ชุดอุปกรณ์ซ่อมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มม. แอลั 70

ภายใต้การดำเนินงานวิจัย เรื่อง โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อดำรงสภาพและเพิ่มประสิทธิภาพยุทโธปกรณ์การพัฒนาระบบควบคุมแบบปิดของเซอร์โวมอเตอร์เพื่อทดแทนมอเตอร์ไฮดรอลิค กรณีศึกษา : ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของมุมทางสูงและทางทิศของปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยจากแหล่งทุนวิจัยภายนอก โดย บริษัท อาร์มี่ ซัพพลาย จำกัด

ผลงานวิจัยถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การบริหารจัดการโครงการวิจัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนะ รักษ์ศิริ เริ่มดำเนินงานวิจัยในปี 2560 ภายใต้การประสานงานร่วม 4 ฝ่าย อันได้แก่ หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ. ทบ.) ในฐานะหน่วยผู้ใช้ผลงานวิจัยฯ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก (สวพ. ทบ.) ในฐานะผู้ประสานงานวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้วิจัย และบริษัท อาร์มี่ ซัพพลาย จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยฯ

เป้าหมายของงานวิจัยหลัก

  1. เพื่อซ่อมปรับปรุงระบบการหมุน ปตอ. 40 มม. แอล 70 โดยใช้ระบบเซอร์โวมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบควบคุมแบบดิจิตอลใหม่
  2.  เพื่อซ่อมพัฒนาระบบควบคุมการยิง (Fired Control) ให้สามารถทำงานได้ทั้งระบบการทำงานแบบพลเล็งบังคับเอง (Local control) และแบบบังคับอัตโนมัติ (Remote control) ซึ่งทำให้ใช้งานร่วมกับระบบควบคุมการยิงฟลายแคชเชอร์ที่มีเรดาห์และระบบกล้องเล็งกลางวัน/กลางคืน
  3. เพื่อซ่อมปรับปรุงชิ้นส่วนซ่อมชุดแหวนยางกันซึมและชิ้นส่วนโลหะของ ปตอ. 40 มม. แอล 70 ชิ้นส่วนที่มีส่วนสำคัญต่อการทำงาน

ผลผลิต/ลักษณะเด่น

ผลผลิต : ชุดอุปกรณ์ซ่อมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 (The Upgrade kit for the 40 mm L70 Anti-Aircraft Gun) มีลักษณะเด่น คือ เป็นชุดอุปกรณ์ซ่อมปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 ที่สอดคล้องกับภารกิจการใช้งานยุทโธปกรณ์ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 ที่กำหนดไว้ในทางยุทธการของกองทัพบกและกองทัพเรือ โดยมีผลผลิตประกอบด้วย

  1. ระบบควบคุมการเคลื่อนที่แบบไฟฟ้าดิจิตอล สำหรับควบคุมการหมุนปืน
  2. เซอร์โวมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดควบคุมมอเตอร์
  3. กล่องสัญญาณสื่อสาร สำหรับเชื่อมต่อกับเรดาร์ควบคุมระยะไกลพร้อมด้วยโปรแกรมควบคุมการยิงและติดตามเป้าหมาย รองรับการตรวจจับวัตถุต้องสงสัยด้วยกล้องออปโตอิเล็กทรอนิกส์
  4. จอแสดงผลการทำงาน สำหรับตรวจสอบสถานะและการสั่งการระบบควบคุมการยิง รองรับการค้นหา เลือกและติดตามเป้าหมายด้วยกล้องออปโตอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ

การนำไปใช้ประโยชน์

ผลงานวิจัยผ่านการทดสอบ ทดลอง การใช้งาน ทั้งในด้านเทคนิคและยุทธวิธี โดยคณะกรรมการทดสอบและประเมินผลและคณะกรรมการวิเคราะห์และประเมินโครงการวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก (กวป. ทบ.) และได้รับการรับรองเป็นผลงานที่มีมาตรฐานสามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับการผลิตใช้งานในราชการกองทัพบกได้ ตามมติการประชุมคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ยุทโธปกรณ์ กองทัพบก (กมย.ทบ.) ครั้งที่ 1/63 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 พร้อมทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ด้านยุทโธปกรณ์ความมั่นคง:
ครุภัณฑ์ยุทโธปกรณ์ความมั่นคง รหัส 13020008 (บริษัทผู้จำหน่าย: บริษัท อาร์มี่ซิส ซัพพลาย จำกัด)

ผลงานวิจัยได้รับการขยายผลในเชิงพาณิชย์โดย บริษัท อาร์มี่ซิส ซัพพลาย จำกัด โดยขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำผลงานวิจัยเข้าร่วมโครงการ การจ้างซ่อมปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 โครงการซ่อม ปตอ. ลำกล้อง (ระยะที่ 1) ของกองทัพบก โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นโครงการจ้างซ่อมปรับปรุงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40 มิลลิเมตร แอล 70 ระยะเวลาผูกพัน 3 ปี สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้านการประหยัดงบประมาณ โดยใช้งบประมาณน้อยกว่าการซ่อมปรับปรุง จากการนำเข้าทั้งระบบจากต่างประเทศ มากกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้ภายในประเทศ สามารถให้บริการหลังการขายตามนโยบาย Long life service นับเป็นการเริ่มต้นและพัฒนาต่อไปเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้การจัดตั้งเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันดับที่ 11 ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 12 กลุ่ม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงและสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาไปสู่ “ประเทศที่พึ่งพาตัวเองได้” ต่อไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ

  1. ลดการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศแบบสำเร็จรูปทั้งระบบ ทำให้มีราคาในการซ่อมคืนสภาพ ปตอ. 40 มม. แอล 70 น้อยกว่านำเข้าทั้งระบบจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดงบประมาณในการปรับปรุงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ
  2. สามารถพึ่งพาตัวเองได้ภายในประเทศ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองทำให้สามารถให้บริการหลังการขายจะเป็นแบบ Long life service

รางวัลที่ได้รับ: รางวัลระดับ Gold ผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบระดับสูงมาก จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2567 
จัดโดย: สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ1 และ ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ2
1ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail: chana.r@ku.ac.th