น้ำแข็งเหลวโอโซน (Ozone Slurry Ice)
สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มีการหารายได้จากการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทางการประมงเป็นภารกิจหนึ่งที่มีความจำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป โดยการประยุกต์องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแปรรูปสัตว์น้ำที่มีในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบคือ สัตว์น้ำเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่เกิดการเสื่อมเสียได้ง่ายโดยจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากการตาย ซึ่งสาเหตุการเสื่อมเสียเกิดจากการทำงานของเอนไซม์ภายในตัวปลาและการย่อยสลายจากการเจริญของจุลินทรีย์ รวมทั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันส่งผลให้กลิ่นหืน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางด้านประสาทสัมผัส กายภาพ เคมีและคุณค่าทางโภชนาการของสัตว์น้ำ
น้ำแข็งเหลวโอโซน เป็นเทคนิคทำความเย็นเพื่อรักษาความสดของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยผลิตได้จากกระบวนการลดอุณหภูมิของน้ำทะเล โดยมีความเค็มระหว่าง 15-40 ppt เป็นสารแขวนลอยที่มีอุณหภูมิ -1 ถึง -2 องศาเซลเซียส มีประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพความสดของสัตว์น้ำได้ดีกว่าการใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากน้ำจืด โดยการใช้น้ำแข็งเหลวโอโซนสามารถทำความเย็นได้เร็วกว่าน้ำแข็งน้ำจืดถึง 4 เท่า มีข้อดีคือ มีอัตราการทำความเย็นแก่สัตว์น้ำได้เร็ว ลดความเสียหายทางกายภาพต่อสัตว์น้ำด้วยอนุภาคของน้ำแข็งที่อยู่ในรูปของแบบสารละลายและผลึกขนาดเล็กร่วมถึงการเก็บรักษาสัตว์น้ำในน้ำแข็งเหลวโอโซนสามารถรักษาคุณภาพทางเคมี ประสาทสัมผัส และมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ได้ดี การใช้น้ำแข็งเหลวโอโซนจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่นำไปใช้เพื่อเก็บรักษาคุณภาพความสดของสัตว์น้ำเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารระดับพรีเมี่ยม และทำให้ชาวประมงสามารถขายสัตว์น้ำในราคาที่สูงขึ้น
การเตรียมน้ำแข็งเหลวโอโซน
1. เตรียมน้ำทะเลที่มีความเค็ม 24-26 ppt
2. ฆ่าเชื้อน้ำทะเลด้วยคลอรีน ความเข้มข้น 65% เติมอากาศพร้อมทำการพักน้ำทะเลเพื่อให้คลอรีนระเหยทดสอบการคงเหลือของคลอรีนด้วย โซเดียมไทโอซัลเฟต
3. ปั้มน้ำทะเลเข้าถัง Precool ให้น้ำถังมีอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส
4. เติมโอโซนในน้ำทะเล ให้มีความเข้มข้น 0.3 ppm
5. ปล่อยน้ำแข็งเหลวโอโซน ใส่ถังน้ำแข็ง
6. บรรทุกยังน้ำแข็งเหลวโอโซนไปยังท่าเรือเดินทางไปกระชังปลา
7. นำปลาเป็นมาทำการรีดเลือด แทงสมอง ไล่ลวด กรีดเหงือก
8. จากนั้นนำปลาจุ่มลงในน้ำทะเลเย็นจัด โดยเอาหัวลง ปล่อยให้เลือดออกจนสีเหงือกเริ่มซีด
9. นำปลาใส่ถุงพลาสติก มัดปิดปากถุงป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้
10. แช่ปลาลงในน้ำแข็งเหลวโอโซน บรรทุกปลากลับมายังสถานีวิจัยฯ
11. ทำการเปลี่ยนน้ำแข็งเหลวโอโซนแช่ปลา
การรีดเลือด (Ikejime)
ขั้นตอนการรีดเลือดปลา เป็นการลดผลกระทบทั้งของปฏิกิริยาทางชีวเคมี ช่วยยับยั้งภาวะกล้ามเนื้อปลาแข็งเกร็งจากความเครียดแล้ว สามารถลดแบคทีเรียในปลาและรักษาพลังงานในรูปของ ATP ได้ ทำให้ปลายังคงสภาพความสดได้ดี และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น
ผลงานวิจัยโดย :
นางสาวรติวรรณ มีทอง นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ
สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ศูนย์บริหารงานวิจัยและสนับสนุนวิชาการ
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-7788-0297
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
นางสาวรติวรรณ มีทอง
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6