การพัฒนาการใช้ประโยชน์ของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ประสิทธิภาพสูงสำหรับพืชเศรษฐกิจ
The Utilization of Livestock Farm Waste as Organic Fertilizer for Economic Crop Production

                ของเสียที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ ได้แก่ มูลสัตว์ ซึ่งส่วนที่เป็นของแข็งประกอบไปด้วยเศษของพืชและสัตว์ซึ่งเป็นอาหารที่สัตว์กินเข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้หมดจึงเหลือเป็นกากขับถ่ายออกมา โดยเศษอาหารเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการย่อยสลายไปบางส่วนแล้วในทางเดินอาหาร มูลสัตว์จึงอุดมไปด้วยธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้หลายชนิด ซึ่งสามารถใช้เป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ของพืชได้ ปริมาณธาตุอาหารในมูลสัตว์ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบและแร่ธาตุที่เสริมในอาหารที่สัตว์กินเข้าไป รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ระบบการย่อยอาหารของสัตว์ วิธีการให้อาหารรวมทั้งการจัดการรวบรวมมูลสุกรและของเสียในฟาร์มด้วย

                มูลสัตว์แต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและจุลธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่าง โดยมูลสุกรและกากตะกอนของมูลสุกรจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ รวมทั้งมูลของไก่ไข่มีปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง แมงกานีสและสังกะสีมากกว่ามูลโค ขณะที่มูลโคมีปริมาณธาตุโพแทสเซียมและโซเดียมมากกว่ามูลสุกร

วิธีการเตรียมน้ำสกัดมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยกับพืช

                นำมูลสุกรแห้งบรรจุลงในถุงไนลอน (มุ้งเขียว) แล้วแช่ในน้ำ อัตราส่วนมูลสุกร 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ปิดฝาถังให้สนิท และแช่ไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วยกถุงที่บรรจุมูลสุกรออกจากถัง นำน้ำสกัดส่วนใสที่ได้มาเจือจางกับน้ำ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยรดทางดินหรือฉีดพ่นทางใบ ส่วนกากมูลสุกรที่เหลือ สามารถนำไปทำปุ๋ยทางดินได้อีก น้ำสกัดมูลสุกรส่วนใสสามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งจะทำให้น้ำสกัดใสยิ่งขึ้นและยังช่วยลดกลิ่นลงได้ การทำน้ำสกัดมูลสุกรจะทำให้ประหยัดกว่าการใช้มูลสุกรเป็นปุ๋ยทางดินโดยตรง เนื่องจากมูลสุกรแห้ง 1 กิโลกรัม แช่ในน้ำ 10 ลิตรจะได้น้ำสกัดประมาณ 8 ลิตร และเจือจางต่อไปได้เป็น 80-160 ลิตร ทั้งนี้สามารถใช้มูลไก่ไข่หรือมูลนกกระทาแทนมูลสุกรได้

การใช้ประโยชน์น้ำสกัดมูลสุกรเป็นธาตุอาหารเสริมสำหรับพืช

ใช้ได้ใน 2 รูปแบบ คือ เป็นปุ๋ยฉีดพ่นทางใบพืชและเป็นปุ๋ยน้ำรดทางดินให้กับพืช

  1. การใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบพืช  ข้อดี เป็นวิธีการที่ประหยัดและเห็นผลรวดเร็ว  เนื่องจากใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1-2 ลิตร ผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร สามารถฉีดพ่นให้กับพืชได้ในพื้นที่ 1-2 งาน ข้อจำกัด ต้องฉีดพ่น ทางใบทุก 1-2 สัปดาห์  แต่ถ้าฉีดให้มากเกินอาจทำให้พืชเหลืองได้
  2. การใช้น้ำสกัดมูลสุกรรดทางดิน  ข้อดี คือ ปฏิบัติได้ง่าย เพียงนำน้ำสกัดมูลสุกรเจือจางด้วยน้ำ 10-20 เท่า แล้วราดลงดินในบริเวณที่ปลูกพืช พืชจะสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้เรื่อยๆ ข้อจำกัด ต้องใช้น้ำสกัดมูลสุกรและน้ำที่ใช้เจือจางปริมาณมากกว่าการฉีดพ่นทางใบ หากรดทางดินในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ใบพืชเหลืองและหลุดร่วงได้

การใช้มูลสุกรเป็นปุ๋ยในการปลูกข้าว

  1. ใช้มูลสุกรแห้งในอัตรา 200-250 กก./ไร่  หมักตอซังหลังการเก็บเกี่ยว ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร ทำให้การย่อยสลายของตอซังเป็นไปอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์  ขณะเดียวกันก็ย่อยสลายเมล็ดข้าวร่วง ข้าวดีด ดอกหญ้า ต้นหญ้า ไม่ให้มีโอกาสโตขึ้นมาแข่งกับข้าวในฤดูถัดไป
  2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว  ช่วยให้ต้นและรากข้าวงอกเร็วและแข็งแรง
  3. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ  ทุก 15 วัน ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง
  4. ให้น้ำสกัดมูลสุกรพร้อมกับน้ำที่ปล่อยเข้าแปลงนา เมื่อข้าวอายุ 30 และ 60 วัน ครั้งละ 80-100 ลิตร/ไร่
  5. ใช้กากมูลสุกรที่เหลือจากการทำน้ำสกัดมูลสุกรหรือกากตะกอนจากบ่อแก๊สชีวภาพ จำนวน 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ในนาข้าว 2 ครั้ง ช่วงเตรียมดินหรือทำเทือกและช่วงข้าวอายุ 1 เดือน

