การใช้มูลโคปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน ในระบบอินทรีย์

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=rfudZlpNevo[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 26 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง  การใช้มูลโคปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน ในระบบอินทรีย์

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………………..

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

วันนี้กระผมมีผลงานวิจัยดีๆมาฝากเกษตรกรครับ เป็นการใช้มูลโคในการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน ในระบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร.สุริยะ สะวานนท์ คุณ วรเทพ ชมภูนิตย์ และคุณ ชุติพงศ์ เนตรพระ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักกับปุ๋ยหมักกันก่อนนะครับ

 

คุณผู้ฟังครับ ปุ๋ยหมักเป็นการนำเอาเศษพืช หรือวัสดุต่างๆ และมูลสัตว์ มากองรวมกันให้มีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม จนกระทั้งเศษพืชหรือวัสดุ และมูลสัตว์ต่างๆย่อยสลาย และแปรสภาพไป โดยการทำงานของสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า “จุลินทรีย์” ซึ่งจะอาศัยอยู่ในปุ๋ยคอกนั้น สิ่งมีชีวิตเล็กๆเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายชนิดปะปนกันอยู่ครับ และจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการแปรสภาพวัสดุมากที่สุดได้แก่ เชื้อราและแบคทีเรียครับ จนกระทั่งกองปุ๋ยกลายเป็นปุ๋ยสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะพรุน ยุ่ยร่วนซุย พร้อมที่จะนำไปใช้งานเป็นปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมักที่ละลายตัวได้ดีแล้ว เป็นวัสดุที่ค่อนข้างทนทานต่อการย่อยสลายได้พอสมควร ดังนั้นเมื่อเมื่อนำลงไปในดิน ปุ๋ยหมักจึงสลายตัวไปอย่างช้าๆสม่ำเสมอ ซึ่งนับได้ว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งของปุ๋ยหมัก เพราะทำให้ปุ๋ยหมักสามารถปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้เป็นระยะเวลานานๆ ปุ๋ยหมักบางส่วนอาจจะคงทนอยู่ในดินได้นานเป็นปี แต่ก็มีบางส่วนที่ถูกย่อยสลายไป

คุณผู้ฟังครับ ในการย่อยสลายนี้จะมีแร่ธาตุอาหารพืชถูกปลดปล่อยออกมาจากปุ๋ยหมัก ให้พืชได้ใช้อยู่เรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็ถูกปลดปล่อย ออกมาตลอดเวลาและสม่ำเสมอนั่นเองครับ ช่วงนี้เราพักกันก่อนนะครับ แล้วช่วงหน้ามาฟังผลกระทบในการทำปุ๋ยนะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทำปุ๋ยหมัก มีดังนี้ครับ

  1. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลโดยตรงกับกิจกรรมย่อยสลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ถ้าจุลินทรีย์มีการย่อยสลายเร็ว (เจริญเติบโตเร็ว) อุณหภูมิภายในปุ๋ยหมักก็จะสูงขึ้น เราควรรักษาอุณหภูมิของกองปุ๋ยหมักให้อยู่ที่ 55-70 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิของกองปุ๋ยหมักสูงขึ้น ควรปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จนกระทั่งอุณหภูมิถึงจุดสูงสุด และเริ่มลดลง จึงกลับกองปุ๋ยเพื่อให้ออกซิเจนสามารถเข้าทั่วกองปุ๋ยหมักลงด้วย หลังจากนั้นอุณหภูมิของกองปุ๋ยหมักจะกลับสูงขึ้นอีกครั้ง ให้ปฏิบัติเหมือนเดิมจนกว่าอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงแสดงว่าการย่อยสลายสารอินทรีย์ในการปุ๋ยหมักเสร็จสิ้นสมบูรณ์ครับ
  2. อากาศหรือออกซิเจน เป็นสิ่งจำเป็นกับจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจน เพื่อใช้ในการย่อยสลายวัตถุอินทรีย์ ดังนั้นเราควรกลับกองปุ๋ยหมักเป็นระยะๆ เพื่อให้จุลินทรีย์ได้รับออกซิเจนอย่างพอเพียง ซึ่งจะช่วยเร่งกระบวนการหมักปุ๋ยให้เร็วขึ้น ส่วนกองปุ๋ยหมักที่ไม่ได้กลับกองจะใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า ในขณะที่การกลับกองปุ๋ยหมักจะทำให้อุณหภูมิสูงมากกว่าครับ ซึ่งยังจะช่วยทำลายวัชพืชและโรคพืชได้อีกด้วยครับคุณผู้ฟัง
  3. ความชื้น มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่ากองปุ๋ยหมักควรจะมีความชื้นเหมาะสมที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดกองปุ๋ยหมักแห้งจนเกินไป การย่อยสลายจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากจุลินทรีย์ไม่สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้ แต่กองปุ๋ยหมักก็ควรจะมีความชื้นอยู่ในช่วง 40-60 เปอร์เซนต์ครับ
  4. การกลับกองในกระหว่างกระบวนการหมักปุ๋ย จุลินทรีย์จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ในขณะที่ออกซิเจนถูกใช้ไปกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์ก็จะช้าลงครับ และอุณหภูมิในกองกลับปุ๋ยหมักก็จะลดลง จึงควรจะกลับปุ๋ยหมัก เพื่อให้อากาศหมุนเวียนในกองปุ๋ยหมักนั้นเองครับคุณผู้ฟัง เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่จุลินทรีย์และเป็นการกลับวัสดุจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน ซึ่งจะช่วยในการย่อยสลายปุ๋ยหมักให้สม่ำเสมอและรวดเร็วขึ้น ระยะเวลาในการกลับกอง เราจะต้องสังเกตจากอุณหภูมิในกองปุ๋ยหมักที่ขึ้นสูงสุดและเริ่มลดลงครับ แสดงว่าได้เวลากลับกองเพื่อให้อากาศถ่ายเทนั่นเองครับ
  5. อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน จุลินทรีย์ใช้คาร์บอนสำหรับเป็นแหล่งพลังงานและใช้ไนโตรเจนสำหรับการสังเคราะห์โปรตีนหรือเพื่อการเจริญเติบโต ในกองจุลินทรีย์ต้องการใช้คาร์บอน 30 ส่วนต่อไนโตรเจน 1 ส่วน ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้วจะมีค่า 20:1 เพื่อป้องกันการดึงไนโตรเจนจากดินเมื่อนำปุ๋ยหมักไปใช้งาน ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้าเรามาฟังในเรื่องของประโยชน์กันครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก

  1. ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ปุ๋ยหมักเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงสภาพหรือลักษณะของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ถ้าดินนั้นเป็นดินละเอียดอัดตัวกันแน่น เช่น ดินเหนียว ปุ๋ยหมักก็จะช่วยดินนั้นมีสภาพร่วนซุยมากขึ้น ไม่อัดตัวกันจนแน่นทึบ ทำให้ดินระบายน้ำดี ระบายอากาศดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำ หรือดูดซับน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อพืชให้ไว้มากยิ่งขึ้น คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าคุณสมบัติเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของปุ๋ยหมัก เพราะดินที่มีลักษณะร่วนซุย ระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดีนั้นจะทำให้รากพืชเจริญเติบโตได้รวดเร็ว แข็งแรง แตกแขนงได้มาก มีระบบรากที่สมบูรณ์ จึงดูดซับแร่ธาตุอาหารหรือน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

ส่วนในกรณีที่ดินเป็นดินเนื้อหยาบ เช่น ดินทราย ดินร่วนปนทราย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีอินทรียวัตถุอยู่น้อย ไม่อุ้มน้ำ การใส่ปุ๋ยหมัก ก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและทำให้ดินเหล่านั้นสามารถอุ้มน้ำ หรือดูดซับความชื้นไว้ให้พืชได้มากขึ้น ในดินเนื้อหยาบจึงควรต้องใส่ปุ๋ยหมักให้มากกว่าปกติ

  1. ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปุ๋ยหมักเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารที่จะปลดปล่อยธาตุอาหาร ออกมาให้แก่ต้นพืชอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอโดยทั่วไปแล้วปุ๋ยหมักจะมีปริมาณแร่ธาตุอาหารที่สำคัญ คือ ธาตุไนโตรเจน ทั้งหมดประมาณ 0.4-2.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ประมาณ 0.2-2.5 เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียมในรูปที่ละลายน้ำได้ ประมาณ 0.5-1.8 เปอร์เซ็นต์ คุณผู้ฟังครับ ปริมาณแร่ธาตุอาหารดังกล่าวจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นกับชนิดของเศษพืช มูลสัตว์ และวัสดุอื่นๆ ที่ใส่ลงไปในกองปุ๋ย

แม้ว่าปุ๋ยหมักจะมีธาตุอาหารหลักสำหรับพืชน้อยกว่าปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยหมักก็มีข้อดีตรงที่มีธาตุอาหารรองและเสริม ที่สำคัญสำหรับพืชหลายชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก สังกะสี แมงกานีส โบรอน ทองแดง โมลิบดีนัม ฯลฯ ซึ่งปกติแล้วปุ๋ยเคมีจะไม่มีหรือมีแค่เพียงบางธาตุเท่านั้นครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าแร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ไม่น้อยกว่าธาตุอาหารหลัก เพียงพืชจะต้องการเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นครับ

