บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” เรื่อง กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=CrP68g8zK5c[/youtube]
บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2556
เรื่อง การปลูกและการดูแล กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
……………………………………………………………………………………………………..
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้รับทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
คุณผู้ฟังครับ กล้วยเป็นผลไม้ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีครับ และกล้วยก็ยังมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เราเลือกที่จะบริโภคกัน กระผมเชื่อพันธุ์หนึ่งที่เป็นที่นิยมไม่น้อยก็คงจะหนีไม่พ้น กล้วยไข่ ครับ มีลักษณะผลป้อมปลายมน สีผิวเหลืองสดใส มีรสชาติหวาน เนื้อมีความละเอียดเนียน ไม่มีไส้กลาง มีลักษณะคล้ายกล้วยหอมทอง และยังมีคุณค่าทางอาหารอีกมากมายครับ
และวันนี้กระผมจะมาแนะนำกล้วยไข่สายพันธุ์หนึ่ง ที่เกิดจากการทำให้กล้วยไข่กำแพงเพชรเกิดการกลายพันธุ์และพิสูจน์ได้ว่าเป็นกล้วยไข่ไทย โดยการตรวจ DNA นั่นก็คือ กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 เป็นกล้วยพันธุ์ใหม่ในวงการกล้วย ซึ่งคาดว่าสามารถส่งออกได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมตลาดกล้วยไข่ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นและมั่นใจได้ว่าเป็นกล้วยสายพันธุ์ไทยแท้ๆครับ
คุณผู้ฟังครับ ผลงานวิจัยนี้เป็นของ ศ.เบญจมาศ ศิลาย้อย ร.ศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ สังกัดภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และนางกัลยาณี สุวิทวัส จากสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีย์จันทรสถิตย์ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ เป็นผู้ให้ความรู้ดังกล่าวครับ ช่วงนี้พักันก่อนสักครู่นะครับ แล้วช่วงหน้าเรามาฟังวิธีการปลูกและการดูแลกันครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ การปลูกและการดูแลกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 ไม่ได้แตกต่างจากกล้วยไข่กำแพงเพชรเลยครับ มาดูที่การเลือกพื้นที่ปลูกกันครับ ควรเป็นพื้นที่ไม่มีน้ำขัง ถ้าเป็นที่ลุ่มควรมีการยกร่องพื้นที่ปลูกเพราะพื้นที่ปลูกที่ลาดเอียง แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบจะดีกว่าพื้นที่ลาดเอียงมากครับ และไม่ควรจะไกลจากพื้นที่ชลประทานหรือแหล่งน้ำมากครับ ควรมีน้ำตลอดทั้งปี เพราะกล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ไม่ควรเป็นที่สูงเกิน 1,200 เมตร เพราะที่สูงจะมีอากาศเย็นจัดกล้วยไม่ชอบอากาศที่เย็นครับ ถ้าอากาศเย็นจะทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโตได้ครับ
คุณผู้ฟังครับ ถ้าต้องการปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกต้องคำนึงถึงการคมนาคมจะต้องสะดวก และไม่ห่างไกลจากท่าเรือมาก หรือใช้เวลาในการขนส่งสั้น ถนนหนทางเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นผลกล้วยจะช้ำจากการเดินทางได้
