รายการวิทยุ เรื่อง ราสพ์เบอรี่ : ผลไม้ต้านมะเร็งและการผลิตต้นแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ/เบ็ญจารัชด ทองยืน

บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 20  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. 2558

เรื่อง ราสพ์เบอรี่ : ผลไม้ต้านมะเร็งและการผลิตต้นแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ

บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา

 

…………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดีครับคุณผู้ฟัง วันนี้กระผมมีผลงานวิจัยดีๆมาฝากครับ แต่ก่อนอื่นเลยกระผมขอแนะนำพิธีกรอีกท่านนึงก่อนนะครับ นั้นก็คือ คุณมณฑา ปานทิม เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกันนั่นเองครับคุณผู้ฟัง เรื่องที่กระผมจะนำมาเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับความรู้กันในวันนี้ นั่นก็คือ ราสพ์เบอร์รี ผลงานการผลิตต้นแม่พันธ์ของคุณเบ็ญจารัชด  ทองยืน, ณรงค์ชัย  พิพัฒน์ธนวงศ์, วิสิฐ  กิจสมพร, สมศักดิ์  รุ่งอรุณและพรประเสริฐ  ธรรมอินทร์ จากศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร สถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์  (หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง) มูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ครับ

คุณผู้ฟังว่า กระผมว่าผลไม้ชนิดนี้คุณผู้ฟังต้องเคยได้ยินกันบ้างแหละครับ แต่เราไม่ได้ใกล้ชิดกับมันเท่าไรนักเพราะส่วนใหญ่เป็นผลไม้นำเข้าจากเมืองนอก และมีราคาที่ค่อนข้างแพง เราจะเห็นได้บ่อยในรูปแบบการแปรรูปแล้ว อย่างเช่นมาในรูปแบบแยมทาขนมปัง ซอส หรือจะเป็นเครื่องดื่มอย่างเช่นไวน์ เป็นต้นครับ ก่อนอื่นเลยครับมาทำความรู้จักกับราสพ์เบอร์รี่กันก่อนเลยครับ คุณมณฑาครับ ราสพ์เบอร์รี่นี่เป็นอย่างไรหรือครับ ?

ราสพ์เบอร์รี เป็นชื่อเรียกผลไม้หลายชนิดในสกุลรูบัส (Rubus) ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับแบล็กเบอร์รี ส่วนใหญ่อยู่ในสกุลย่อยไอเดโอบาทัส (Idaeobatus) มีต้นกำเนิดมาจากแถบยุโรป ผลราสพ์เบอร์รีสามารถรับประทานได้ ซึ่งมีทั้งรสหวานและเปรี้ยว ผลมีสีแดงขนาดเล็กและยังเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญเป็นอย่างในปัจจุบัน สามารถเจริญเติบโตได้อย่างกว้างขวาง อยู่ได้ทุกสภาพภูมิอากาศทั่วโลก แต่นิยมปลูกกันในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว อย่างเช่นยุโรปและอเมริกา ลำต้นและตัวต้นก็มีความแข็งแรงมากสามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆไม่มีขีดจำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มันสามารถงอกลำต้นใหม่จากลำต้นเดิมได้และรากของมันจะเจาะลึกลงไปในดิน ส่วนใบก็สามารถนำไปทำยาได้ การเก็บเกี่ยวนิยมเก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลสุกงอมโดยให้ดูจากผลจะมีสีเข้มสด (สีแดง, ม่วง, ดำ) ในช่วงนี้ผลจะมีความหวานมากจึงเหมาะสำหรับนำไปรับประทานหรือนำไปทำแยมผลไม้และเหมาะที่จะนำไปทำอาหารอย่างอื่นทั้งของคาวและของหวาน

ในภาษาท้องถิ่นของไทยเรียกว่า หนามไข่ปู ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์บนพื้นที่ภูเขาสูง อาทิ ดอยภูคา จังหวัดน่าน, ดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, ภูกระดึง จังหวัดเลย

คุณผู้ฟังค่ะ ราสพ์เบอรี่ถูกจัดว่าเป็นผลไม้ที่สามารถให้ผลผลิตที่รวดเร็วและค่อนข้างมาก  มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายตามประเทศต่างๆทั่วโลกรองลงมาจากสตรอเบอรีและองุ่น ในช่วงติดผล ซึ่งตรงกับฤดูร้อนในต่างประเทศจะให้ผลผลิตได้ถึง 2-3 กิโลกรัม ต่อความยาวแปลง 1 เมตร และในฤดูหนาวให้ผลผลิต 0.6  กิโลกรัมต่อความยาวแปลง 1 เมตร

