เพิ่มผลผลิตไข่มดแดง สร้างรายได้

นักวิจัย ม.เกษตร แนะช่องทางเลี้ยงมดแดงให้กลายเป็นแมลงเศรษฐกิจ เก็บไข่มดแดงขาย ได้ราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง

ไข่มดแดง เป็นอาหารจานเด็ดของคนไทยมาช้านานแล้ว  มีราคาค่อนข้างแพง ราคาที่ร้านอาหารซื้อมาประกอบอาหารสูงถึงกิโลกรัมละ 200- 800 บาท ตลาดมีความต้องการสูง แต่ผลผลิตมีเป็นช่วงฤดูกาล ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะแหย่ไข่มดแดงมาจากรังมดที่อยู่บนต้นไม้ตามธรรมชาติ ปกติรังมดแดงจะมีขนาดไม่ใหญ่ ผลผลิตที่ได้ต่อรังต่อต้นนั้นค่อนข้างต่ำ แต่ละรังจะได้ปริมาณไข่มดแดงเพียง 10-100 กรัมต่อรัง หรือประมาณ 50-300 กรัมต่อต้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผลผลิตไข่มดแดงที่เก็บตามธรรมชาติ จึงมีจำกัด ไม่สามารถทำเป็นอาชีพ หรือทำการค้าเป็นเชิงธุรกิจได้

รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา จากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาชีววิทยา นิเวศวิทยา พฤติกรรมของมดแดง ทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง เพื่อส่งเสริมให้สามารถผลิตไข่มดแดงเป็นอาชีพ หรือทำเป็นการค้าได้ โดยใช้วิธีการเพิ่มปริมาณไข่มดแดงต่อรังและต่อต้นให้มากที่สุด ด้วยการทำให้มดแดงสร้างรังขนาดใหญ่ และเพิ่มจำนวนรังมดบนต้นไม้แต่ละต้นให้มากขึ้น เป็นระบบการวางแผนเลี้ยงมดแดงเพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตไข่มดแดงได้ตลอดทั้งฤดูกาลเก็บเกี่ยว ช่วยให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

โดยปกติ มดแดงจะให้ผลผลิตไข่มดแดงในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาว่างเว้นการทำนา เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพ ต้องกู้เงินมาใช้ดำรงชีพ หรือเดินทางเข้าเมืองหางานทำ แต่หากสามารถสร้างรายได้จากไข่มดแดงได้ ทำให้มีรายได้เพื่อยังชีพ อาจจะเปลี่ยนจากรายได้เสริมเป็นรายได้หลัก หรือประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงไข่มดแดงเป็นธุรกิจ อย่างมั่นคง ยั่งยืนได้ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ แต่สามารถขายได้ราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างเป็นอาชีพใหม่แก่ชาวบ้านโดยยังคงพักอาศัยอยู่ในถิ่นฐานของตน ไม่ต้องย้ายถิ่นเดินทางเข้าเมืองหางานทำ แต่สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพียงเข้าใจและปฏิบัติการเพื่อจัดระบบการเลี้ยงมดแดงอย่างถูกวิธี

แนวทางการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

1.ความเหมาะสมและสมบูรณ์ของต้นไม้ ต้องทำให้ต้นไม้มีความสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี จะต้องให้ต้นไม้มีการแตกใบใหม่ เพราะช่วงนี้ มดแดงจะเร่งสร้างรัง เพื่อไว้เก็บไข่มดแดง ดังนั้น ถ้าสามารถทำให้รังมีขนาดใหญ่มาก ก็จะยิ่งสามารถเก็บไข่มดได้มากขึ้น  ซึ่งหากใบไม้ไม่แตกใบใหม่ มีแต่ใบแก่ มดแดงจะไม่สามารถสร้างรังขนาดใหญ่ได้ จะสร้างแต่รังขนาดเล็กๆเท่านั้น  นอกจากนั้น เรือนยอดของต้นไม้ ต้องได้รับแสงทุกด้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการสร้างรัง เพราะมดแดงชอบสร้างรังรอบนอกเรือนยอดที่ถูกแสงและสร้างรังไว้รอบเรือนยอด ภายในเรือนยอด ไม่ควรให้ร่มทึบหรือมีใบหนาแน่นมากเกินไปจนแสงส่องผ่านไม่ได้ หากใบเรียงต่อเนื่องกันจะทำให้ง่ายต่อการสร้างรังขนาดใหญ่ได้ ถ้าใบไม่เรียงต่อเนื่องกันหรือใบอยู่ห่างๆ กัน มดแดงจะสร้างแต่รังขนาดเล็กเท่านั้น ทำให้ได้ปริมาณไข่มดแดงน้อยตามไปด้วยแม้จะมีรังขนาดเล็กจำนวนหลายรังก็ตาม ต้นไม้ไม่ควรสูงเกิน 5 – 6 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ  การครอบครองต้นไม้เพื่อให้มดแดงสามารถสร้างรังขนาดใหญ่อยู่ระหว่าง 5-8 ต้น เพราะถ้าครอบครองมากไป จะทำให้ประชากรมดแดงกระจัดกระจายไปอยู่บนต้นไม้แต่ละต้น ทำให้มีไม่มากพอที่จะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้ และสิ้นเปลืองการจัดการต้นไม้หลายต้นจนเกินไป เพราะมดแดงไม่ได้ใช้ทุกต้นสร้างรัง ถ้าครอบครองต้นไม้จำนวนมากๆ ต้องมีการดูแลตัดแต่งกิ่งแห้งและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้แข็งแรงเจริญงอกงาม

2.ปริมาณมดแดง มดแดงจะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้ต้องมีจำนวนประชากรมากเพียงพอต่อต้น ซึ่งพิจารณาได้จากปริมาณมดแดงที่เดินตามต้นไม้ ถ้ามีมดแดงเดินน้อยไม่ต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีปริมาณไม่มากพอ  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้มีจำนวนประชากรมดแดงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของอาณาจักรและความพร้อมของราชินีมด โดยราชินีมดต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอ จึงจะผลิตมดแดงออกมาได้มาก โดยเฉพาะก่อนจะถึงฤดูวางไข่ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะจะต้องมีการสร้างรังจำนวนมากเพื่อรองรับไข่มดแดง ถ้าประชากรมดแดงมีมาก มดแดงก็สามารถสร้างรังขนาดใหญ่ได้มากตามไปด้วย จะเห็นได้ว่า อาหารมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรมดแดง นอกจากนี้ ต้องคอยดูแลอย่าให้ศัตรูธรรมชาติที่จะเข้ามารบกวน หรือไล่มดแดงออกจากต้นไม้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะมดชนิดอื่นๆที่อาศัยตามกิ่งไม้ตาย ต้องกำจัดออกไปด้วยการตัดแต่งกิ่งแห้งนั้นออก

3.การให้อาหาร ต้องให้อาหารถูกช่วงเวลาและปริมาณเหมาะสม โดยช่วงที่ต้องให้อาหารมากคือช่วงก่อนถึงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงธันวาคม ช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน และช่วงหลังเก็บไข่มดแดง คือเดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายน ทั้ง 3 ช่วงนี้ต้องให้อาหารในปริมาณที่มากและให้บ่อยๆ ถือเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะจะทำให้ราชินีมดสามารถผลิตมดแดงและผลิตไข่ได้มาก ตลอดจนทำให้อาณาจักรมดแดงเข้มแข็งตลอดเวลา ช่วงนี้มดแดงต้องการอาหารมากสำหรับสร้างประชากรมดให้มาก เพื่อรองรับการสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อเก็บไข่มดแดง ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราชินีมดมีความสมบูรณ์ ถ้าราชินีมดสมบูรณ์จะผลิตไข่ได้มากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้อาหารบ่อย เพราะมดแดงสามารถหาอาหารได้ง่ายตามพื้นดินหรือพืชพื้นล่าง อาหารที่เหมาะสมควรมีขนาดเล็กเพราะง่ายในการขนกลับรังได้เร็ว ควรเป็นอาหารสด เช่น ปลาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือกุ้งฝอย เป็นต้น การให้อาหาร ควรให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤษภาคม โดยให้พร้อมน้ำตาล  ส่วนน้ำต้องมีตลอดเวลาในช่วงหน้าแล้ง

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา

ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้

คณะวนศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th