น้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้คือผลผลิตที่ได้จากกระบวนการเผาถ่าน มีลักษณะเหลวสีน้ำตาลแดงหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ได้จากการควบแน่นของควันไฟที่เกิดจากการเผาถ่านในช่วงอุณหภูมิเผา 300 – 400 องศาเซลเซียส อุณหภูมิดังกล่าวทำให้สารประกอบต่างๆ ในไม้ฟืนสลายตัวด้วยความร้อน เกิดเป็นสารประกอบขึ้นใหม่ซึ่งมีประโยชน์มากมาย

 

 

ในกระบวนการเผาถ่าน ถ้าเก็บน้ำส้มควันไม้ช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 300 องศาเซลเซียส น้ำส้มควันไม้ที่ได้ จะมีสารประกอบที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจำกัด  และถ้าเก็บในช่วงอุณหภูมิที่สูงกว่า 425 องศาเซลเซียส น้ำมันดินจะสลายตัว เป็นสารก่อมะเร็งได้แก่ 3,4 benzopyrene  และ1,2,5,6 dibenzanthracene แม้ว่าสารประกอบดังกล่าวจะสามารถกำจัดออกไปได้ง่ายเมื่อนำมาทำการกลั่นซ้ำที่อุณหภูมิในช่วง 60- 70 องศาเซลเซียส แต่การนำมากลั่นซ้ำก็จะทำให้สูญเสียสารประกอบบางอย่างที่เป็น

คุณสมบัติของน้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้แตกต่างจากน้ำส้มอื่นๆ ที่ได้จากการหมัก หรือการกลั่น คือ มีสารประกอบหลากหลายกว่า โดยเฉพาะฟีนอลที่ได้จากการสลายตัว ของลิกนิน น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆ มากกว่า 200 ชนิดซึ่งได้จากการ สลายตัวของไม้ด้วยความร้อนจนเกิดเป็นสารประกอบใหม่หลายชนิด เช่น กรดอินทรีย์ และแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ ที่ได้จากการสลายตัวของเฮมิ เซลลูโลสและเซลลูโลส น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบที่สำคัญได้แก่ น้ำ 85 % กรด อินทรีย์ 3 % และสารอินทรีย์อื่นๆ 12 % มีค่า pH 1.5-3.7

การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

1.น้ำส้มควันไม้ 100%  ใช้ทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง โดยใช้น้ำส้มควันไม้ 2 ลิตร หมักรวมกับโปรตีนต่างๆ 1 กก. เช่นหอยเชอรี่บด เศษปลา เศษเนื้อ หรือกากถั่วเหลือง โดยหมักนาน 1 เดือน จากนั้นให้กรองเอากากออก ใช้น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นพืชทุกๆ 7-10 วัน

2.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ไส้เดือนฝอย และแมลงในดิน แต่ควรทำและทิ้งไว้ก่อนการเพาะปลูกอย่างน้อย 10วัน

3.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 50 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าทำลายพืชแล้ว

4.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ใช้ราดโคนต้นไม้ เพื่อรักษาโรครา และโรครากเน่า

5.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ความเข้มข้นระดับนี้ สามารถใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่นฉีดพ่นใบพืชและพื้นดินรอบๆต้นพืชทุกๆ 15 วัน เพื่อขับไล่แมลง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชฉีกพ่นกองปุ๋ยหมักเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ที่ช่วยย่อยกองปุ๋ยหมักให้ได้ประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ใช้หมักร่วมกับสะเดา หรือตะไคร้หอม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับไล่แมลงและป้องกันโรค

6.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 500 ลิตร  ฉีดพ่นผลอ่อนของพืชหลังจากติดผลแล้ว 15 วัน เพื่อช่วยขยายให้ผลโตขึ้น และฉีดก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาลในผลไม้

7.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 1000 ลิตร ใช้ผสมสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแทนสารจับใบ ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีจากปกติ 50 % เนื่องจากสารเคมีสามารถออกฤทธิ์ได้ดีในสารละลานที่เป็นกรดอ่อนๆ

การใช้ประโยชน์ทางด้านปศุสัตว์

1.ใช้ลดกลิ่นและแมลงในฟาร์มปศุสัตว์ โดยการใช้ครั้งแรกควรผสมในอัตราส่วนน้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร จะสามารถกำจัดกลิ่นและลดจำนวนแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ใช้ผสมอาหารสัตว์ เพื่อช่วยย่อยอาหารและป้องกันโรคท้องเสีย แต่การให้โดยตรงโดยการผสมน้ำแล้วนำไปให้สัตว์กิน สัตว์จะรังเกียจกลิ่นควันไฟ จึงควรนำน้ำส้มควันไม้ไปผสมกับผงถ่านก่อนในอัตราส่วนน้ำส้มควันไม้ 2 ลิตร ผสมผงถ่าน 8 กก. จากนั้นนำผงถ่านที่ชุ่มน้ำส้มควันไม้ไปผสมอาหารสัตว์ 990 กก. จะได้อาหารสัตว์ในปริมาณ 1 ตัน พอดี ซึ่งจะมีคุณประโยชน์ ดังนี้