  1. การปลดปล่อยธาตุอาหาร โดยปกติแล้วปุ๋ยหมักจะมีความคงทนต่อการสลายตัว เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารพืชได้ดีกว่าปุ๋ยคอกที่ยังไม่ผ่านการหมักครับ โดยเฉพาะไนโตรเจนจะมีการปลดปล่อยในปริมาณที่น้อยแต่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอ เช่น การใส่ปุ๋ยมูลโคสดให้กับต้นข้าวโพดสามารถสลายตัวปลดปล่อยไนโตรเจนได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์หลังจากใส่ในดินเป็นระยะเวลา 1 ปี และผลตกค้างจากการใส่มีผลทำให้มูลโคสามารถสลายตัวปลดปล่อยไนโตรเจนได้ 18 เปอร์เซ็นต์  ในปีที่ 2 ส่วนปุ๋ยมูลโคที่ผ่านการหมักแล้วสามารถสลายตัวปลดปล่อยไนโตรเจนได้ 15 เปอร์เซ็นต์  หลังจากในดินเป็นระยะเวลา 1 ปี และผลตกค้างหลังจากการใส่มีผลทำให้มูลโคที่ผ่านกระบวนการหมักแล้วสามารถปลดปล่อยไนโตรเจนได้ 8 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ 2 ครับ ช่วงนี้เราพักกันก่อนสักครู่นะครับ

 

–เพลงคั่นรายการ-

เรามาฟังขั้นตอนการทำปุ๋ยมูลโคหมักกันนะครับ

ก่อนอื่นทำกองมูลโคและเศษหญ้าที่เหลือจากการกินของโค ให้มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร คลุมกองปุ๋ยหมักด้วยพลาสติกเพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้น แล้วให้กองทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 30 วัน ก็จะเกิดความร้อนประมาณ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนระดับนี้จะช่วยในการทำลายวัชพืช หลังจากนั้นเมื่อครบ 30 วัน ให้พลิกกลับกองมูลโค และตั้งกองใหม่ให้สูงประมาณ 1 เมตร พร้อมกับเติมจุลินทรีย์อีเอ็มน้ำ เพื่อเพิ่มความชื้นและเพิ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยในกระบวนการหมักย่อยเศษพืช แล้วกลับกองมูลหมักอีก 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละประมาณ 20-30 วัน พร้อมกับเติมจุลินทรีย์อีเอ็มหลังจากกลับกองทุกครั้งครับ

เรามาฟังการทดลองการใช้ปุ๋ยมูลโคหมักกับการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวันกันนะครับ

เริ่มจากการเตรียมแปลงปลูกหญ้า โดยการไถพรวน 2 รอบ และทำการไถยกร่องกว้าง 1.2 เมตร จากนั้นแบ่งพื้นที่การปลูกหญ้าออกเป็น 5 กลุ่มทดลอง แต่ละกลุ่มการทดลองมีความกว้างของแปลงหญ้า 5 เมตร มีความยาว 30 เมตร โดยแบ่งออกเป็น 5 แปลงย่อย และทำการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน โดยปลูกแปลงละ 2 ท่อนพันธุ์ และปลูกระยะห่างตามความยาวร่องท่อนละ 0.6 เมตร ทำการปลูกจนเต็มพื้นที่

หลังจากการปลูกเสร็จแล้ว ทำการสุ่มแปลงหญ้า เพื่อใส่ปุ๋ยมูลโคหมักตามปริมาณที่คำนวณได้ในแต่ละกลุ่มการทดลอง และทำการตัดหญ้า 3 ครั้ง โดยครั้งแรกหลังจากการปลูกแล้วเป็นระยะประมาณ 70 วัน ครั้งที่สองเป็นระยะเวลา 60 วัน และครั้งที่สามตัดหลังจากครั้งที่สองเป็นระยะเวลา 60 วันครับ

ส่วนการใส่ปุ๋ยหมักแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับปริมาณของมูลโคดิบครับ

กลุ่มที่ 1 ไม่ใส่ปุ๋ยตลอดการทดลอง

กลุ่มที่ 2 ใส่ปุ๋ยมูลโคหลักกระจายเต็มพื้นที่ทดลอง ในปริมาณ 500 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่ในการปลูกครั้งแรก แต่หลังจากตัดครั้งแรกและครั้งที่สองจะใส่ปุ๋ยมูลโคหมัก 250 กิโลกรัมขงองน้ำหนักแห้งต่อไร่ครับ

