รายการวิทยุ เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 5

บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย  มก.”
ออกอากาศ วันเสาร์ที่25 เดือนเมษายน พ.ศ. 2558
เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 5
ในเรื่องย่อย ข้อดีของปุ๋ยชนิดต่างๆ
บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

………………………………………………………………………………………………………

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมี กระผม……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่าน กระผม ………………………ผู้ดำเนินรายการ และก่อนอื่นเลยนะครับ กระผมขอสวัสดีปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ขอให้คุณผู้ฟังมีความสุขกับครอบครัว คนที่กลับบ้านตามภูมิลำเนาก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะครับ และวันนี้กระผมมีผลงานวิจัยที่เป็นความรู้ในเรื่องของปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมาฝากครับ เป็นผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ท่านเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตร มก. ประธานสภาข้าราชการ มก. รองอธิการบดี มก. และอุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 หลังเกษียณอายุราชการจึงได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และกับการวิจัยในครั้งนี้ ท่านจึงได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลผลการวิจัยในเรื่อง “ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม” และเป็นตอนที่ 5 แล้วนะครับ ในเรื่องย่อย คือเรื่องข้อดีของปุ๋ยชนิดต่างๆ ช่วงนี้พักกันก่อนแล้วกลับมาฟังกันต่อในช่วงหน้านะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

 คุณผู้ฟังครับ ปุ๋ยชนิดต่างๆเมื่อเปรียบเทียบกันจะพบว่า ปุ๋ยแต่ละชนิดจะมีขอดีหรือข้อได้เปรียบและข้อด้อยหรือข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้นนะครับสำหรับเกษตรกรแล้วเราควรต้องทราบข้อดีและข้อด้อยของปุ๋ยแต่ละชนิด เพื่อประกอบการเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในรายการวันนี้นะครับ เราจะกล่าวกันในเรื่องข้อดีหรือข้อได้เปรียบของปุ๋ยในแต่ละชนิด ส่วนในเรื่องข้อเสียไว้จะมาพูดกันในอาทิตย์หน้านะครับ โปรดติดตามกันต่อไปครับ

มาเริ่มกันที่ ปุ๋ยเคมีกันก่อนเลยนะครับ ปุ๋ยเคมีนะครับจะช่วยในการปรับปรุงสมบัติทางเคมี อย่างเช่น ปริมาณอินทรีย์วัตถุ ปริมาณไนโตรเจนที่จะปลดปล่อยให้พืชใช้ได้ และรวมทั้งปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชของดิน ดังผลในการวิจัยของปุ๋ยเคมีในการเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุเป็นผลมาจากพืชที่ได้รับปุ๋ยมีการสร้างลำต้น ใบและรากมากกว่าพืชที่ไม่ได้รับปุ๋ย จึงเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินมากกว่าพืชที่ไม่ได้รับปุ๋ย การเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินทำให้ดินมีไนโตรเจนที่จะปลดปล่อยให้พืชใช้ได้เพิ่มึข้นด้วย ก็เพราะว่าอินทรีย์วัตถุมีไนโตรเจนอยู่ด้วยเสมอ ส่วนการเพิ่มปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเกิดจากการตกค้างของธาตุอาหารเหล่านี้ก็จะได้จากปุ๋ยเคมีที่ใส่ไปครับ เพราะโดยปกติปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่ใส่ให้แก่พืชจะถูกพืชดูดไปใช้และสูญเสียไปจากดิน โดยทางอื่นๆน้อยกว่าครึ่งของจำนวนที่ใส่ จึงทำให้ดินมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น

คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า การใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่พืชจะทำให้ดินมีความแน่นทึบและความแข็งน้อยลง เป็นสมบัติทากายภาพนั้นเองครับ จากการวิจัยการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินมีความแน่นทึบ และความแข็งแรงน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใส่ปุ๋ยเคมี เพราการใส่ปุ๋ยเคมีทำให้ดินมีอินทรีย์วัตถุมากกว่าดินที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแล้วตัวอินทรีย์วัตถุนี่เอง ที่เป็นตัวการทำให้ดินโปร่งและร่วนซุยมากขึ้น นอกจากนั้นจะทำให้พืชที่ได้รับปุ๋ยจะมีรากมากกว่าพืชที่ไม่ได้รับปุ๋ยเคมีทำให้มีการชอนไชดินได้มากกว่านั่นเอง ช่วงนี้พักกันก่อนนะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ การใส่ปุ๋ยเคมีทำความสามารถในการให้ผลผลิตพืชของดินเพิ่มขึ้น  ซึ่งการใส่ปุ๋ยเคมีในระยะยาวทำให้ผลิตภาพดินเพิ่มตามจำนวนครั้งของการใส่ปุ๋ย ดังตัวอย่างของการวิจัยจากการทดลองจากการปลูกข้าวโพด และได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลผลิตข้าวโพดแปลงที่ใส่ปุ๋ยกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งของการปลูกข้าวโพด ซึ่งนั่นเองครับ หมายความว่า การใส่ปุ๋ยเคมีทำให้ผลิตภาพหรือความสามารถในการให้ผลผลิตของดินเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ใส่ปุ๋ย

มาฟังกันในเรื่องของการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้น้อยกว่าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แม้ปริมาณธาตุปุ๋ยที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีจะขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต แต่อาจกล่าวได้ว่ามีธาตุอยู่ในปริมาณสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ในน้ำหนักปุ๋ยที่เท่ากัน ทำให้ราคาต่อหน่วยน้ำหนักของธาตุอาหารต่ำ ปริมาณปุ๋ยที่ต้องใช้ต่อไร่น้อย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้มีการจ่ายเงินซื้อปุ๋ยน้อยแล้วยังทำให้เสียค่าขนส่งน้อยและประหยัดค่าแรงงานในการใส่อีกด้วย

