การศึกษาการตกแต่งผ้าไหมด้วยสมุนไพรไทย/ผุสดี แซ่ลิ่ม

เรื่อง  การศึกษาการตกแต่งผ้าไหมด้วยสมุนไพรไทย โดยสารประกอบเชิงซ้อนเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน

 

การตกแต่งสำเร็จ เป็นกระบวนการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยทำให้สิ่งทอมีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริโภค หรือเพิ่มคุณสมบัติให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในการตกแต่งสำเร็จเป็นขั้นตอนสุดท้ายในอุตสาหกรรมกลางน้ำอันประกอบไปด้วย กระบวนการถักทอ การฟอกย้อม การพิมพ์และการตกแต่งสำเร็จผ้า การตกแต่งสำเร็จโดยใช้เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปถ้วยเป็นตัวยึดเหนี่ยวให้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรติดกับผ้าไหม น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากสมุนไพรไทยมีสมบัติที่หลากหลายเช่น ช่วยผ่อนคลายความกังวล ไล่แมลง ยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิธีการใช้เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน เป็นตัวยึดเหนี่ยวให้น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในสมุนไพรติดกับผ้าไหม ศึกษาความคงทนของกลิ่นของสมุนไพรในผ้าไหมและศึกษาวิธีการเติมกลิ่นให้กับผ้าไหมที่ติดเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินหลังผ่านการใช้งาน วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหม โดยการนำสมุนไพรไทยที่มีสมบัติหลากหลายมาใช้ในการตกแต่งผ้าไหม

ไหม ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมไทยและผลิตภัณฑ์ไหมไทยที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก มีแรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในชนบท ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทย เป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญมานานแล้ว ในด้านความสวยงามของสีสันและลวดลาย รวมถึงฝีมือการทอผ้าของคนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ้าไหมและผลิตไหมของไทยนั้น ต่างได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไหมไทยเป็นสินค้าหัตถกรรรมที่มีขั้นตอนการผลิตโดยใช้แรงงานคนไทยเป็นหลัก ซึ่งเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีแรงงานเป็นจำนวนมากอุตสาหกรรรมการผลิตไหมไทยสามารถสร้างงานให้กับชาวบ้านและเป็นการเพิ่มรายได้ให้แรงงานในชนบทด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ้าไหมไทยและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสามารถสร้างได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าห้าร้อยล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, ม.ป.ป.)

ไหมมีเส้นใยที่มีความสวยงาม มีความเงามันและมีผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหรูหราและมีคุณค่า นับได้ว่าไหมเป็นราชินีของเส้นใยเพราะเป็นเส้นใยธรรมชาติชนิดเดียวที่จัดเป็นเส้นใยยาว สันนิฐานว่ามีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประเทศจีนเป็นประเทศแรกเมื่อประมาณ 4,700 ปี และต่อมาได้มีการเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ไหมเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน ไหมเป็นเส้นใยที่ได้มาจากหนอนไหมที่พ่นเส้นใยออกมาห่อหุ้มตัวเองจนกลายมาเป็นรังไหม ซึ่งมีลักษณะกลมรีคล้ายเมล็ดถั่ว และหากนำรังไหมมาต้มในน้ำที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะทำให้กาวไหมอ่อนตัวสามารถดึงออกมาเป็นเส้นใยยาวได้ โดยความยาวของเส้นใยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแลในช่วงที่เป็นหนอนไหม

