การพัฒนาวิธีการฟื้นฟูและการตัดสินใจ ย้ายปลูกหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล

ประเทศไทยได้ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลมากว่า 10 ปี โดยหน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน มีการย้ายปลูกหญ้าชะเงาใบยาวจากเมล็ดหรือการแยกกอเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูยังไม่ประสบความสำเร็จชัดเจน การฟื้นฟูหรือการย้ายปลูกที่ไม่เหมาะสมอาจมีส่วนทำให้แหล่งต้นพันธุ์ธรรมชาติถูกทำลายจากในปี พ.ศ. 2564 มีรายงานการตายของหญ้าทะเลในพื้นที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยสถานการณ์รุนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2567 ทำให้หญ้าทะเลในหลายพื้นที่หายไป

งานวิจัยนี้มุ่งพัฒนาวิธีการผลิตต้นพันธุ์หญ้าทะเลด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการอนุบาลต้นอ่อนเพื่อเตรียมย้ายปลูก พร้อมทั้งพัฒนาวิธีการประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการย้ายปลูกหญ้าทะเล และศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม เพื่อลดการใช้ต้นพันธุ์จากธรรมชาติและเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้ประสบความสำเร็จในอนาคต

จากการวิจัย พบว่าหญ้าชะเงาใบยาวและชะเงาใบสั้นสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ โดยประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนยอดจาก 1 ยอดเป็นกว่า 300 ยอดเป็นครั้งแรกของโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการกระตุ้นการเกิดรากให้มีความเสถียร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาอย่างน้อย16 เดือน หากนำต้นอ่อนจากการเพาะเลี้ยงมาอนุบาลต่อก่อนย้ายปลูกจะใช้เวลาทั้งหมดอย่างน้อย 20 เดือน

จากการศึกษาพบว่าหญ้าชะเงาใบยาวในอ่าวไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำกว่าหญ้าในอันดามัน ซึ่งส่งผลให้การขยายพันธุ์ในอ่าวไทยช้ากว่า ข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้บริหารจัดการปลูกหญ้าทะเลได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ในอนาคตและเพื่อให้ผู้ปลูกสามารถเลือกพื้นที่ปลูกได้อย่างเหมาะสม จึงได้มีการพัฒนาวิธีการประเมินพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการย้ายปลูกหญ้าทะเลซึ่งวิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำเฉลี่ยอยู่ที่ 80.91% โดยมีการเผยแพร่วิธีการและจัดอบรมให้แก่บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่เป็นการพัฒนาวิธีการตั้งแต่การผลิตต้นพันธุ์จนถึงการเลือกพื้นที่ปลูกเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
รศ.ดร.ชัชรี แก้วสุรลิขิต
ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 084-656-3654 E-mail: chatcharee.s@ku.ac.th