ส่วนดินที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยมากที่สุด คือ ดินน้ำไหลทรายมูล หรือดินร่วนที่มีดินเหนียว มีความเป็นกรดด่างประมาณ 5-7 pH หน้าดินลึกประมาณ 40 เซนติเมตร และระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 75 เซนติเมตร ทั้งนี้เพราะระบบรากกล้วยแผ่ทางด้านข้าง และด้านลึกประมาณ 50 เซนติเมตร จะทำให้รากแช่น้ำเน่าตายได้ครับ
อากาศ กล้วยเป็นพืชเมืองร้อนไม่ชอบอากาศหนาวครับ อุณหภูมิในพื้นที่ปลูกไม่ควรต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส เพราะถ้าต่ำกว่านี้ต้นจะชะงักการเจริญเติบโตครับ ทำให้ออกผลช้า หรือถ้าออกผลแล้ว ก็จะเจริญเติบโตช้าและมีสีผิวที่ไม่สวย และถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะทั้งใบและผลจะถูกแดดเผามาก ถ้าหากมีน้ำไม่เพียงพอก็ไม่สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นอุณหภูมิไม่ควรต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส และไม่ควรจะสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากกล้วยต้องอยู่ในอุณหภูมิ ดังกล่าว ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ไม่เป็นไรครับ สิ่งที่สำคัญนั้นควรจะมีน้ำให้เพียงพอในช่วงเวลาดังกล่าวครับ
มาฟังกันในเรื่องของลมกันนะครับ ปัญหาสำคัญในการปลูกกล้วยไข่ที่เกษตรกรพบเจอบ่อยๆ นั้นก็คือ ลม เพราะถ้าลมแรงทำให้กล้วยล้มตาย ใบฉีกขาดมาก ดังนั้นถ้าหากพื้นที่นั้นมีลมแรงประจำควรจะปลูกต้นไม้ใหญ่ช่วยกันลมด้วยนะครับ
ส่วน น้ำและแสง คุณผู้ฟังคงจะทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า กล้วยเป็นพืชที่มีใบใหญ่ ดังนั้นใบจึงต้องการแสงมากเพื่อช่วยในการปรุงอาหาร และในขณะเดียวกันใบก็คายน้ำด้วย จึงต้องการน้ำมากเช่นกัน ดังนั้นแหล่งน้ำจึงสำคัญที่สุด ปัจจุบันให้น้ำระบบหยดและระบบพ่นฝอยกันมาก เพื่อที่จะประหยัดน้ำ และสามารถให้ได้ตลอดทั้งปี แหล่งน้ำนั้นควรเป็นแหล่งน้ำสะอาดครับคุณผู้ฟัง ปราศจากสารพิษทั้งหลาย และไม่ควรมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ประมาณ 5-9 pH ช่วงนี้พักก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาฟังเรื่องเตรียมแปลงก่อนปลูก
-เพลงคั่นรายการ-
มาฟังเทคนิค การปลูกกันนะครับ ก่อนอื่นเตรียมแปลงปลูกกันก่อนครับคุณผู้ฟัง เริ่มจากไถผาน 3 หรือไถหัวหมู พลิกดินให้เป็นก้อนใหญ่ และลึกพอที่จะทำลายวัชพืช หลังจากนั้นให้ไถผาน 7 ย่อยดินให้เล็กลง ควรไถดินและย่อยดินทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ การไถดินก็จะช่วยกำจัดวัชพืชและลดการระบาดของศัตรูพืช
ส่วนระยะของการปลูกกล้วยไข่ที่เหมาะสม ควรปลูก 2×2 เมตร เกษตรกรโดยทั่วไปมักจะปลูก 3×3 ศอก ซึ่งค่อนข้างจะถี่ไป หลุมที่ปลูกควรขุดขนาด 50x50x50 เซนติเมตร คุณผู้ฟังการที่จะปลูกถี่หรือห่างไปก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการปลูก ว่าจะปลูก 1 ปี แล้วปลูกใหม่ ก็สามารถปลูกถี่ได้ หรือปลูกแล้วทำต้นตอต่อไปปีที่ 2 ก็ควรใช้ระยะห่างครับ
การเตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกเก่าๆ ผสมคลุกเคล้ากับดิน โดยใช้ปุ๋ยคอกประมาณหลุมละ 1 บุ้งกี้ หรือประมาณ 5 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ประมาณ ของความลึกของหลุม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นไปที่ปากหลุมให้มีความสูง ของความลึกของหลุม หรือประมาณ 20 เซนติเมตรจากปากหลุม หากต้องการไว้ตอให้เพิ่มหินฟอสเฟต อัตรา 100-200 กรัมต่อหลุมครับ
