การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา Food Valley ภาคกลาง

Central Thailand Food Valley Development

หัวหน้าโครงการวิจัย

DirectorVarapa250

ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail: warapa.m@ku.ac.th


คณะผู้วิจัย/ผู้ร่วมโครงการ

  1. รศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล
  2. รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี
  3. นางพัชรี ตั้งตระกูล
  4. ผศ.ดร.พงษ์เทพ วิไลพันธ์
  5. ดร.เรืองรอง ทองตัน
  6. นางสาวโสภิดา ชิดชื่นเชย
  7. นางสาวอรญา ศรีอนันต์
  8. นางรัตนาภรณ์ ไชยแสน
  9. นายธีรศักดิ์ สุนทรา

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือ 3 ภาคส่วน และเพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการโครงการ Food Valley ในพื้นที่ภาคกลาง
  2. เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการย่อยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการคัดเลือกข้อเสนอโครงการ กลุ่มเรื่อง Food Valley

 

แนวคิดเรื่อง Food Valley หรือหุบเขาอาหาร

แนวคิดเรื่อง Food Valley หรือหุบเขาอาหาร เป็นแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแบบครบวงจร (จิต, 2555) โมเดลนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังประสบกับปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงใช้แนวคิดเพื่อพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์อาหารให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันให้องค์ความรู้ และผลงานวิจัยทางวิชาการต่างๆ ได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้เห็นเป็นรูปธรรม สามารถผลักดันให้ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้จริงอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึงกว่าปีละ 48 พันล้านยูโรแล้ว ยังกลายเป็นสนามแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ (โชติกา, 2556) ซึ่งตัวอย่างโมเดล Food Valley นี้เป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 มีแนวโน้มส่งออกเติบโต 5% มูลค่า 9.5 แสนล้านบาท จากปี พ.ศ. 2558 ที่มีมูลค่า 9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพจะมีแนวโน้มการเติบโตได้ดี ควบคู่กับภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบการส่งออกแต่คงไม่มาก เพราะจะทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น (ที่มา: ข่าวสด วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9175)

ภาคกลางครอบคลุมพื้นที่ 21 จังหวัด มีบทบาทเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรกรรมและประมงที่สำคัญของประเทศ ความเข้มแข็งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของภาคกลาง สามารถอ้างอิงรายงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า โครงสร้างผังเมืองของภาคกลางมีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเพื่อสนับสนุนบทบาทการเป็น “ครัวของโลก” และมีการพัฒนาโครงการ Contract Farming ขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตรงกับข้อกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยในเวทีการค้าโลก รวมทั้งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดนี้เอื้อต่อการผลิตอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง


ประเด็นการใช้ประโยชน์เศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ เป็นประเด็นที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ เช่นในปี พ.ศ. 2558 มีการส่งออกสัตว์น้ำในกลุ่มปลาและผลิตภัณฑ์ประมาณ 1,044,646 ตัน คิดเป็นมูลค่า 109,293 ล้านบาท รวมถึงในกลุ่มกุ้งและผลิตภัณฑ์ประมาณ 120,269 ตัน คิดเป็นมูลค่า 97,103 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2558) จากผลผลิตปริมาณมากที่มีการส่งออกดังกล่าวย่อมส่งผลให้มีเศษเหลือจากการแปรรูปตามมาจำนวนมาก เช่น หัว หาง ก้าง หนัง อวัยวะภายใน เปลือก และเศษเหลือส่วนอื่นๆ เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณมากถึงร้อยละ 40 ของปริมาณวัตถุดิบตั้งต้นที่นำมาใช้ในการแปรรูป ซึ่งหมายถึงว่าจะมีเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำภายในประเทศอย่างน้อย 776,610 ตันต่อปี ที่ผ่านมาเศษเหลือดังกล่าวมักถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า เช่น การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีราคาถูก การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงในบางครั้งเศษเหลือดังกล่าวยังสร้างผลกระทบโดยทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จึงทำให้ภาคส่วนต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในกลุ่มที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงในรูปแบบอื่นๆ ประกอบกับในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำอยู่จำนวนมาก จึงทำให้เป็นแหล่งที่สำคัญและง่ายต่อการเข้าถึงเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่หลากหลายเพื่อนำมาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง รวมถึงอาจสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการใช้ประโยชน์เศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำให้กับภูมิภาคอื่นๆ และ/หรือการรวมกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีในระหว่างแต่ละภูมิภาคเพื่อให้อุตสาหกรรมการใช้ประโยชน์เศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

ในส่วนองค์ประกอบเรื่องความพร้อมของสถานศึกษาในพื้นที่ภาคกลางนั้น อาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยในภาคกลางได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่องและได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารแปรรูปจากผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งเศษเหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อมุ่งเน้นเรื่องโภชนาการ และมีความปลอดภัย จนมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีพื้นฐานที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีความหลากหลายทั้งในเชิงของ Functional food  ผลงานวิจัยบางส่วนได้รับการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ซึ่งพร้อมจะขยายผลและถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการทั้งในระดับใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด

โครงการ Food Valley ภาคกลาง 2559 นี้จึง “มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูงเพื่อสุขภาพกลุ่ม Functional food” เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีโภชนาการสูงจากเศษเหลือของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มนี้ให้เติบโต ควรเน้นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และพัฒนามาตรฐานสู่ระดับสากล โดยตั้งเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของเอเชีย”  โครงการ Food Valley ภาคกลาง เลือกกลุ่มเอกชนเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการอาหารขนาดกลาง เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านการลงทุนและเทคโนโลยีในระดับที่สามารถพัฒนาต้นแบบได้

ภาพความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กันในระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดเป็น Food Valley ในแต่ละภูมิภาค
(ที่มา: การประชุมพัฒนากรอบงานวิจัย Food Valley วันที่ 4 ก.พ. 2559
และการประชุมพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย Food Valley วันที่ 12 ก.พ. 2559)

Concept Food Valley การพัฒนาโครงการภายใต้งานวิจัยเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ กลุ่มเรื่อง Food Valley จะต้อง มีความร่วมมือของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ถือเป็นปัจจัย/องค์ประกอบสำคัญ ทั้งนี้ควรเน้นการวิจัยเชิงพื้นที่ (Area Based Development Research) และงานวิจัยที่หน่วยงานมีศักยภาพต่อยอดได้ (Functional Based Research) โดยมีแต่ละความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กันในแต่ละภาคส่วน ดังนี้