เทคนิคการผลัดขนในไก่ไข่เพื่อเพิ่มผลผลิตและให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของไก่

ไก่เป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง และนิยมเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไข่จำนวนมาก เนื่องจากมนุษย์นิยมรับประทานไข่ไก่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับไข่สัตว์ชนิดอื่น เช่น เป็ด นกกระทา ปลาและปลาคาเวียร์ ความต้องการบริโภคไข่ไก่ของมนุษย์ส่งผลให้เกษตรกรไทยยังคงประสบกับปัญหาเกี่ยวกับความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานมาอย่างต่อเนื่อง ประสบกับปัญหาวิกฤติขาดความต่อเนื่องในการจัดหาซื้อไก่ทดแทนสำหรับผลัดเปลี่ยนไปแก่ที่ผ่านการให้ผลผลิตขายครบปี ซึ่งจำเป็นต้องจำหน่ายเป็นไก่แก่ปลดระวาง นอกจากนี้เกษตรกรอาจมีความจำเป็นบางประการที่ไม่สามารถจำหน่ายไก่แก่ปลดระวางออกจากฟาร์มได้ ดังนั้นหากมีเทคนิคการจัดการฟาร์มที่สามารถยืดอายุการให้ผลผลิตไข่ของแม่ไก่แก่ภายในฟาร์มออกไปได้อีกโดยไม่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของไก่นั้น นับได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง จากงานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบันจึงพบว่ามีการค้นพบวิธีการต่างๆในการยืดอายุไก่ไข่เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การอดน้ำ อดอาหาร หรือทั้งอดอาหารและน้ำไก่ร่วมกัน เป็นเวลานานประมาณ 10-14 วัน เพื่อกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่และได้ผลผลิตเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นการกะรตุ้นให้ไก่เกิดความเครียดหยุดไข่และผลัดขน หลังจากผลัดขนเสร็จเรียบร้อยแล้วแม่ไก่จะเริ่มกลับมาให้ผลผลิตขายในรอบใหม่เหมือนกับไก่สาวที่พึ่งเริ่มให้ผลผลิตไข่ อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณผนังลำไส้ของไก่กลุ่มที่ถูกอดอาหาร โดยพบอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ ส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพของไก่ไข่ นอกจากนี้การใช้อาหารสูตรผลัดขนที่ประกอบด้วยอาหารพื้นฐานล้วนๆ เช่น รำข้าวสาลีส่วนผสมระหว่างข้าวโพดกับรำข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์หรือการใช้วัสดุผลพลอยได้จากการแปรรูปข้าวโพด เป็นต้น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิต แต่วิธีนี้เป็นการกระตุ้นการผลัดขนที่ใช้เวลานานประมาณ 5-9 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลต่อการปรับปรุงผลผลิตไข่และคุณภาพไข่ในช่วงหลังการผลัดขน อย่างไรก็ตามการให้สัตว์อยู่ในสภาพปกติไปจากธรรมชาติเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของไก่ไข่ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยใหม่ๆในปัจจุบันที่พยายามคิดค้นศึกษาวิธีทางเลือกทดแทนวิธีการเหล่านี้

image002

ภาพประกอบจาก Applied Animal Nutrition (http://202.28.48.140/agrizaa/animalnutrition/?page_id=158)

รองศาสตราจารย์ นิรัตน์ กองรัตนานันท์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนที่ใช้ระยะเวลาช่วงสั้นๆ ที่มีต่อการฝ่อของอวัยวะสืบพันธุ์ ค่าทางโลหิตวิทยา พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อผนังลำไส้ คุณภาพกระดูก รวมทั้งสมรรถภาพการให้ผลผลิตไข่และคุณภาพไข่หลังการผลัดขนในไก่ไข่สายพันธุ์ลูกผสมทางการค้า โดยเปรียบเทียบการใช้อาหารสูตรผลัดขนที่ประกอบด้วยอาหารพื้นฐานล้วนๆ ที่แตกต่างกัน 4 ชนิดได้แก่ ปลายข้าว รำละเอียด ข้าวโพดบด และมันสำปะหลังบด ทดลองในไก่ไข่สายพันธุ์ลูกผสมทางการค้าเอ็ชแอนด์เอ็นบราวน์ อายุ 95 สัปดาห์ จำนวน 300 ตัว แบ่งการทดลองออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม (เป็นกลุ่มที่ไม่ได้กระตุ้นให้ผลัดขน) ได้รับอาหารไก่ไข่และแสงสว่างวันละ 16 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการทดลอง กลุ่มที่ 2 3 4 และ 5 ถูกกระตุ้นให้พบโดยได้รับอาหารสูตรผัดขนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ปลายข้าว รําละเอียด ข้าวโพดบด และมันสำปะหลังบด ตามลำดับ เป็นเวลา 14 วัน โดยได้รับน้ำดื่มและให้กินอาหารอย่างเต็มที่ตลอดเวลาและได้รับแสงสว่างวันละ 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นอาหารไก่ไข่และได้รับแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งบันทึกสมรรถภาพการผลิตเป็นเวลา 20 สัปดาห์ จากผลการทดลองบ่งชี้ว่ามันสำปะหลังบดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสูตรผลัดขนในโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนในไก่ไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลกระทบต่อสภาวะความเครียด คุณภาพกระดูก พยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อผนังลำไส้ หรืออัตราการตาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าโปรแกรมกระตุ้นการผลัดขนไก่วิธีนี้เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการจัดการฟาร์มที่เกษตรกรสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการยืดระยะเวลาการให้ผลผลิตไข่ของแม่ไก่ออกไปได้อีกและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง

image003

ภาพประกอบจาก CP e-NEWS โดยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF

 

เรียบเรียงโดย    : กัญญารัตน์ สุวรรณทีป ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. e-mail : rdikrsu@ku.ac.th Tel. 0-2561-1474