โรคผิวหนังในสุนัข

ในวงการสัตวแพทย์ปัจจุบัน พบว่ามีอุบัติการณ์สุนัขที่มีอาการของโรคผิวหนังต่างๆ มากมาย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยากและกลายเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างความรำคาญยุ่งยากให้กับเจ้าของและกับตัวสุนัขเอง ปัญหาโรคผิวหนังในสุนัขนั้นมีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม ปรสิตภายนอกต่าง ๆ หรือแม้แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่มีผลต่อการพัฒนาโครงสร้างผิวหนังปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ต่อต้านโครงสร้างของผิวหนังเอง เช่นโรคเพมฟิกัส (pemphigus)

โรคเพมฟิกัสในสุนัขเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่มีลักษณะเป็นตุ่มพองรุนแรงจากภูมิคุ้มกันต่อต้านกับเซลล์ผิวหนังของตัวเอง ทำให้ผิวหนังลอกหลุดและเป็นสะเก็ดอย่างรุนแรง อาการของโรคผิวหนังชนิดนี้อาจมีความรุนแรงและสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมากในสุนัข ซึ่งในการวินิจฉัยโรคเพมฟิกัสนี้จะเป็นการตรวจวินิจฉัยจากลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา และ อาจตรวจได้จากแอนตีบอดีที่ต่อต้านเซลล์ของผิวหนัง ด้วยวิธีการอิมมูนโนฟลูออร์เรสเซนส์ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุหรือกลไกที่แน่ชัดว่าเกิดจากเดสโมโซมชนิดใดหรือเกิดขึ้นจากโปรตีนชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้การศึกษาโปรตีนในกลุ่มคอร์นีไฟด์เอ็นเวลโลป เช่น ฟีแลกกริน ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างขึ้นในระหว่างการสร้างผิวหนังกําพร้าในทุก ๆ ชั้น และในระยะการสร้างผิวหนังขั้นสุดท้ายนั้น ยังมีการศึกษารูปแบบของโครงสร้างไม่มากนัก การเข้าใจถึงกลไกพยาธิกำเนิดของโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ



ลักษณะของผิวหนังของสุนัขที่เป็นโรคเพมฟีกัส ที่ย้อมอิมมูนฮีสโตเคมีแบบ double immnuhistochemistry
ด้วยแอนตีบอดีต่อ IgG (สีน้ำตาล)และ CD79a (สีแดง) (A) และต่อแอนตีบอดี IgM (สีน้ำตาล)และ CD79a (สีแดง) (B) (สเกล บาร์= 20 ไมครอน)

ด้วยเหตุนี้ สพ.ญ.ดร.ศิรินทร์ ธีระวัฒนศิริกุล อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาโครงสร้างของผิวหนัง ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของผิวหนังข้อมูลเกี่ยวกับโปรตีนฟีแลกกรินว่ามีความสัมพันธ์ต่อการเกิดของโรคผิวหนังเพมฟิกัสอย่างไร ตรวจสอบการกระจายตัวของฟีแลกกรินในสุนัขที่เป็นโรค ซึ่งจะทำการศึกษาด้วยการย้อมสีชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อดูลักษณะของผิวหนังและวิธีการสร้างผิวหนังระยะสุดท้าย

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการแสดงออกของโปรตีนคอร์นีไฟด์ เอนเวลโลป ที่เรียกว่า ฟีแลกริน (filaggrin)ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการจัดเรียงตัวของเคราติน และการจัดเรียงตัวในขั้นสุดท้ายของผิวหนังชั้นหนังกำพร้าโดยเปรียบเทียบกับโปรตีนที่เชื่อว่าเป็นโปรตีนเป้าหมายของโรคเพมฟีกัส คือ เดสโมโคลิน-1 (desmocolin-1)และการตอบสนองของเซลล์อักเสบที่เข้ามายังบริเวณที่เกิดรอยโรค ทำการตรวจหาโมเลกุลเป้าหมายของโรคเพมฟีกัส ทั้งวิธีการตรวจอิมมูนโนฟูลโอเรสเซนส์ทางตรง และทางอ้อม  เพื่อเป็นการตรวจจับแอนตีบอดีที่ต่อต้านโมเลกุลที่ผิวหนัง อย่างไรก็ตามขั้นตอนการทำให้เกิดสีของวิธีการนี้ จะทำให้การกระจายตัวของโปรตีนและลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของผิวหนังเห็นได้ไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับวิธีการอิมมูนโนเพออ็อกซิเดส แต่เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ มีความไวของการตรวจสูง และสามารถทำซ้ำได้อีก  จึงสามารถนำมาใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคทางผิวหนังได้ในเชิงลึกมากขึ้น

ผลการศึกษาโรคเพมฟีกัสในสุนัขพบว่าลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของผิวหนังมีความแตกต่างน้อยมาก หรือค่อนข้างใกล้เคียงกัน การติดสีของฟิแลกกรินและเดสโมโคลิน 1 เป็นรูปแบบที่ไม่สมบรูณ์และไม่ต่อเนื่องในผิวหนังกำพร้าชั้นบนของผิวหนังเพมฟิกัสทั้งหมด มีการกระจายตัวลดลงเมื่อเทียบกับผิวหนังของสุนัขปกติ ส่วนการแสดงออกของอินโวลูครินไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างที่นัยสำคัญทางสถิติ  ผิวหนังเพมฟิกัสทุกตัวมีเซลล์แทรกที่ชั้นผิวหนังแท้และไปยังผิวหนังกำพร้าชั้นล่าง สรุปได้ว่าการศึกษาในครั้งนี้บ่งชี้ได้ว่าฟิแลกกรินมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังโดยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกของเดสโมโคลิน 1 ในสุนัขที่เป็นโรคเพมฟิกัสชั้นผิวหนัง

การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ตัวบ่งชี้ของโปรตีน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของผิวหนังและความแข็งแรงของผิวหนัง ควบคู่ไปกับตัวบ่งชี้อื่น ๆ เช่น เดสโมโคลิน-1 และการตอบสนองของเซลล์อักเสบและภูมิคุ้มกันต่าง ๆ นอกจากนี้พบว่าทั้งกลุ่มย่อยของโรคเพิมฟีกัสในสุนัขมีการแสดงออกไปในทิศทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามการระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในผิวหนังให้ชัดเจนมากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยจำนวนของกลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้นอีก ดังนั้นผลการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะของโรคเพมฟีกัสตัวหนึ่งเพื่อที่จะใช้ในการวินิจฉัย รวมทั้งสามารถนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจโรคผิวหนังเพมฟีกัสและเซลล์อักเสบในทางคลินิกปฏิบัติได้เพื่อวางแผนและติดตามผลของการรักษาต่อไป

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.
หัวหน้าโครงการ : ดร.ศิรินทร์ ธีระวัฒนศิริกุล
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์  คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th