คุณสมบัติของไหม ทางกายภาพรูปร่างจากกล้องจุลทรรศน์ ไหมดิบเป็นเส้นใยคู่ที่มีรุปร่างไม่สม่ำเสมอ เมื่อลอกกาวออกแล้ว จะปรากฏเป็นเส้นใยเดี่ยว เรียบ สม่ำเสมอและโปร่งแสง มีรูปร่างภาคตัดขวางเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปรี มีขนาดต่างๆกัน ความยาวไหมอยู่ที่ 400-1400 เมตร มีสีเหลืองจนถึงขาว ไหมมีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่าฝ้าย แฟลกซ์และขนสัตว์ ส่วนสมบัติเชิงกล คือไหมเป็นเส้นใยที่ได้จากสัตว์ที่มีความแข็งแรงมากที่สุด ไหมมีความยืดหยุ่นได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของความยาวเดิม และสามารถคืนตัวได้ดี ไม่เกิดการยับย่นง่ายสามารถกลับรูปเดิมได้เพียงแขวนทิ้งไว้ระยะหนึ่ง สุดท้ายคือ สมบัติทางเคมี ไหมดูดซึมความชื้นได้ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สวมใส่สบาย รับสีย้อมและสีพิมพ์ได้ดีด้วย สามารถทนความร้อนในการตกแต่งได้ถึง 170 องศาเซลเซียส กรดส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อไหมเช่นเดียวกับพวกขนสัตว์ กรดแก่ที่เข้มข้นจะทำลายไหมทำให้ไหมเป็นสีเหลือง ไหมสามารถทนด่างได้ดีกว่าขนสัตว์ แต่ด่างแก่สามารถละลายไหมได้ ไหมมีความทนต่อเชื้อรา แมลงไม่มาทำลายไหมที่สะอาด แต่ไหมไม่ทนต่อแสงหากทิ้งไว้ในแสงแดดเป็นเวลานานๆ ทำให้ใยไหมถูกทำลาย ส่วนในการย้อมไหมจะเหมือนกับย้อมขนสัตว์ แต่ได้สีที่เข้มกว่า สีย้อมที่ใช้ เช่น สีเอซิด ไดเรกท์ เบสิค และแวต

น้ำมันหอมระเหยมีสมบัติเกี่ยวข้องกับภาวะทางอารมณ์ ช่วนผ่อนคลายความกังวล ลดความกระวนกระวาย แลลดความตึงเคลียดของระบบประสาทจากการทำงาน บรรเทาอาการปวดศีรษะเช่น น้ำมันหอมระเหย เลมอน กะเพราะ มะกรูด แฟรนคินเซนส์ จูนิเปอร์ ลาเวนเดอร์ ดอกส้ม กระดังงา มะลิ เกรฟฟรุท เฮลิสคริสซัม กุหลาบ แคลรี่ เสจ จันทร์หอม แฝกหอม คาโมมายล์ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ตะไคร้บ้าน สวีทมาร์โจแรม เปปเปอร์มิ้นท์ สเปียร์มิ้นท์ โรสแมรี่ โรสวูด ไทม์ ดอกบัว ดอกจำปา และที่สำคัญน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์และพืชตระกูลส้ม สามารถลดความกังวลและช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น

ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยแก้ปวดไมเกรนและบรรเทาอาการจิตใจหดหู่ จิตใจอ่อนแอ มีดังต่อไปนี้ แอนเจลิก้า เลมอน กระเพราะ คาโมมายล์ ตะไคร้หอม เมล็ดผักชี ลาเวนเดอร์ สวีทมาร์โจแรม เป็นต้นครับ

น้ำมันหอมระเหยที่มีสมบัติเกี่ยวข้องกับอาการภูมิแพ้และไล่แมลงพบว่ามีพวก จูนิเปอร์ ลาเวนเดอร์ ออริกานัม น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่ คาโมมายล์ น้ำมันหอมระเหยส้มและเลมอน น้ำมันหอมระเหยเมล็ดเสม็ดขาวมีศักยภาพลดปฏิกิริยาของอาการภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองลงมาคือลาเวนเดอร์ และเลมอน