ส่วนพื้นที่การผลิตที่เป็นการค้าจะอยู่ในมลรัฐต่างๆของประเทศอเมริกาตะวันออกและสก็อตแลนด์  ทางใต้ของอังกฤษ ตะวันออกของแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ชิลี และรัสเซีย รวมทั้งหลายประเทศในยุโรป   มีการปลูกในลักษณะสวนหลังบ้านและผลิตเป็นการค้าเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศฟินแลนด์และสวีเดน   นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลูกในประเทศเขตร้อน ซึ่งมีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ มีความหนาวเย็นเพียงพอต่อความต้องการของราสพ์เบอรี่ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะค่ะ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า ราสพ์เบอรีเป็นพืชอายุหลายปี(Perennial) โดยมีการขยายพันธุ์จากการใช้หน่อ (Sucker)  ที่แทงขึ้นมาในแต่ละปีและจากนั้นก็ติดผล(Primocane Fruiting) ต่อจากนั้นจะแห้งตายไปในหนึ่งฤดู การเขตกรรมโดยการตัดลำต้นถึงระดับพื้นดินในช่วงที่มีการฟักตัวเป็นการช่วยลดแรงงานในการตัดแต่งกิ่ง และอันตรายจากความหนาวเย็นในฤดูหนาวได้ ส่วนใหญ่นะครับพันธุ์ราสพ์เบอรี่ ประเภทสีแดงกำเนิดมาจากสองประเภท ได้แก่   Rubus ideaeus L.  :  R. ideaeus  vulgatus  Arrhen  ราสพ์เบอรีท้องถิ่นในยุโรป  โดยผลมีสีแดงเข้ม  รูปกรวย  มีขนติดเล็กน้อยหรือไม่มี  กับ R. ideaeus  strigosus  (Michx)   ราสพ์เบอรีท้องถิ่นในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก ผลสีแดงอ่อน รูปกลม และมีขนติดทั่วผล  R. ideaeus   ทั้งสอง  subspecies นี้ยังคงถูกใช้เป็นพันธุกรรมสำหรับโปรแกรมการผสมพันธุ์ของราสพ์เบอรีแดง เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  รวมทั้งสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคต่างๆ อีกด้วยครับด้วย

คุณผู้ฟังครับ ราสพ์เบอรีเป็นไม้ผลขนาดเล็กที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ต้านมะเร็ง ราสพ์เบอรีอุดมด้วยกรดเอลลาจิก(Ellagic acid) ซึ่งเป็นสารประกอบฟีนอลตามธรรมชาติ  ในการวิจัยทางการแพทย์ได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดว่ามีฤทธิ์แรงที่สุดในการป้องกันมะเร็ง และยังได้พบว่ากรดเอลลาจิกสามารถจับสารพิษก่อมะเร็งไม่ให้จับกับดีเอ็นเอ ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลดลง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และทำให้เซลล์มะเร็งเกิดภาวะตายตามธรรมชาติ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติเหมือนยาเคมีบำบัด และมีฤทธิ์แรงที่สุดในการป้องกันมะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และอาจยับยั้งไม่ให้มะเร็งลุกลาม คุณมลฑาครับ นอกจากประโยชน์ที่กระผมได้กล่าวไปแล้วนี้ ยังมีอะไรเพิ่มอีกไหมครับ เพราะกระผมคิดว่าน่าจะมีประโยน์มากกว่านี้อีกแน่นอน

ใช่คะ ประโยชน์ของราสพ์เบอร์รีมีเยอะมากคะ ดิฉันจะบอกเป็นข้อๆดังนี้นะคะ แต่เดี๋ยวเราจะมาติดตามกันต่อในตอนหน้านะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

