิตทางการ osphobacterin  จุลินทรีย์นั้น ครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนนไทยเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องครับ

          คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าในดินจะมีเชื้ออะโซโตแบคเตอร์แตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ    ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของดินและสิ่งแวดล้อม  แต่จะพบมากที่สุดในบริเวณรากพืช  ปัจจัยหลัก ๆ ที่มีอิทธิพลต่อจำนวนเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ในดิน  มีอยู่ 2 ประ การ คือ

1)  การเกื้อกูลและการปฎิปักษ์ต่อกันของจุลินทรีย์

2) ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน จุลินทรีย์หลายชนิดเร่งการเจริญเติบโตของอะโซโตแบคเตอร์และการตรีงไนโตรเจน     ในทางตรงกันข้ามก็มีจุลินทรีย์บางพวก ยับยั้งการเจริญเติบโตและการตรึงไนโตรเจน นอกจากนี้เชื้ออะโซโตแบคเตอร์สามารถ สร้างสารซึ่งยับยั้งการเติบโตของราบางชนิดได้ เมื่อทดสอบบนอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการ   นอกจากนี้แล้วการเติมอินทรียวัตถุสู่ดิน    จะทำให้ปริมาณและการเติบโตรวมทั้งการตรึงไนโตรเจนของเชื้อนี้เพิ่มมากขึ้นได้ครับ

          ปริมาณฟอสฟอรัสในดินที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช     จะมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีทั้งหมดในดิน  จึงทำให้สารละลายดินมีฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชยิ่งน้อยลงไปอีก  ส่วนใหญ่ แล้วฟอสฟอรัสในดินจะถูกตรึงโดยปฏิกิริยาทางเคมีแล้วไม่ละลาย  เช่น ตกตะกอนกับ เหล็ก   อลูมินัม  แคล เซียมและแมกนีเซียม  เป็นต้น ซึ่งละลายได้น้อยมาก     อย่างไรก็ตาม     ในดินมีจุลินทรีย์หลายชนิดที่มีความ สามารถละลายฟอสเฟตจากรูปที่ไม่ละลาย  ให้กลายเป็นฟอสเฟตในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ครับ       จึงได้มี การนำเอาความสามารถของจุลินทรีย์ในข้อนี้มาใช้ประโยชน์ โดยการใส่จุลินทรีย์ลงดินโดยตรง  รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์ร่วมกับหินฟอสเฟตบด     เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ฟอสเฟตละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้นนั่นเองครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

          กลับมาฟังกันต่อนะครับ นอกจากนี้แล้ว   มีกลุ่มเชื้อราไมคอร์ไรซาซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลสรุปว่า   พืชที่มีเชื้อราไมคอร์ไรซาจะมีการเจริญเติบโตดีกว่าพืชปกติครับ  จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าสามารถนำเชื้อราไมคอร์ไรซามาใช้ร่วมกับพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตรึงฟอสฟอรัส ดินที่ขาดฟอสฟอรัส หรือดินที่มีฟอสฟอรัสในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้งานได้    ไมคอร์ไรซาจะช่วยดูดฟอสฟอรัสมาให้พืชนำไป ใช้ได้  โดยการซึมผ่านจากเซลล์ของเชื้อราเข้าสู่เซลล์ของรากพืช   และพืชนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการเจริญ เติบโตได้ครับ

           การที่มีจุลินทรีย์เหล่านี้ทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม หรือจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตนั้นอยู่ ในบริเวณรากพืช  ไม่ว่าจะด้วยการจุ่มราก  ชุบราก  การคลุกเมล็ด   หรือใส่ไปพร้อมกับการปลูกพืช   เพื่อให้จุลินทรีย์เหล่านี้อยู่บริเวณรากพืชให้มากขึ้น ความเกื้อกูลกันระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ที่มีต่อกันทำให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตดี  ในขณะเดียวกันจุลินทรีย์  ทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม และจุลิทรีย์ละลายฟอสเฟต ก็ส่งเสริมการ เจริญเติบโตของพืช   โดยอะโซโตแบคเตอร์   และอะโซสไปริลลัม สามารถตรึงไนโตรเจนให้ กับพืชได้    ส่วนจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต  ก็สามารถละลายฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์พืชสามารถนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วทั้งอะโซโตแบคเตอร์ อะโซสไปริลลัม  และจุลินทรีย์ ละลายฟอสเฟตนั้น สามารถผลิตเป็นผงเชื้อและสามารถคลุกลงไปให้กับการปลูกพืชได้ต่อไปครับ

          จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้   จะเห็นได้ว่ามีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ในทางการเกษตรและเพิ่มผลผลิตของพืชได้หลายชนิด   จนสามารถผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพและเผยแพร่สู่เกษตรกรบ้างแล้ว   บางชนิดก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการศึกษาวิจัย   อย่างไรก็ตาม  เป็นที่คาดหมายว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพ   คงได้แพร่หลายต่อไปซึ่งจะสามารถทดแทนปุ๋ยเคมีลงได้ส่วนหนึ่ง   ในทำนองเดียวกัน  การศึกษาวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศไทย   ก็ดูเสมือนว่าจะมีอนาคตที่สดใสเช่นกันครับคุณผู้ฟัง

วันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ สัปดาห์หน้า กระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการ หรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….