ไซโคลเด็กซ์ตริน มีการศึกษาโครงสร้าง สมบัติและการใช้งานของไซโคลเด็กซ์ตรินอย่างมากมาย และมีการจดสิทธิบัตรมากกว่า 800 ชิ้นที่เกี่ยวกับไซโคลเด็กซ์ตริน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของโครงสร้างโมเลกุล ประกอบกับสมบัติทางเคมีและกายภาพของไซโคลเด็กซ์ตรินที่เป็นสารอินทรีย์ที่มีความสามารถในการรวมกับอินทรีย์สารโมเลกุลอื่นๆ เกิดเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน

ไซโคลเด็กซ์ตรินถูกค้นพบโดย Villiers ในปี 1891 ไซโคลเด็กซ์ตรินมีลักษณะคล้ายถ้วย ได้รับการรับรองว่าไม่มีพิษ ซึ่งเป็นสมบัติที่น่าสนใจมากและสามารถใช้เรซิ่นร่วมกับสารนี้ เพื่อให้ยึดติดกับเส้นใย เมื่อสารไซโคลเด็กซ์ตรินติดบนเส้นใยแล้ว เราสามารถนำกลิ่นหอมหรือสารออกฤทธิ์อื่นๆ เช่น สารกันยุง สารฆ่าเชื้อโรค หรือสารนาโนชนิดต่างๆ เข้าไปอยู่ภายในแก้วได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่นำไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

วิธีการศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้คือ

  1. ศึกษาการยึดติดของเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้าไหม
  2. ศึกษาปริมาณเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้าหลังผ่านการตกแต่ง
  3. ศึกษาปริมาณเบต้าไซโคลเด็กซ์ตรินบนผ้าหลังการซัก
  4. ศึกษาการติดของน้ำมันหอมระเหยบนผ้าด้วยวิธีการจุ่มแช่
  5. ศึกษาระยะเวลาการติดทนของน้ำมันหอมระเหยบนผ้า
  6. ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยบนผ้า
  7. ศึกษาปริมาณน้ำมันหอมระเหยบนผ้าหลังผ่านการซัก
  8. ศึกษาการเติมซ้ำน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าไหม
  9. ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสีเหลืองของผ้าไหม

ผลจากการศึกษา การติด เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน ร่วมกับน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทยเพื่อใช้ในการตกแต่งผ้าไหม ศึกษาความคงทนของน้ำมันหอมระเหยที่อยู่บนผ้าไหม ศึกษาความคงทนของ เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน บนผ้าไหมหลังผ่านการซัก และศึกษาวิธีการเติมน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าไหมที่ผ่านการตกแต่งด้วยน้ำมันหอมระเหยที่ผ่านการใช้งานได้พบว่า ผ้าไหมสามารถตกแต่งด้วยสารประกอบเชิงซ้อน เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน โดยกระบวนการ จุ่มอัด-อบแห้ง-ผนึกได้ และผ้าที่ติดด้วยน้ำมันหอมระเหย โดยสารประกอบเชิงซ้อน เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน สามารถวัดค่าของปริมาณการติดได้มากกว่าผ้าไหมที่ติดด้วยน้ำมันหอมระเหยโดยไม่มีสารประกอบเชิงซ้อน เบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน โดยเวลาที่จุ่มแช่น้ำมันหอมระเหย 6 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เหมาะสมในการจุ่มแช่น้ำมันหอมระเหย และที่สำคัญจากการทดลองน้ำมันหอยระเหยสามารถติดคงทนบนผ้าไหมได้นานเป็นเวลาถึง 30 วันด้วยกัน แต่จะไม่คงทนต่อการซักตั้งแต่ครั้งแรก และจากการทิ้งไว้ 30 วันผ้าไหมที่ติดน้ำมันหอมระเหย โดยสารประกอบเชิงซ้อนเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน สามารถเติมน้ำมันหอมระเหยได้โดยวิธีการจุ่มแช่

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474

ข้อมูล

นางผุสดี แซ่ลิ่มและผศ.ดร.ณกัญภัทร จินดา

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงโดย

วิทวัส ยุทธโกศา 
นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก.
โทรศัพท์ 0-2561-1474