อาชีพทำเงิน “เลี้ยงหนอนไม้ไผ่”
หนอนไม้ไผ่ โปรตีนทางเลือก สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร ในยุคที่การทำเกษตรต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มมูลค่า “หนอนไม้ไผ่” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หนอนรถด่วน” ได้กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่มีสวนไผ่อยู่แล้ว เนื่องจากสามารถสร้างรายได้เสริมได้อย่างดีเยี่ยม
หนอนไม้ไผ่เป็นตัวอ่อนของแมลงด้วงหนวดยาวที่เจริญเติบโตในลำไผ่ มีรสชาติอร่อย หอมมัน และอุดมไปด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนสูงถึง 26–29% และไขมันดีอีก 50–54% นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปปรุงได้หลากหลาย เช่น ทอด ย่าง อบ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ความต้องการในตลาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาโปรตีนทางเลือก และร้านอาหารที่สร้างสรรค์เมนูพิเศษ ทำให้หนอนไม้ไผ่เป็นที่ต้องการของตลาดในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท ส่งผลให้หนอนไม้ไผ่ตามธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจกระทบต่อระบบนิเวศของป่าไผ่ในบางพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและป้องกันการทำลายป่าไผ่ธรรมชาติ รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตหนอนไม้ไผ่อย่างเป็นระบบ พร้อมจัดทำ หนังสือคู่มือแนวทางการเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ ทั้งในพื้นที่ที่มีหรือไม่เคยมีหนอนไม้ไผ่อาศัยมาก่อน
หนอนไม้ไผ่จัดอยู่ในกลุ่ม อาหารใหม่ (Novel Food) และถือเป็นแมลงที่สะอาดที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากอาศัยอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่และกินเฉพาะเยื่อไม้ไผ่เป็นอาหาร โดยช่วงที่พบตัวหนอนได้มากที่สุดคือระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม
การเก็บหนอนไม้ไผ่: ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บหนอนไม้ไผ่คือ กลางกันยายนถึงต้นธันวาคม โดยเฉพาะ กลางตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะที่ตัวหนอนโตเต็มที่ (ระยะที่ 4–5) และมีลำตัวสมบูรณ์

วิธีเก็บหนอน: ค้นหาลำไผ่ ที่มีหนอนไม้ไผ่อาศัย (สังเกตรูเจาะออก)
พิจารณาตำแหน่งรูเจาะ:
ถ้าอยู่ต่ำกว่ากึ่งกลางปล้อง → เจาะที่ปล้องนั้น
ถ้าอยู่ตรงกลางปล้อง → อาจอยู่ที่ปล้องนั้นหรือปล้องบน
ถ้าอยู่เหนือกึ่งกลางปล้อง → เจาะที่ปล้องถัดไปด้านบน
เจาะช่องเก็บ ให้ใหญ่พอสำหรับดึงหนอนออก โดย ไม่จำเป็นต้องตัดลำไผ่ควรเหลือลำไผ่ไว้สำหรับการขยายพันธุ์ อย่างน้อย 10–30% หรือ 1 ลำต่อ 10–15 กอ ป้องกันศัตรูธรรมชาติ เช่น นกหัวขวาน โดยใช้ ตาข่ายคลุมปล้อง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
รศ. ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0176 ต่อ 510 E-mail: decha.w@ku.ac.th