กระดาษหัตถกรรมจากเยื่อทะลายปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันสูง เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น และเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ปาล์มน้ำมันจึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศไทย อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นใยที่ได้จากส่วนของทะลายปาล์ม เปลือกผล และกาบใบ เมื่อนำผลทะลายปาล์มมาแยกส่วนต่างๆ ออกจะได้ ผลสด และทะลายเปล่า ในแต่ละปีจะมีทะลายเปล่าแห้งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก และยังมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก จึงมีการนำทะลายปาล์มเปล่ามาผลิตเป็นเยื่อเพื่อใช้ทำกระดาษหัตถกรรมหรือกระดาษพื้นบ้านทดแทนวัตถุดิบอย่างเปลือกปอสาซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีเกษตรกรสนใจจำนวนมากแต่ยังติดปัญหาที่หม้อต้มเยื่อความดันมีราคาแพงมากและอันตราย จึงเป็นที่มาของการศึกษาการใช้ประโยชน์จากทะลายปาล์มน้ำมันโดยวิธีฟอกขาวแทนการใช้หม้อต้มความดัน โดยคุณวุฒินันท์ คงทัด และผู้ร่วมวิจัย ดร.สุธีรา วิทยากาญจน์ และ ดร.รังสิมา ชลคุป จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยนำเส้นใยทะลายปาล์มน้ำมัน มาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี สัณฐานของเส้นใย หาวิธีการผลิตเยื่อโดยการฟอกขาว ปรับปรุงสมบัติเชิงกลของกระดาษโดยการผสมเยื่อปอสาและเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน ศึกษาต้นทุนการผลิตเบื้องต้นและทดสอบสมบัติเชิงกลของกระดาษที่ผลิตได้ตามวิธีมาตรฐานของ TAPPI
Read more