เมื่อเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว ก็ขยายพันธุ์ครับ มีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้หน่อ และการใช้ต้นอ่อนจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ กลับมาที่การใช้หน่อปลูกกันนะครับ คือ หน่อกล้วยไข่ที่เหมาะสม ควรจะเป็นหน่อใบแคบ มีต้นสูงประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม นำหน่อพันธุ์ ซึ่งปาดหน้าดินและรากเดิมออกหมดแล้วชุบยากันรา วางที่ก้นหลุมที่เตรียมไว้ ให้แผลในแต่ละหน่อไปในทางเดียวกัน เพื่อให้ได้มีการออกผลในทางตรงข้ามกับแผลวางหน่อให้ตรงแล้วกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม อาจจะใช้ฟางข้าวหรือหญ้าแห้งคลุมบริเวณหลุม เพื่อกันไม่ให้ความชื้นระเหย และควรปาดยอดทิ้งในแนวเฉียงเพื่อให้การเกิดยอดใหม่ได้เร็วขึ้นครับ
มาต่อกันในการใช้ต้นอ่อนจากการเพาะเนื้อเยื่อ คุณผู้ฟังครับ ต้นอ่อนของกล้วยเกษตรศาสตร์ 2 ควรทำอนุบาลก่อนในโรงเรือนประมาณ 1-2 เดือน แล้วจึงย้ายถุงชำอีกประมาณ 2 เดือน หรือให้ต้นมีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และมีเส้นรอบวง 5 เซนติเมตรขึ้นไป ก็จะทำให้ต้นกล้วยเจริญเติบโตดีและมีอัตราการรอดตายสูงครับคุณผู้ฟัง ในการปักชำต้นกล้าหลังจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลังอนุบาล ควรเป็นดิน 1 ส่วนผสมกับปุ๋ยคอกเก่า 2 ส่วนกับอินทรียวัตถุที่หาได้ง่ายท้องถิ่น 1 ส่วน เช่น แกลบดินหรือเปลือกถั่วลิสงหรือใบไม้ผุ ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ กรอกดินผสม 1/3 ของถุง จับต้นกล้าที่อนุบาลแล้วถอดออกจากภาชนะเดิม ตั้งลงตรงกลางค่อยๆ กลบดินผสมให้มิดบริเวณรอยต่อของรอยต่อโคนต้นกับโคนราก กดดินโดยรอบให้แน่นให้ผิวดินอยู่ต่ำกว่าขอบถุงประมาณครึ่งเซนติเมตร ตั้งในที่ร่มในหลังคาซาแรนพลางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ นาน 2 เดือนครับ ให้ปุ๋ยยูเรียปริมาณ 0.5 กรัม/ ต้น/สัปดาห์ หรือปุ๋ยละลายช้าออสโทโคท 0.6 กรัม/ต้น/2 เดือน จากนั้นจึงย้ายปลูกลงแปลงได้ วิธีการเช่นเดียวกับหน่อ แต่การวางต้นไม่มีทิศทางเหมือนหน่อ เพราะดอกหรือปลีกจะปรับตัวเองไปตามทิศทางของแสง ต้นที่ปลูกจะเจริญได้ทันกับหน่อพันธุ์ประมาณ 4 เดือน การดูแลในช่วงเดือนแรก จึงต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และต้องดูแลในเรื่องของวัชพืชเป็นอย่างดี แต่ในบางพื้นที่การเจริญเติบโตได้ทันหน่อพันธุ์ในระยะ 3 เดือนแรก ขึ้นอยู่กับการดูแลและสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นต้นจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะเจริญเร็วกว่าจากหน่อพันธุ์ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ ฤดูในการปลูก ในเขตภาคเหนือตอนล่าง หมายถึงสุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นิยมปลูกกล้วยไข่ในเดือนกันยายน – พฤศจิกายน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูแล้ง เมื่อกล้วยออกปลี ติดผลจะเป็นช่วงที่มีฝนซึ่งเกิดตั้งแต่เดือนธันวาคม – พฤษภาคม และส่วนใหญ่มักจะปลูก เพื่อให้ทันสารทไทย คือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปีครับ คุณผู้ฟังครับดูเหมือนว่ากล้วยไข่จะปลูกได้เฉพาะเดือนตุลาคม แต่ความเป็นจริงแล้ว กล้วยไข่ปลูกได้ทั้งปี ดังนั้นสามารถกำหนดฤดูปลูกได้ครับ