– ช่วยทำให้การย่อยและการใช้ประโยชน์จากอาหารดีขึ้น ส่งผลให้สัตว์โตเร็วกว่าปกติ โดยให้อาหารเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิม 3 %

-ช่วยยับยั้งการเกิดแก๊ส  และดูดซึมโลหะหนักในกระเพาะอาหาร ทำให้สัตว์มีสุขภาพดี

-ช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย

-ช่วยปรับปรุงคุณภาพและลดปริมาณน้ำในเนื้อสัตว์ ทำให้คุณภาพของเนื้อสัตว์ดีขึ้น ทั้งรสชาติ สี และกลิ่น

-ช่วยปรับปรุงคุณภาพของไข่ ทำให้ไข่แดงมีขนาดใหญ่และเหนียวขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินและลดปริมาณคลอเรสเตอรอล

-ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม

-ช่วยยับยั้งการเกิดแก๊สแอมโมเนียและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้กลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ลดลง ซึ่งช่วยทำให้สัตว์ไม่เครียด ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพของปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ให้ดีขึ้นอีกด้วย

-ช่วยยับยั้งการฟักไข่ของแมลงในมูลสัตว์ ทำให้ปริมาณของแมลงในบริเวณฟาร์มลดลง โดยเฉพาะแมลงวัน

การใช้ประโยชน์ในครัวเรือน

1.น้ำส้มควันไม้  100 % ใช้รักษาแผลสด แผลถูกน้ำร้อนและไฟลวก รักษาโรคน้ำกัดเท้าและเชื้อราที่ผิวหนัง

2.น้ำส้มควันไม้  1 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ใช้ราดทำลายปลวกและมด

3.น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร ผสมน้ำ 50 ลิตร ใช้ราดป้องกันปลวก มด แมลง เช่น ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ

4.น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นถังขยะเพื่อดับกลิ่นขยะและไล่แมลงวัน ใช้ราดดับกลิ่นห้องน้ำ ห้องครัวและบริเวณที่ชื้นแฉะ ใช้ดับกลิ่นกรงสัตว์เลี้ยง รวมทั้งใช้หมักขยะสดและเศษอาหารสำหรับใช้ทำปุ๋ย

การใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม

1.ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว

2.ใช้ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ทั้งใช้โดยตรงทางผิวหนัง หรือ ผสมน้ำอาบ

3.ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารรมควัน

4.ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้า

5.ใช้ผลิตสารป้องกันเนื้อไม้จากราและแมลง

6.ใช้ผลิตยารักษาโรคผิวหนัง ยาฆ่าเชื้อไทฟอยด์ อาหารเสริมเพิ่มภูมิต้านทาน อาหารเสริมการทำงานของตับ

7.ใช้ผลิตสารช่วยย่อยประเภทพรีไบโอติก

ข้อควรระวัง

1.ก่อนที่จะนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ จะต้องตั้งน้ำส้มควันไม้ดิบหลังจากดักเก็บทิ้งไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เกิดการตกตะกอน และให้เกิดการแยกชั้นของน้ำมันใส น้ำส้มไม้ และน้ำมันดิบออกจากกันก่อน

2.การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์นั้นควรระวังอย่าให้เข้าตา เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีคุณสมบัติเป็นกรดสูง

3.น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นเพียงตัวเร่งปฎิกิริยา ดังนั้นการนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ในการเกษตรนั้น จะเป็นเพียงตัวเสริมประสิทธิภาพให้กับพืชที่ปลูกเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้

4.การใช้น้ำส้มควันไม้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดินนั้น มีโทษต่อพืชที่ปลูก ควรทำก่อนการเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน

5.การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร จะต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสม หากใช้กับแมลงกินใบ ควรมีการฉีดพ่นใต้ใบร่วมด้วย เพื่อช่วยขับไล่แมลงที่อยู่ตามใต้ใบพืช

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล : – นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560     ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

– เอกสารประกอบการอบรม เทคนิคการผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้  โดย ดร.นิคม แหลมสัก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อมูลโดย :    นายอนุชา ทะรา                                                                 สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด                              คณะวนศาสตร์                                                                    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เผยแพร่โดย  :    ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย                                                            สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.                                         โทร. 02 561 1474                                                             e-mail : rdiwan@ku.ac.th

นายอนุชา ทะรา