มาฟังอีกข้อดีของปุ๋ยเคมี คือสามารถใช้ปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารชนิดต่างๆเหมาะกับพืช เนื่องจากปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีทางเคมี จึงมีความหลากหลายทั้งในด้านชนิดและปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ย จึงสามารถปรับแต่งหรือนำมาผสมกันให้มีปริมาณธาตุอาหารแต่ละชนิดตรงกับความต้องการของพืช และเหมาะสมกับดิน ตัวอย่างเช่น หากดินมีโพแทสเซียมเพียงพอสำหรับพืชแล้ว แต่ขาดไนโตรเจนอย่างรุนแรง และขาดฟอสฟอรัสเพียงเล็กน้อย ดังนั้นการใช้ปุ๋ยเคมีจึงทำให้สามารถปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารต่างๆเหมาะกับความต้องการของพืช ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาต่อกับข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์กันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ต่อมากันที่ปุ๋ยอินทรีย์กันนะครับ ประโยชน์และข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์ที่สำคัญมีดังนี้ครับ

การปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินได้มากกว่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากอินทรียวัตถุเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพ ซึ่งรวมไปถึงความหนาแน่นรวมหรือความพรุนของดิน ความร่วนซุย ความสามารถในการอุ้มน้ำ และการถ่ายเทอากาศของดิน ฉะนั้นเองครับปุ๋ยอินทรีย์จึงเป็นปุ๋ยที่ช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินได้มากกว่าปุ๋ยเคมี ซึ่งมักจะไม่มีสารที่จะให้อินทรียวัตถุในดินเลย

ส่วนการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินบางชนิดได้มากกว่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีองค์ประกอบหลักเป็นสารประกอบคาร์บอนซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญของอินทรีย์ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จึงทำให้จุลินทรีย์บางชนิดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น คุณผู้ฟังครับในบรรดาจุลินทรีย์เหล่านี้มีจุลินทรีย์บางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น พวกแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนแบบอิสระ แบคทีเรียที่ช่วยละลายหินฟอสเฟท เป็นต้น ในขณะที่ปุ๋ยเคมีไม่มีสารที่ให้สารประกอบคาร์บอนแก่จุลินทรีย์ จึงไม่มีผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์ในดินครับ

คุณผู้ฟังครับ ในปุ๋ยเคมีนะครับจะมีธาตุอาหารสเสริมอยู่มากกว่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มาจากพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยธาตุปุ๋ยแต่ยังประกอบด้วยธาตุอาหารที่ไม่มีหรือมีน้อยมากในปุ๋ยเคมี นั่นก็คือธาตุอาหารหลัก ดังนั้นนะครับ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์จึงช่วยเพิ่มธาตุอาหารเสริมลงไปในดินได้มากกว่าปุ๋ยเคมีนั่นเองครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับช่วงหน้ามาต่อกันกับข้อดีของปุ๋ยชีวภาพกันครับ

-เพลงคั่นรายการ-

และสุดท้ายเรามาฟังปุ๋ยชีวภาพกันนะครับ ข้อดีสำคัญของปุ๋ยชีวภาพได้แก่ มักมีผลอยู่นานโดยที่ไม่ต้องใส่บ่อยๆครับ ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยครับ ไม่ต้องใส่บ่อยๆ เนื่องจากปุ๋ยชีวภาพมีตัวการที่ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชที่เป็นจุลินทรีย์ ดังนั้นเมื่อใส่ลงไปในดินและเกิดการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์แล้วจุลินทรีย์นั้นมักจะยังคงมีอยู่ในดินนั้นต่อไปหลังจากที่เก็บเกี่ยวพืชไปแล้ว จึงมักจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้นอีกจนกว่าจำนวนจุลินทรีย์ที่ใส่ลดจำนวนลงไปจนเหลือน้อยมาก ข้อดีนี้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยชีวภาพ

และการใช้ปุ๋ยชีวภาพนะครับ จะมีค่าใช้จ่ายน้อย ปริมาณปุ๋ยชีวภาพที่ต้องใช้ต่อหน่วยพื้นที่มักจะน้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์และเคมีนับเป็นสิบเป็นร้อย หรือเป็นพันเท่าด้วยซ้ำ เช่น เช่นกรณีการใช้เชื้อโซเบียมน้อยกว่า 1 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้นับเป็นสิบถึงเป็นร้อยกิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ต้องใช้นับเป็นร้อยถึงเป็นพันกิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนั้นปุ๋ยชีวภาพจึงประหยัดเงินค่าปุ๋ย ค่าขนส่งปุ๋ย และค่าแรงงานในการใส่ปุ๋ยมากกว่าปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์

สุดท้ายนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป เกษตรกรและนักวิชาการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผลของปุ๋ยแต่ละชนิดในแง่ของการเกษตรและแง่ของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าควรจะใช้ปุ๋ยชนิดใดจึงจะเหมาะสมทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชและในแง่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด การที่เราได้ทราบถึงข้อดีของปุ๋ยแต่ละชนิดทำให้เราสามารถรู้ถึงแนวทางในการใช้ปุ๋ย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดความคุ้มค่า ในการซื้อปุ๋ยก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการปลูกพืชที่เกษตรกรหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญก้เป็นตัวแปรสำคัญของต้นทุนที่มีผลต่อกำไรในการประกอบอาชีพเกษตรกร ดังนั้นเรื่องที่กระผมนำมาเผยแพร่จึงเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการนำความรู้เป็นใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปครับ

คุณผู้ฟังครับ สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