มาต่อกันที่ประโยชน์ของเจ้าราสพ์เบอร์รี่กันคะ

  1. ผลไม้ราสเบอรี่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ และยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย
  2. ราสเบอรี่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ
  3. ช่วยต่อต้านมะเร็ง เพราะอุดมไปด้วยกรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งในทางการแพทย์ได้รับการยอมรับว่ามันมีฤทธิ์แรงที่สุดในการช่วยป้องกันมะเร็ง โดยพบว่ากรดชนิดนี้สามารถช่วยจับสารพิษที่เป็นสารก่อมะร็งไม่ให้จับกับดีเอ็นเอ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลาม ทำให้เซลล์มะเร็งเกิดภาวะตายตามธรรมชาติ โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เหมือนการใช้ยาเคมีบำบัด
  4. สรรพคุณราสเบอรี่ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม
  5. ราสเบอร์รี่ ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย และยังมีวิตามินเอ วิตามินอี ที่ช่วยในการชะลอการเกิดริ้วรอย บำรุงผิวพรรณ และช่วยสมานผิวหรือแผลต่างๆ ให้หายเร็วขึ้น
  6. ราสเบอร์รี่ประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญอย่างแมงกานีส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ทองแดง และธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยควบคุมอัตราการเต้นหัวใจและช่วยควบคุมความดันโลหิต และช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
  7. ราสเบอร์รี่อุมไปด้วยวิตามินบีรวม วิตามินเค และวิตามินอื่นๆ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผลาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน
  8. ราสเบอร์รี่ลดอ้วนผลไม้ราสเบอร์รี่มีน้ำตาลต่ำ จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้
  9. สารสีแดงในราสเบอร์รี่มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
  10. ราสเบอร์รี่มีสารอาหารที่เอื้อต่อการมีบุตรทั้งเพศชายและเพศหญิง
  11. ช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสเปิร์มได้ถึง 20% (สาเหตุอาจมาจากภาวะความเครียด) ซึ่งมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้บริโภคผลไม้ราสเบอร์รี่
  12. ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศได้เป็นอย่างดี
  13. ช่วยลดโอกาสการแท้งบุตรในเพศหญิง เพราะราสเบอร์รี่มีโฟเลต ที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับตัวอ่อนระหว่างการตั้งครรภ์
  14. ราสเบอร์รี่ สรรพคุณของใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาได้
  15. ราสเบอรี่สดใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือนำไปทำอาหารอย่างอื่นได้ทั้งอาหารคาวและหวาน
  16. ราสเบอร์รี่ สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นน้ำราสเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ปั่น เค้กราสเบอร์รี่ แยมราสเบอร์รี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้แต่งกลิ่นสีในขนมหวานอย่างหลากหลาย ฯลฯ

ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะค่ะ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

กลับมาฟังกันต่อครับ ราสพ์เบอรีมีกรดเอลลาจิกสูงสุดถึง 1,500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแห้ง  1  กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารธรรมชาติถึง 46 ชนิด  รองลงมาคือสตรอเบอรี 639 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีแทนนิน ฟลาโวนอยด์ส   เพคติน  กรดซิตริก  กรดมาลิก  น้ำตาลผลไม้  วิตามินซี และเกลือแร่หลายชนิดโดยเฉพาะธาตุเหล็ก  แมกนีเซียม และแคลเซียม นอกจากราสพ์เบอรีจะมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยใช้รับประทานผลสดแบบผลไม้ทั่วไปแล้ว  เป้าหมายหลักก็เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปเหมือนกับไม้ผลขนาดเล็กอื่นๆ อย่างเช่นสตรอเบอรี บลูเบอรี และกีวีฟรุต เป็นต้น ซึ่งจะพบว่าในขณะนี้ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ผลขนาดเล็กเหล่านี้มากมายปีละหลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในรูปของแยมทาขนมปัง เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หรือแอลกอฮอล์ ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพประเภทนมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้สีและกลิ่นในขนมหวานหลากหลายชนิดที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนั่นเอง

ราสพ์เบอรีพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกทดสอบในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงมีการเจริญเติบโตที่ดีพอสมควรครับ คุณภาพผลผลิตอยู่ในขั้นที่ดีและมีน้ำหนักเฉลี่ย 348 กรัมต่อ 100 ผล

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ได้ทางมูลนิธิโครงการหลวงได้มีการจัดส่งผลราสพ์เบอรีไปจำหน่ายในลักษณะผลสดโดยผ่านฝ่ายตลาดเป็นการทดสอบผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท คาดว่าเป็นไม้ผลขนาดเล็กที่มีศักยภาพและส่งเสริมผลิตเป็นการค้าภายในประเทศต่อไปได้นั่นเองครับ

การปลูกราสพ์เบอรีมักพบโรคที่ทำให้ผลผลิตเสียหายได้แก่ Virus, Spur blight, Cane spot, Cane blight, Grey Mould, Iron deficiency ฉะนั้นนะครับ เราจึงจำเป็นต้องใช้ต้นแม่พันธุ์ในการปลูกครั้งแรกที่มีความแข็งแรง โดยพบว่าอาจสามารถอยู่ให้ผลผลิตได้ถึง 12 ปี ถ้าหากใช้ต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคไวรัส

ใช้ราสพ์เบอรีพันธุ์  Amity  ในการทดลองวิจัย  เปรียบเทียบวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ส่วนที่ตัดจาก Meristem และส่วนที่ใช้ตาข้างและยอดเลี้ยงโดยไม่ตัด Meristem คุณผู้ฟังครับทราบไหมครับว่า Meristem นั้นหมายถึง เนื้อเยื่อเจริญ  คือเนื้อเยื่อในพืชที่ประกอบไปด้วยเซลล์ที่ยังไม่ผ่านการเปลี่ยนสภาพ (เซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้) ซึ่งมักพบในตำแหน่งที่พืชมีการเจริญเติบโต โดยปกติแล้วเซลล์พืชที่ทำการแบ่งตัวแล้วจะไม่สามารถแบ่งตัวออกมาได้อีก เนื้อเยื่อเจริญจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแบ่งตัวของเซลล์เนื่องจากประกอบไปด้วยเซลล์ใหม่ที่จะถูกนำไปขยายเนื้อเยื่อและนำไปสู่สร้างอวัยวะใหม่ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับต้นพืช ช่วงหน้ามาฟังวิธีการทดลองของนักวิจัยกันนะครับ

