ข้าวโพด : การแพร่กระจายของข้าวโพดสู่ประเทศไทย

  • พ.ศ.2223  ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำข้าวโพดเข้ามาสู่ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น จากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้าวโพดไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย แต่ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าบรรพบุรุษของไทยรู้จักปลูกข้าวโพดตั้งแต่เมื่อใด  ถึงแม้จะมีนักค้นคว้าบางท่านกล่าวว่า ชนชาติไทยอาจรู้จักปลูกข้าวโพดกันมาก่อนที่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมทองเสียอีก บางท่านสันนิษฐานว่าได้รับข้าวโพดมาจากอินเดีย แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัด หนังสือพรรณไม้ต่างประเทศของพระยาวินิจวนันดร กล่าวว่า ข้าวโพด ถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส ในปี พ.ศ.2223 แต่เป็นพันธุ์ประเภทใดไม่ปรากฏ  และมีจดหมายเหตุของ ลาลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในระหว่างปี พ.ศ.2230-2231 กล่าวว่า “คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวน และต้มกินหรือเผากินทั้งฝัก โดยมิได้ปอกเปลือกหรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน” และยังได้อธิบายถึงข้าวโพดสาลี (kaou-possali) ว่าเป็นอาหารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน  จากจดหมายเหตุนี้ทำให้ทราบว่า ข้าวโพดมีปลูกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว แต่อาจยังไม่แพร่หลาย  เพราะข้าวโพดไม่ใช่อาหารหลักของคนไทยเหมือนข้าวเจ้า

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคต้นๆของการกสิกรรมสมัยใหม่ของประเทศไทย มีนักการเกษตรรุ่นแรกๆหลายท่านได้ไปศึกษาวิชาการเกษตรแผนใหม่มาจากต่างประเทศ และได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกพืชไร่หรือพืชดอน เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และเพื่อการทำไร่นาผสม อันเป็นการบุกเบิกแนวใหม่ของการกสิกรรมในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเคยยึดมั่นอยู่แต่ข้าวเพียงอย่างเดียว ให้ขึ้นอยู่กับพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด ในบรรดาพืชไร่เหล่านี้ก็มีข้าวโพดรวมอยู่ด้วย ข้าวโพดจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

  • พ.ศ.2463 ม.จ. สิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ซึ่งได้ลาออกจากราชการไปทำไร่อยู่ที่ตำบลบางเบิด อำเภอสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทดลองสั่งพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) มาจากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสัน เยลโล เดนต์ (nicholson’s yellow dent) ซึ่งมีเมล็ดสีเหลือง และพันธุ์เม็กซิกันจูน (mexican june) ซึ่งมีเมล็ดสีขาว โดยทดลองปลูกที่ฟาร์มบางเบิด

28-crop-crop27

                       ม.จ. สิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ของเมืองไทย

 

  • พ.ศ. 2467 ม.จ. สิทธิพร กฤดากร  เป็นผู้ริเริ่มนำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์  เช่นใช้เลี้ยงไก่ไข่ขายส่งตลาดกรุงเทพฯ และเลี้ยงสุกรขายตลาดปีนัง นอกจากนี้ ท่านยังได้ส่งไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย และได้รายงานไว้ว่าข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์นี้ขึ้นได้ดีมาก

แต่การใช้ข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ในขณะนั้นเป็นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจากหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาสาธิตและกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตาม ทำให้ผู้เลี้ยงไก่รู้จักใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากในเวลานั้นข้าวโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่

  • พ.ศ. 2469 พระยาเทพศาสตร์สถิต ผู้ควบคุมโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำพันธุ์ข้าวโพดทั้ง 2 พันธุ์ไปปลูกที่ตำบลบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเมื่อโรงเรียนย้ายมาอยู่ที่ทับกวาง ได้นำข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์มาปลูกแบบการค้า โดยใช้เครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ปรากฏว่า ได้ฝักใหญ่ และงามดีมาก เพราะดินเป็นดินใหม่   หลวงชุณห์กสิกร ได้รายงานว่า ข้าวโพดพันธุ์เม็กซิกันจูน ซึ่งทดลองปลูกที่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมทับกวางได้ผลเฉลี่ย 2,300 ฝัก/ไร่ หรือเมล็ดแก่ 825 ปอนด์/ไร่ โดยพืชที่ปลูกระหว่างหลุมข้าวโพดมีถั่วฝักยาว ส่วนระหว่างแถวมีถั่วลิสง และพริกขี้หนู ดินที่ปลูกไม่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยอะไรเลย และขณะนั้น ขายได้ราคาปอนด์ละ 10 สตางค์ ปรากฏว่าได้กำไรไร่ละ 30 บาท ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมแห่งนี้ได้ทำการปลูกข้าวโพดทั้ง 2  พันธุ์เป็นการค้าเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปี และเมล็ดพันธุ์ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่กสิกรจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยกสิกรได้คัดเลือก และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และได้รู้จักกันในนามของข้าวโพดฟันม้า หรือข้าวโพดพันธุ์ปากช่อง