การให้ปุ๋ยในการปลูกกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 ควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม ให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ผสมกับยูเรีย 1:1 ในอัตรา100 กรัมต่อต้น ในช่วงเดือนที่ 1-3 และเมื่อเดือนที่ 4-5 ก็ให้เพิ่มเป็น 200 กรัมต่อต้นต่อเดือน และในเดือนที่ 6,7 ให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 หรือสูตร 14-14-21 อัตรา 100 กรัมต่อต้นต่อเดือน การให้ปุ๋ยโดยการโรยให้ห่างจากดิน 30 เซนติเมตร รอบต้นหรือขุดเป็นหลุม 2 ด้านตรงข้าม ใส่หลุมละครึ่งส่วนของที่ใช้ การให้ปุ๋ยอาจให้รวมกับระบบน้ำหรือระบบพ่นฝอยได้ ซึ่งปุ๋ยที่จะให้จะละลายในน้ำและส่งให้ต้นกล้วยจากหยดหรือพ่นฝอย ซึ่งจะดีแต่การติดตั้งจะมีราคาแพง
ส่วนการกำจัดวัชพืช หลังจากปลูกกล้วยไปแล้ว ควรทำการดายหญ้าอย่างสม่ำเสมอ ให้ทำ 2 เดือนต่อครั้ง ในการดายหญ้าควรทำการพรวนดินไปด้วย เพื่อให้ดินโปร่ง เก็บความชื้นได้มาก เมื่อพรวนดินดายหญ้า ควรพูนดินใส่โคนต้น และนำต้นหญ้านั้น ถมที่โคนต้นเพื่อป้องกันโคนลอยและการโคนล้มของต้นครับ
การกำจัดวัชพืช อาจใช้สารเคมี เช่น พวก พาราควอท กรัมม็อกโซน 200 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร น๊อกโซน รูด้า ในอัตราส่วนที่เขียนไว้ทีฉลาก ให้พ่นฆ่าวัชพืชฤดูเดียวที่ขึ้นในสวนกล้วยที่มีต้นอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป แต่จะต้องระวังไม่ให้สารเคมีปลิวไปถูกต้นกล้วย โดยเฉพาะในส่วนของใบและยอดอ่อน ดังนั้นต้นกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 อาจจะถูกสารเคมีทำลายได้ แต่การใช้สารเคมีบ่อยๆ จะทำให้หน้าดินแห้ง จึงควรมีการพรวนดินสลับบ้าง นอกจากนี้อาจใช้ยาป้องกันไม่ให้เมล็ดหญ้างอก เช่น ไดยูรอน 80 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นคลุมหน้าดิน จะป้องกันไม่ให้เมล็ดหญ้าใบกว้างและใบแคบบางชนิดงอกได้นานถึง 3 เดือนครับ
และเมื่อกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 ออกผลผลิต เรามาฟังกันในขั้นตอนการตัดปลีกันครับ หลังจากการปลูก 6-7 เดือน จะแทงปลีออกมา หากต้นที่ไม่สมบูรณ์จะมีการแทงที่ล้าช้าออกไป ปลีจะมีการเจริญเติบโตประมาณ 7 วัน และจะเริ่มคลี่กาบออกทีละกาบ และกาบจะหลุดเหลือแค่หวีจนเหลือหวีสุดท้ายเรียกว่า หวีตีนเต่า หลังจากนั้นให้ตัดปลีทิ้ง เพราะปลีอาจเป็นที่อาศัยของโรคและแมลงได้ นอกจากนี้เกษตรกรบางรายอาจจะต้องตัดหวีตีนเต่าทิ้ง เพื่อให้เหลือผลกล้วยที่มีขนาดใหญ่เท่านั้นครับ ช่วงนี้พักก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาฟังกันในเรื่องการห่อเครือ กันนะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ การห่อเครือกล้วย เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดูแลรักษา เพราะในเมื่อเราปลูกกล้วยมาตั้งนาน ดูแลอย่างดี ได้ผลออกมาดี แต่เราไม่ห่อเครือ ผิวของกล้วยอาจจะไม่สวยได้ครับ ทั้งนี้อาจมีแมลงมาทำลายในช่วงที่กล้วยติดผล การห่อเครือควรจะทำตั้งแต่ปลีกล้วยเริ่มง้อลง หรืออาจจะตั้งแต่ปลีกล้วยเริ่มโผล่ออกมาเรียบร้อย ทั้งนี้เพราะเพลียไฟชอบเข้ามาทำลายครับคุณผู้ฟัง และอาศัยอยู่ในกาบกล้วยจะเข้าทำลายดอกอ่อน กล้วยที่ถูกทำลายจะเป็นเหมือนสะเก็ดสีน้ำตาล เรียกว่า กล้วยลาย ซึ่งอาจเป็นทางเดินของเพลี้ยไฟ รอยที่เพลียไฟเจาะดูด ถ้าเราเริ่มห่อเสียตั้งแต่ปลีเริ่มโผล่จะป้องการทำลายของเพลียไฟได้ครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าการห่อกล้วยนอกจากจะป้องกันแมลงแล้วยังช่วยรักษาอุณหภูมิในถุงไม่ให้ร้อนเกินไป เป็นการทำให้ผลกล้วยมีผิวสะอาด ผิวนวล ทำให้ได้ราคาดี ซึ่งขอฝากไว้ว่ากล้วยที่จะปลูกเพื่อการส่งออกจำเป็นต้องห่อเครือทุกเครือครับ
