ใบหูกวางกับการรักษาโรคในปลากัด/วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล, นนทวิทย์ อารีย์ชน
เรื่อง ใบหูกวางกับการรักษาโรคในปลากัด
ปลากัด เป็นปลาพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศไทย ซึ่งจะอาศัยอยู่ตามอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลองต่างๆ ถ้ามีชาวต่างชาติถามว่าปลาสีสวยงามพวกนี้คือปลาอะไร เราสามารถยืดอกตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเจ้าพวกนี้คือ Siamese Fighting Fish นั่นเอง ปลากัดได้รับความนิยมในการเลี้ยงมานาน มีจุดประสงค์เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลา แต่ในปัจจุบันปลากัดเป็นปลาที่มีความสำคัญต่อการส่งออกชนิดหนึ่ง โดยส่งไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆอีกมากมาย
ปลากัดเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ลำตัวยาว แบนข้าง หัวเล็ก ปากขนาดเล็กเชิดขึ้นทางด้านบนเล็กน้อย มีฟันที่ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง มีเกล็ดปกคลุมหัวและลำตัว ขนาดโตเต็มวัยของเจ้าปลากัดนั้น มีความยาวไม่เกิน 6 เซนติเมตร ปลากัดมีอวัยวะพิเศษในการหายใจนอกจากเหงือก อยู่บริเวณโพรงอากาศหลังช่องเหงือก ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้โดยไม่ต้องผ่านเหงือก อวัยวะนี้จะเริ่มเกิดเมื่อปลามีอายุได้ 10 วัน ทำให้ปลาสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้ สีสันของเจ้าปลากัดนี้มีหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีคราม สีเขียว สีน้ำเงิน และสีผสมระหว่างสีดังกล่าว ซึ่งตัวผู้จะมีสีสวยงามกว่าตัวเมีย
ปลากัดไทยเป็นนักต่อสู้ มันจึงมีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว รักและหวงแหนถิ่น ชอบกัดต่อสู่กัน ซึ่งจะพบได้มากในตัวผู้มากกว่าตัวเมีย และยังพบอีกว่าปลากัดเพศผู้ชอบทำร้ายปลากัดเพศเมียในเวลาผสมพันธุ์ เมื่อปลากัดมีอายุ 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน พฤติกรรมเหล่านี้จะเริ่มแสดงออกมาเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ด้วยคุณสมบัตินี้นี่เองที่ส่งผลให้มีการเลี้ยงปลากัดเพื่อเล่นเป็นเกมกีฬา ซึ่งในประเทศไทยมีประวัติการใช้ปลากัดในการต่อสู้กัน เพื่อเป็นเกมกีฬาและเพื่อการพนันจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
ปลากัดมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น ปลากัดลูกทุ่งหรือลูกป่า เป็นปลากัดที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ อาศัยตามหนอง คลอง บึงทั่วไป ปลากัดชนิดนี้เป็นปลากัดที่มีลำตัวค่อนข้างเล็ก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ตัวผู้มีส่วนครีบที่ยาว หางกลมเป็นรูปใบโพธิ์ มีสีน้ำตาลขุ่น หรือเทาแกมเขียว ส่วนตัวเมียจะมีส่วนครีบสั้น หางเล็ก สีซีด มีเส้นสีดำสองเส้นพาดขนานกลางลำตัว ตรงท้องระหว่างครีบตะเกียบหรือครีบท้องมีจุดไข่สีขาวที่เรียกว่าไข่นำ 1 เม็ด ปลาชนิดนี้สีไม่ค่อยสวยและความสามารถในการกัดไม่ทนทาน
ปลากัดครีบสั้นหรือปลากัดลูกหม้อ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมาก ได้มาจากการเพาะเลี้ยง เพราะนอกจากจะกัดเก่ง ทรหดอดทนแล้วนั้น ปลาชนิดนี้ยังมีสีสันสวยงามอีกด้วย ปลากัดหม้อจะตัวโตกว่าปลากัดป่าหรือปลากัดลูกทุ่ง แต่ครีบหางและครีบหลังจะสั้นกว่า หางสั้นเป็นรูปพัด ตัวเมียจะสีซีดกว่าตัวผู้ ครีบหาง ครีบหลังและครีบท้องสั้น ปลากัดชนิดนี้เกิดจากการนำสายพันธุ์ลูกทุ่ง ลูกป่า มาเลี้ยงให้ต่อสู้และอดทน แล้วผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา
ปลากัดอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะแนะนำกันในวันนี้ก็คือ ปลากัดครีบยาวหรือปลากัดจีน ปลากัดสายพันธุ์นี้พบขึ้นโดยบังเอิญขณะที่มีการพัฒนาปลากัดเพื่อให้ได้ปลามีลักษณะครีบยาวและใหญ่สีสวย ปลากัดชนิดนี้เป็นปลากัดที่นิยมเลี้ยงกันมากทั้งในประเทศไทย รวมทั้งประเทศเยอรมันและสหัฐอเมริกา ปัจจุบันได้มีการพัฒนาครีบและหางของปลาชนิดนี้ให้มีหลายรูปแบบ เช่นหางรูปสามเหลี่ยม หางรูปครึ่งวงกลม หางพระจันทร์ครึ่งซีก หางมงกุฎและปลากัดสองหาง
สำหรับการเลี้ยงปลากัดนั้น เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้ เมื่อปลาอายุประมาณ 1.5 – 2 เดือนดังที่กล่าวมาแล้ว การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดออกจากกัน ก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน หากแยกปลาช้าเกินไป ปลาอาจจะบอบช้ำไม่แข็งแรงหรือพิการได้ เนื่องจากปลากัดกันเอง ซึ่งเมื่อลูกปลามีอายุประมาณ 1.5 – 2 เดือน จะสังเกตเห็นว่า ปลาเพศผู้จะมีลำตัว สีเข้ม ครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นไม่ชัดเจน และขนาดมักจะโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียจะมีสีซีดจาง ลายพาดตามความยาวของลำตัว 2 – 3 แถบ และมักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้
ภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลากัดควรเป็นภาชนะขนาดเล็ก เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองเนื้อที่ มีช่องเปิดไม่กว้างมาก เพื่อป้องกันปลากระโดด และป้องกันศัตรูของปลา เช่น แมว จิ้งจก ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดที่ควรนำมาใช้ในการเลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด(สุรา) ชนิดแบน บรรจุน้ำได้ 150 ซีซี. เพราะสามารถวางเรียงกันได้ดีไม่สิ้นเปลือง เนื้อที่ และปากขวดแคบ ๆ สามารถป้องกันปลากระโดดและป้องกันศัตรูได้เป็นอย่างดี และหากมีเนื้อที่น้อยก็สามารถทำชั้นวางขวดปลากัดเป็นชั้น ๆ แบบขั้นบันได มีผู้พยายามคิดวิธีเลี้ยงปลากัดในภาชนะขนาดใหญ่ โดยมีตาข่ายเหล็ก ตาข่ายพลาสติก หรือแผ่นอลูมิเนียมเจาะรูกันเป็นช่อง ๆ เพื่อเลี้ยง ปลากัดช่องละ 1 ตัว ซึ่งเป็นการสะดวกและประหยัดเวลาในการถ่ายเทน้ำ แต่ทั้งนี้ช่องตาข่ายต้องไม่กว้างมากจนทำให้ปลากัดกันได้ และต้องระวังอย่าให้ปลากระโดดโดยอาจใช้ตาข่ายครอบด้านบนอีกทีหนึ่ง สถานที่วางภาชนะเลี้ยงปลากัดควรเป็นที่ ๆ อากาศถ่ายเทได้ดีในฤดูร้อน เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้อุณภูมิน้ำสูงเกินไปเป็นสาเหตุให้ปลากัดตายได้ ซึ่งอุณหภูมิน้ำไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูหนาว อุณภูมิน้ำที่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ก็ทำให้ปลากินอาหารน้อยหรือไม่กินอาหารเลย เป็นสาเหตุให้ปลาตายได้เช่นกัน
น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด – ด่าง ประมาณ 6.5-7.5 หลังจากทำความสะอาดขวดแล้วควรบรรจุน้ำเพียง 3/4 ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศให้สัมผัสกับผิวน้ำ และปลากัดสามารถขึ้นมาฮุบอากาศบริเวณผิวน้ำได้ เนื่องจากปลากัดสามารถหายใจได้โดยการฮุบอากาศบริเวณผิวน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องเพิ่มออกซิเจน การปล่อยปลาลงขวด ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง หากปล่อยให้ปลาตกบนพื้นอาจทำให้ปลาบอบช้ำ เป็นโรคและตายได้ การวางขวดที่เลี้ยงปลาเพศผู้ และเพศเมียควรแยกจากกัน เพื่อความสะดวกในการจัดคู่เมื่อต้องการผสมพันธุ์
ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร อาหารที่เหมาะสมได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล ในบางฤดูหากไม่สามารถหาอาหารดังกล่าวได้ ก็สามารถให้อาหารเนื้อประเภทอื่นที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทดแทนได้ เช่น หัวใจวัว ปลา กุ้ง เนื้อหมู เป็นต้น การให้อาหารควรให้วันละ 1 ครั้ง โดยให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม หากให้อาหารมากเกินไป อาหารที่เหลือในขวดอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ เป็นสาเหตุให้ปลาเป็นโรคและอาจตายได้ แต่ถ้าให้น้อยเกินไปก็จะทำให้ปลาไม่มีความสมบูรณ์เพศ ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ และเนื่องจากอาหารที่มีชีวิตส่วนมาก มักจะได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคที่ติดต่อถึงปลาได้ ดังนั้นก่อนจะให้อาหารปลาทุกครั้งต้องล้างให้สะอาด แล้วแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน หรือ0.5-1.0 กรัม/ลิตร เป็นเวลา 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารหลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
โรคที่เกิดกับปลากัดนั้นมีหลายโรคทีเดียว ซึ่งแยกออกเป็นโรคที่เกิดจากปรสิต เช่นโรคจุดขาว ตัวอ่อนของปรสิตจะฝังตัวอยู่ในตัวปลา และจะกระจายตามตัว ตามครีบไปเรื่อยๆและจะทำลายเซลล์ผิวหนังของปลา นอกจากนี้ยังมีโรคสนิมในตัวปลา โรคที่เกิดจากปลิงใส เป็นต้น ส่วนโรคที่เกิดจากแบคทีเรียนั้น โรควัณโรคปลาจะพบมากในปลากัด ทำให้ปลาน้ำหนักลดลง ไม่กินอาหาร สีซีดลง เกล็ดหลุด ผิวหนังเป็นแผล ครีบเปื่อย ขากรรไกรหรือกระดูกสันหลังบิดงอ ตาโปนหรืออาจหลุดออกมาได้ ถือว่าเป็นโรคที่รุนแรงมากเลยทีเดียวและอีกโรคที่สำคัญนั้นก็คือโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ลำตัวหรือส่วนหัวของปลา มีจุดหรือกลุ่มสีขาวคล้ายสำลีปุยๆ ติดอยู่ ทำให้ปลามีอาการซึม ไม่กระตือรือร้น หยุดกินอาหาร และมีสีซีด
และแล้วพระเอกของเราก็มาช่วย ใครจะเชื่อว่าเจ้าใบหูกวางที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไปจะช่วยรักษาโรคที่เกิดในปลากัดได้ดีทีเดียว ซึ่งคุณประโยชน์ของเจ้าหูกวางนี้ก็คือ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ และยังสามารถกระตุ้นให้ปลากัดเก่ง รักษาแผลจากการต่อสู้ และรักษาปลาที่ไม่สบาย มีอาการตกใจ และไม่กินอาหารได้
โดยการใช้ใบหูกวางในการรักษาโรคในปลากัดนั้น ได้รับการศึกษาค้นคว้าโดย วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นนทวิทย์ อารีย์ชน ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปโดยรวมว่า ในใบหูกวางนั้นมีสารสำคัญตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Tannin ซึ่งพบได้ในพืชหลายชนิด ส่วนใหญ่พบในส่วนที่เป็นใบ ฝัก และส่วนที่ปูดออกมาผิดจากปกติ เมื่อต้นไม้ได้รับอันตราย มีรสฝาด สามารถละลายน้ำได้ดี มีคุณสมบัติทำให้เกิดความระคายเคือง หรือบางชนิดทำให้เกิดฤทธิ์สมาน อีกทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้
การใช้ใบหูกวางในการรักษาโรคปลากัดนั้น ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าโดยวิธีการใช้สารสกัดจากใบหูกวาง โดยการนำใบหูกวางสดมาอบที่อุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 ชม. จากนั้นหมักใบหูกวางกับตัวทำละลาย ได้แก่ น้ำ เอทิลแอลกอฮอล์ 70% และ เอทิลแอลกอฮอล์ 95% หมักไว้ในภาชนะปิดทิ้งไว้ 3 วัน ในอัตราส่วนใบหูกวาง 1 ส่วนต่อตัวทำละลาย 10 ส่วน เมื่อครบกำหนดบีบเอาสารละลายออกจากกาก แล้วนำสารสกัดที่ได้ระเหยเอาตัวทำละลายออก จนสารสกัดแห้งเป็นผง แล้วนำมาแช่ในน้ำปกติ 375 ส่วนในล้านส่วน หรือ 3.75 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ใช้เวลาประมาณ 24 ชม. เพียงเท่านี้ เจ้าปลากัดนักสู้ที่มีสีสันสวยงาม ก็พร้อมที่จะออกต่อสู้ในสังเวียนอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย วิทวัส ยุทธโกศา นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สวพ.มก. โทรศัพท์ 0-2561-1474