กลุ่มที่ 3 ใส่ปุ่ยมูลโคหมักในปริมาณ 1,000 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่ในการปลูกครั้งแรก แต่หลังจากการตัดหญ้าครั้งแรกและครั้งที่ 2 ก็ให้ใส่เพียง 500 กิโลกรัม

กลุ่มที่ 4 ใส่ประมาณ 1,500 กิโลกรัม และหลังจากการตัดครั้งแรกและครั้งที่ 2 ให้ใส่เพียง 750 กิโลกรัมต่อไร่

กลุ่มที่ 5 ใส่ปุ๋ยมูลโคหนักในปริมาณ 2,000 กิโลกรัม แต่หลังจากการตัดหญ้าครั้งแรกและครั้งที่ 2 ก็ให้เหลือ 1,000 กิโลกรัมของน้ำหนักแห้งต่อไร่ครับ และสถานที่ทำการทดลองในการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค สถาบันวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ และวิเคราะห์หาน้ำหนักแห้งของปุ๋ยมูลโค ณ ห้องปฏิบัติการอาหารสัตว์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางแสน ช่วงนี้พักกันก่อนสักครุ่นะครับ แล้วช่วงหน้ามาติดตามผลการทดลองกันนะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ ผลการทดลองผลผลิตของหญ้าเนเปียร์ไต้หวันจากการตัดครั้งแรก 70 วัน หลังจากเริ่มปลูก ผลผลิตสดต่อไร่ของหญ้าเนเปียร์ที่ใส่ปุ๋ยมูลโคหมักปริมาณ 1,500 และ 2,000 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่มีปริมาณที่สูงสุดครับ รวมทั้งความสูงของลำต้น น้ำหนักกอ และจำนวนต้นต่อกองสุงกว่าจำนวนกลุ่มที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือใส่มูลโคหมักในปริมาณต่ำ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยมูลโคหมักในครั้งแรก หรือรองพื้น เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวันควรใส่ในปริมาณ 1,500 – 2,000 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่

ส่วนผลผลิตของหญ้าเนเปียร์ไต้หวันจากการตัดครั้งที่ 2 ควรใส่ปุ๋ยอยู่ที่ 750 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งได้ผลผลิตที่สูง ทั้งจำนวนกอและน้ำหนักกอ ความสูง และจะได้ผลผลิตมากกว่าการไม่ใส่ปุ๋ยเลยถึง 3.5 เท่า

ส่วนหญ้าเนเปียร์ไต้หวันจากการตัดครั้งที่ 3 หลังจากตัดครั้งที่ 2 60 วัน ผลผลิตที่ได้ดีที่สูง คือ การใส่ปุ๋ย 1,000 กิโลกรัม

ดังนั้นเรามาสรุปผลการทดลองกันครับ การใส่ปุ๋ยมูลโคหมักในครั้งแรกของการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวัน หรือการรองพื้น สามารถใส่ปุ๋ยสูงถึงระดับ 2,000 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่ และการใส่ในครั้งต่อไปหลังจากการตัด ควรใส่ในปริมาณ 1,000 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่

คุณผู้ฟังครับ จากการศึกษาการใช้ปุ๋ยมูลโคหมักในการปลูกหญ้าเนเปียร์ไต้หวันในระบบเกษตรอินทรีย์ สามารถเพิ่มเพิ่มผลผลิตได้ดีกว่าการนำมูลโคสดมาใส่โดยตรง ในขณะที่กระบวนการทำมูลโคหมักมีวิธีการไม่ยุ่งยากมากนักและต้นทุนก็ไม่สูงครับ ดังนั้นถ้าจะให้ดีเกษตรกรควรทำการหมักมูลโคก่อนนำไปใช้ในแปลงหญ้า และถ้าเกษตรกรมีมูลโคหมักมากเกินความต้องการใช้ในฟาร์ม มูลโคหมักที่เหลือยังสามารถแปรรูปเป็นมูลโคหมักอัดเม็ดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้การทำปุ๋ยมูลโคหมักยังมีประโยชน์ทางอ้อม ในแง่ของการกำจัดของเสียและกลิ่นที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง อีกทั้งยังเป็นการหมุนเวียนอินทรีย์สารกลับสู่ระบบนิเวศ เพื่อความสมดุลตามหลักของเกษตรอินทรีย์ แต่ถ้าเกษตรกรเลือกที่จะใช้มูลโคสด ไม่ควรจะนำไปใช้ในทันทีครับ ก่อนนำไปใช้ควรตั้งกองทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้ความเค็มจากมูลโคเจือจางลงก่อน หากจะนำไปใช่ทันทีควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ สำหรับวันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากวารสาร ปศุสัตว์เกษตรศาสตร์ ปีที่ 38 ฉบับที่151 ครับ

สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