 

-เพลงคั่นรายการ-

วิธีการทดลองในการวิจัยในครั้งนี้ครับ

  1. การนำตาหรือยอดของราสพ์เบอรี่ล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว นำมาตัดเป็นท่อน แล้วแช่ในแอลกอฮอล์ 95%   ระยะเวลา 1-2 นาที
  2. ตัดใบออกและล้างน้ำกลั่น 1 ครั้ง นำตาหรือยอดแช่ใน Clorox 10% เขย่า  15  นาที
  3. นำชิ้นส่วนที่แช่ออกจาก Clorox 10%  แล้วนำมาแช่เมอคิวลิคคลอไลด์ (HgCL2)1%   ระยะเวลา  5  นาที  แล้วล้างด้วยน้ำกลั่น 3 ครั้งๆ ละ 5 นาที
  4. ทำการตัด เนื้อเยื่อเจริญหรือ Meristem ในตู้ปลอดเชื้อ โดยตัดให้ถึงเนื้อเยื่อเจริญที่เป็นวุ้นด้านใน

5.เลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารสังเคราะห์วิทยาศาสตร์สูตร M.S.(Murashige & skoog,1962)  Free  Hormone   เพื่อชักนำ ให้เกิดยอด   นำเนื้อเยื่อราสพ์เบอรีวางในชั้นโดยให้แสงจากหลอดนีออนวันละ  8-10  ชั่วโมง   อุณหภูมิไม่เกิน  30  oC ต้นเนื้อเยื่อเริ่มแตกใบอ่อนใช้เวลา  45-60  วัน

  1. กระตุ้นให้เกิดการแตกกอ เปลี่ยนอาหารโดยใช้อาหารสูตรขยายปริมาณ MS+BA 0.1 ppm/l  โดยการ  sub culture      ต้นจะเกิดการแตกกอจากบริเวณโคนต้นใช้เวลา  45  วัน
  2. ทำการแยกกอและเปลี่ยนอาหารโดยใช้อาหารสูตรขยายปริมาณ M.S. Free Hormone   ชักนำให้เกิดราก โดยระยะเวลาการเกิดราก   60  วัน
  3. เมื่อต้นแข็งแรง ย้ายออกจากขวด   ลักษณะการย้ายเหมือนสตรอเบอรี่   คลุมถุงพลาสติกไว้  7-10 วัน   และเปิดถุงออกเลี้ยงในตะกร้าเพาะกล้า  1  เดือน  แล้วจึงย้ายลงเลี้ยงในถาดหลุม 1 เดือน หลังจากนั้นย้ายลงกระถางอีก 1 เดือน จึงลงปลูกในแปลง

คุณผู้ฟังครับ จากการเปรียบเทียบวิธีการเลี้ยงเบื้องต้น  ส่วนที่ตัดจาก  Meristem   จะเจริญช้าแต่ไม่มีเชื้อราและแบคทีเรียปนเปื้อน  ส่วนที่ใช้ตาข้างและยอดเลี้ยงโดยไม่ตัด  Meristem  จะมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อสูงมากครับ

ส่วนการปลูกทดสอบในแปลงทดลองสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์  (หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง)  เปรียบเทียบกับต้น Sucker ตัดแต่งกิ่ง และเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต   สังเกตอาการผิดปกติในแปลงทดสอบจนสิ้นสุดการทดลอง

จากผลการวิจัยพบว่าสารแอนตี้ออกซิเดนท์ในราสเบอร์รี่สามารถยับยั้งการเกิดเนื้อร้ายได้ จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามิน ซีสูง นอกจากนี้จะมีโปรแตสเซียม และเส้นใยอาหารสูง มีวิตามินเคหรือไบโอฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และยังมีแมงกานีส ที่ช่วยการทำงานของปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารสีแดงในราสเบอร์รี่มีคุณสมบัติช่วยในการหมุนเวียนโลหิต อุดมด้วยวิตามินA และ B ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและสมานผิว  ข้อเสียของราสเบอร์รี่ คือมีราคาค่อนข้างแพงและหาได้น้อย อย่างไรก็ตามนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ยังคงทำการวิจัย ทดลองกันต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาต้นแม่พันธุ์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

 

สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