วัสดุที่ใช้ห่อเครือ ได้แก่ กระดาษหนังสือพิมพ์ ถุงปุ๋ย ถุงพลาสติกสีฟ้าเจาะรู และที่ดีที่สุดนั้นก็คือถุงพลาสติกสีฟ้าเจาะรูระบายอากาศนั่นเองครับ และต้องเป็นถุงเปิดปลาย ในการห่อให้เอาถุงรวมเครือกล้วย แล้วใช้เชือกผูกที่ก้านกล้วยของเครือให้แน่นทางด้านล่างไม่ต้องผูกเชือกครับ ปล่อยให้มีการระบายอากาศ เพราะถ้าหากว่ามัดเชือกปิดปลายถุง จะทำให้กล้วยร้อนและเกิดการเน่าได้ครับ
และขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บเกี่ยวครับ อายุการเก็บเกี่ยวกล้วยไข่ ใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากออกปลี ถ้าตัดเพื่อการส่งออกจะตัดเร็วกว่านี้ครับ คือประมาณ 45- 50 วันหลังจากแทงปลี กล้วยที่แก่เต็มที่จะรับประทานไม่อร่อยครับ และถ้าตัดอ่อนเกินไปจะมีรสชาติที่ไม่ดีครับ วิธีการเก็บเกี่ยวให้ดึงปลายเครือหรือส่วนที่ตัดปลีออกมา ซึ่งก็คือการโน้มต้น ใช้มีดที่คมตัดโคนเครือกล้วย แล้วตัดต้นทิ้งหรือปล่อยทิ้งไว้ก่อน การปล่อยทิ้งไว้จะช่วยให้แปลงกล้วยไม่แห้งแล้ง และทำการตัดทิ้งพร้อมๆกัน เมื่อเก็บเสร็จสิ้นแล้ว นำกล้วยที่ตัดมาเรียงในร่ม ควรมีผ้าพลาสติกหรือใบกล้วยรองไว้ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกครับ
มาต่อกันในเรื่อง การชำแหละกล้วย ให้ใช้ที่โค้งงอตัดที่ก้านเครือกล้วย ชำแหละแต่ละหวี โดยตัดจากหวีล่างๆของเครือก่อนหมดทุกหวี ส่วนหวีที่ชำแหละแล้ว วางลงบนพลาสติกหรือใบตองหนาๆ เพื่อให้ยางแห้ง ถ้าจะดีวัสดุรองควรเป็นฟองน้ำหนาๆเพื่อไม่ให้ผิวกล้วยช้ำ จากนั้นเด็ดยอดเกสรตัวเมียที่เด็ดออกมาจากปลายผลกล้วยออกให้หมด ล้างหวีกล้วยในน้ำสะอาดผสมน้ำยาครอรอกซ์ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 25 ซีซี ในน้ำ 50 ลิตร จากนั้นล้างอีกครั้งในน้ำผสมแชมพูอ่อน ปริมาตร 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 50 ลิตร การล้างผลเป็นการช่วยลดอุณหภูมิของผลกล้วย และเป็นการป้องกันน้ำยางที่ไหลจากก้านเครือเปื้อนผลกล้วยครับ
คุณผู้ฟังครับ หลังจากเกี่ยวกับก็จะเป็นส่วนของการจัดจำหน่าย จากการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 กับกล้วยไข่พันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์กำแพงเพชร พบว่า กำไรสุทธิของการปลูกกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 จาก 2 สวน ได้กำไรมากกว่ากล้วยไข่พันธุ์พื้นเมือง อยู่ประมาณ 2,500 ปาท ต่อไร่ต่อปี จะเห็นว่าได้ผลตอบแทนที่เยอะอยู่เหมือนกันครับ ดังนั้นคุณผู้ฟังไม่ต้องคิดลังเลว่าจะปลูกพันธุ์อะไรครับ กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 เป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรควรปลูกครับ
สำหรับวันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ครับ สัปดาห์หน้ากระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