การใช้มูลสัตว์ในการเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลัง

  1. เลือกท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ตัดในแนวตรงและแช่ในน้ำสกัดมูลสุกรที่เจือจาง  1 ต่อ 20 เป็นเวลา 30 นาที - 1 ชั่วโมงก่อนปลูก  โดยระยะปลูกให้ห่างอย่างน้อย 80×100 ซม. จะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มาก
  2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางน้ำ 1 ต่อ 10 ฉีดพ่นทางใบอย่างต่อเนื่องทุกๆ 15 วัน
  3. ใช้กากตะกอนมูลสุกรใส่ระหว่างต้นที่ปลูก ในช่วงอายุ 1 เดือน
  4. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรเป็นปุ๋ยทางดินอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10 ลิตร โดยใช้สายยางรดให้บริเวณโคนต้น หรือฉีดลงดินบ้างในช่วงที่แล้งไม่มีฝนตกเลย หรือจะใช้ผสมไปกับระบบน้ำหยดก็ได้

การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในปาล์มน้ำมัน

    1. ใช้มูลสัตว์หมักปรับสภาพดิน หรือเป็นปุ๋ยรองก้นหลุมปลูก ควรใช้ปุ๋ยหมักมูลโคร่วมกับมูลสุกร
    2. ใช้มูลสัตว์หมักหรือกากตะกอนมูลสุกรหรือกากมูลไก่จากบ่อหมักก๊าซชีวภาพใส่บริเวณชายทรงพุ่มรอบๆ ต้น 3-5 กิโลกรัมต่อต้น หรือใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางน้ำ 10 เท่ารดทางดิน ต้นละ 1-2 ลิตร เดือนละ 1-2 ครั้ง
    3. ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตรผสมน้ำ 10-20 ลิตร พร้อมสารจับใบ3-5ซี.ซี.ฉีดพ่นทางใบในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือใช้น้ำจากบ่อพักในฟาร์มเจือจางแล้วนำมารดต้นปาล์มทางดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบได้

     การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในแปลงยางพารา

    1. กล้ายางพารา ใช้กากตะกอนมูลสุกรจากบ่อก๊าชชีวภาพ หรือกากมูลสุกรที่เหลือจากการทำน้ำสกัดมูลสุกรผสมดินกับที่จะปลูกหรืออนุบาลต้นกล้ายางพารา
    2. ต้นยางระยะเจริญเติบโตและระยะกรีดน้ำยาง ใช้กากตะกอนมูลสุกรจากบ่อก๊าชชีวภาพ 300-500 กรัมรองก้นหลุมหรือผสมดินปลูก และใช้กากตะกอนมูลสุกรโรยรอบโคนต้นทุก 3 เดือน ควรฉีดพ่นน้ำสกัดมูลสุกรผสมน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ลิตร ฉีดพ่นทุก 15 วัน  ทำไปจนถึงช่วงกรีดยางพาราโดยสามารถฉีดที่บริเวณโคนต้นรอบต้นยาง ลำต้นและหน้ายางจะทำให้หน้ายางนิ่ม น้ำยางมากและข้นขึ้น นอกจากนี้ควรใส่กากตะกอนมูลสุกรทางดินบริเวณรอบโคนต้นยาง ทุก 3 เดือนด้วย

    การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในแปลงพืชผัก

    1. ใช้กากตะกอนมูลสุกรจากบ่อก๊าชชีวภาพใส่ทางดินให้กับพืชผัก เนื่องจากผักเป็นพืชอายุสั้น จึงควรใช้มูลสัตว์ที่ผ่านการย่อยสลายมาแล้ว ซึ่งจะมีธาตุอาหารในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที และยังมีธาตุไนโตรเจนอยู่สูงเหมาะสำหรับพืชที่ต้องการใบ หรือลำต้นอวบใหญ่ ในอัตรา 0.5 -1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางวา  จากนั้นพรวนดินเพื่อเตรียมการปลูกหรือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชได้เลย
    2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรแช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก 6 - 12 ชม. ซึ่งขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด ก่อนหว่านหรืออาจผึ่งลมให้เมล็ดพันธุ์แห้ง แล้วนำไปปลูก จะทำให้เมล็ดผักงอกเร็วและเจริญตั้งตัวได้เร็วกว่าเมล็ดที่ไม่ได้แช่
    3. ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตรผสมน้ำ 10-20 ลิตร พร้อมสารจับใบ 3-5 ซี.ซี.ฉีดพ่นทางใบในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น สัปดาห์ละครั้ง  ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น พืชจะมีสีเขียวเข้ม ใบมีขนาดใหญ่  หนาและยาวขึ้น กาบใบหรือก้านใบแข็งและมีลักษณะตั้งขึ้น พืชมีน้ำหนักใบและลำต้นมากขึ้นอย่างชัดเจน
    4. ใช้กากตะกอนมูลสุกรจากก๊าชชีวภาพโรยบาง ๆ เพิ่มเติมให้ทางดินหลังจากพืชโตแล้วก่อนการเก็บเกี่ยวจะทำให้เก็บเกี่ยวพืชได้เร็วขึ้น หรือให้หลังจากเก็บเกี่ยวจะช่วยให้การเก็บเกี่ยวในครั้งต่อไปเร็วขึ้นและยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไปได้อีก
    5. ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร รดให้พืชทางดิน ก่อนหว่านเมล็ด หรือในช่วงเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ 

    การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในแปลงไม้ผล

    1. ใช้มูลสัตว์หมักปรับสภาพดินหรือเป็นปุ๋ยรองก้นหลุมปลูก   หากพื้นที่ปลูกเป็นดินค่อนข้างเหนียวหรือแน่นแข็ง ควรใช้ปุ๋ยหมักมูลโคร่วมกับมูลสุกร เนื่องจากมูลโคมักมีอินทรีย์วัตถุค่อนข้างสูง ส่วนมูลสุกรมีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียมและธาตุรองอื่น ๆ ค่อนข้างสูง จะสามารถเร่งการเจริญเติบโตของพืชในระยะแรกได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าสภาพดินค่อนข้างดีแล้วจะใช้เฉพาะปุ๋ยหมักมูลสุกรหรือกากตะกอนมูลสุกรจากบ่อก๊าชชีวภาพใส่ก้นหลุมในอัตราประมาณ 1 – 2 กก. ต่อหลุมก็ได้
    2. ใช้มูลสัตว์หมักหรือกากตะกอนมูลสุกรจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพใส่ดินบริเวณชายทรงพุ่มรอบ ๆ ต้นไม้ผล อัตราประมาณ 3 – 5 ก.ก. ต่อต้นขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม โดยใส่ปีละ 3 – 4 ครั้ง จะทำให้พืชมีธาตุอาหารทุกชนิดเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต
    3. ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร รดทางดิน ต้นละ 1 – 2 ลิตร เดือนละ 1 – 2 ครั้ง ในช่วงเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบหรือจะใช้น้ำสกัดมูลสุกรเข้มข้นให้พร้อมกับการให้น้ำระบบต่างๆ
    4. ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตรผสมน้ำ 10-20 ลิตร พร้อมสารจับใบ 3-5 ซี.ซี. ฉีดพ่นทางใบในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น เดือนละ 1 – 2 ครั้ง จนกระทั่งพืชมีการสร้างทรงพุ่มเต็มที่  ให้หยุดฉีด  เพื่อให้พืชสร้างดอกและผลต่อไป      การฉีดพ่นน้ำสกัดมูลสุกรจะทำให้พืชมีการสร้างใบและทรงพุ่มใหม่ได้เร็ว  พืชออกดอก ติดผลมากขึ้น  ผลดก  มีขนาดใหญ่  นอกจากผลผลิตจะมากขึ้นแล้ว ผลไม้ยังมีรสชาติดีด้วย 
    5. ใช้น้ำจากบ่อพักน้ำในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ นำมารดต้นพืชทางดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบได้เช่นเดียวกับน้ำสกัดมูลสุกร

    การใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยในแปลงไม้ดอก

                ใช้น้ำสกัดมูลสุกรผสมน้ำอัตรา 1:20 ยกเว้นกล้วยไม้ใช้อัตรา 1:25-30 ฉีดพ่นทางใบสัปดาห์ละครั้ง

    ภาพพืชที่ใช้ของเสียจากฟาร์มปศุ สัตว์เป็นปุ๋ยอินทรีย์


    DSC06985.JPG

    ใบธงมีขนาดใหญ่และเขียวจนกระทั่งเกี่ยว  จำนวนเมล็ดต่อรวงมากขึ้น ข้าวเต็มเมล็ด

    มันสำปะหลังมีหัวจำนวนมาก  ขนาดใหญ่
    ได้น้ำหนัก  เปอร์เซ็นต์แป้งสูง   

    ต้นยางอายุมากกว่า 30 ปี ต้นสมบูรณ์ หน้ายางนิ่ม สามารถกรีดได้ตลอดทั้งปี  ได้น้ำยางปริมาณมากขึ้นและข้นขึ้น  

    ปาล์มให้ผลดก  ผลใหญ่  น้ำหนักดี และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว  

    พืชผักแข็งแรง ต้นสมบูรณ์  ได้น้ำหนัก  เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นและอายุเก็บนานขึ้น

    ทุเรียนมีต้นสมบูรณ์  ติดดอกตลอดทั้งปี  เก็บผลผลิตได้ปีละ 3 ครั้ง เนื้อกรอบ หวาน รสชาติดี



คณะผู้วิจัย
รศ.อุทัย คันโธ นางสุกัญญา จัตตุพรพงษ์ และน.ส.ปฏิมา อู๋สูงเนิน
สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 081-845-3371 หรือ 034-352-035