ร่างยุทธศาสตร์การวิจัย มก. ปี 2556-2559

-ร่าง-
ยุทธศาสตร์การวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2556-2559

วิสัยทัศน์การวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
            มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน
พันธกิจการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
            ผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมโยงการวิจัยกับการเรียนการสอน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัย และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ รวมทั้งการจัดการความรู้จากงานวิจัยสู่การเผยแพร่และใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์การวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดยุทธศาสตร์การวิจัย เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศ และการวิจัยในสาขาที่มหาวิทยาลัยฯ มีความเข้มแข็ง โดยมีทิศทางมุ่งแก้ปัญหาและรองรับในเรื่องความต้องการปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชากรเพิ่มมากขึ้นแต่ทรัพยากรจำกัด โดยเฉพาะการขาดแคลนพลังงานรวมทั้งการรองรับปัญหาผู้สูงวัย ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น มากในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้กำหนดหัวข้อ/ประเด็นวิจัยและกรอบการวิจัยในยุทธศาสตร์การวิจัย ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การวิจัยระดับประเทศ/เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ
            กำหนดหัวข้อ/ประเด็นวิจัยที่เป็นปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนหรือวิกฤตของประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มุ่งเน้นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนี้
1.1 พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

             งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานชีวภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล ไบโอแก๊ส (Biogas) แก๊สโซฮอล์  (Gasohol) ไบโอแมส (Biomass)ฯลฯ  เพื่อเป็นพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ฯลฯ

1.2 การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change)

             งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อม รองรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การจัดการคาร์บอน (Carbon Sequestration) แบบครบวงจร  รวมทั้งปัญหาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  การสร้างแบบจำลองการเกิดสภาวะโลกร้อน แนวทางและวิธีการป้องกัน  การค้นคว้าวิจัยผลกระทบและแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาทางด้านเกษตร ประมง ป่าไม้ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  การปลูกพืชเพื่อตรึงคาร์บอนไดออกไซด์  และการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ฯลฯ

1.3 ภัยพิบัติธรรมชาติ

           งานวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดหายนะรุนแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ และอาจลุกลามถึงผลผลิตมวลรวมของประเทศ ประกอบด้วยการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือต่อผลของภัยพิบัติธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การพยากรณ์  การเฝ้าระวัง การเตือนภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า สึนามิ (Tsunami) และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เช่น อาหารเพื่อการยังชีพ การเกษตร สภาพสังคมและจิตใจ ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อพื้นที่เฉพาะ

1.4 การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

งานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินดินทั้งในและนอกระบบชลประทานของประเทศ ตลอดจนลุ่มน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งงการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่าง ๆ ต่อการจัดการทรัพยากรน้ำในอนาคต เช่น ปริมาณน้ำต้นทุน

1.5 การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า

           งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า (Value added) สินค้าเกษตรและเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อพัฒนาศักยภาพการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้หลักจากการส่งออก และการวิจัยเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์์สินค้า มาตรฐานสินค้าและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security)

1.6 เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม

            งานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการเสริมสร้างเทคโนโลยีใหม่ และเทคโนโลยีที่สำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมทุกระดับ เพื่อเป็นการชี้นำการพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้นและการสร้างนวัตกรรม (Innovation) สู่เชิงพาณิชย์และการส่งออก

1.7 การปรับตัวของประเทศไทยต่อทิศทางของอาเซียน

             งานวิจัยเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของประชาคมอาเซียน (Asean) เช่น การวิจัยเชิงนโยบาย สภาพทางสังคม วัฒนธรรม การเกษตร การย้ายถิ่นฐาน ภาษาและการสื่อสาร เทคโนโลยีและวิศวกรรม การจัดการทรัพยากร และศักยภาพผู้นำด้านต่าง ๆ ของไทยในอาเซียน

2. ยุทธศาสตร์การวิจัยระดับมหาวิทยาลัยฯ/ที่มหาวิทยาลัยฯ มีความเข้มแข็ง
           กำหนดหัวข้อ/ประเด็นวิจัยที่มีความสำคัญ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ และเป็นศักยภาพความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ สนับสนุนให้ดำเนินการ ดังนี้
2.1 อาหาร

           งานวิจัยเกี่ยวกับการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest) พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า (Value added) สินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งพืช ปศุศัตว์ และสัตว์น้ำ ครอบคลุมด้านเกษตรอินทรีย์ ระบบการผลิตอาหารที่ดีและอาหารปลอดภัย (Food safety) ต่อผู้บริโภค

2.2 การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

          งานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์พืช และปรับปรุงพันธุ์สัตว์  (Animal breeding)  พันธุกรรม  จีโนม  (Genome) เพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความต้านทานโรค แมลง และความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม โดยกระบวนการการคัดเลือกและระบบผสมพันธุ์ และวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นในการปรับปรุงพันธุ์

2.3 การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

          งานวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้และข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ของพืช สัตว์ แมลง ป่าไม้ สิ่งมีชีวิตในน้ำ และจุลินทรีย์ ไปพัฒนาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาหาร สุขภาพ และยารักษาโรค

2.4 โรคและสุขภาพสัตว์

          งานวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพสัตว์ (Animal health)  การตรวจวินิจฉัย  โรคระบาดจากสัตว์ การพัฒนาชุดตรวจสอบโรค การป้องกันโรคระบาดจากสัตว์ โรคสัตว์สู่คน โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ รวมทั้งการพัฒนาวัคซีน

2.5 วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี

        งานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการสร้าง การวิเคราะห์พื้นฐานโครงสร้าง กระบวนการ คุณสมบัติและการออกแบบวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร (Mechanery) หรือผลิตภัณฑ์ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับนาโน (Nano) ซึ่งทำให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมของวัสดุ วัสดุชีวฐาน เช่น ไบโอพลาสติก (พลาสติกชีวภาพ) เมมเบรน (Membrane) ผลิตภัณฑ์และเส้นใย (Fiber) จากธรรมชาติ แผ่นฟิล์ม เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ภาชนะบรรจุ เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2.6 ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์

         เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งานวิจัยเพื่อพัฒนาด้านวิศวกรรม เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ (Software) ระบบโทรคมนาคม เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบโทรมาตร ระบบความมั่นคง ระบบฝังตัว ระบบสารสนเทศ รวมทั้งงานประยุกต์เฉพาะด้าน เช่น บริหารธุรกิจ การจัดการ การเกษตร วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ภูมิศาสตร์ และการศึกษา

2.7 การพัฒนาความเข้มแข็งของคนและชุมชน

          งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาคน เด็กพิเศษ(ออทิสติก) การศึกษา สังคม ภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการรองรับปัญหาประชากรสูงวัย (ผู้สูงอายุ) การใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การใช้สิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเอง เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

2.8 ห่วงโซ่อุปทานและระบบโลจิสติกส์

          งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์อย่างบูรณาการ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาประสิทธิภาพและมาตรการให้บริการด้านระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาบุคลากรด้านระบบโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งที่เหมาะสม รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคและเครือข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2.9 KU or KURDI Initiated Project

          เป็นงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งมาจากการคิดริเริ่มหรือกำหนดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์