คีนัว สายพันธุ์เหลืองปางดะ

คีนัว เป็นพืชใหม่ของประเทศไทยโดยเป็นพืชดั่งเดิมในแถบอเมริกาใต้และเทือกเขาแอนเดรียส ได้ถูกนำมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง สถานเอกราชทูตชิลีประจำประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ โตบันลือภพ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตรเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เริ่มต้นการวิจัยเพื่อศึกษาความสามารถในการปรับตัวของคีนัวภายใต้สภาพแวดล้อมต่างๆ ของประเทศไทย โดยได้รับความอนุเคราะห์เชื้อพันธุกรรมจากสถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี (National Investigation and Desarrollo, www.inia.cl) เริ่มปลูกทดสอบครั้งแรก ภายใต้สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยปลูกทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการเจริญเติบโต ใช้เวลาปลูกทดสอบจำนวน 4 ชั่วรุ่น ตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 – 2559 บันทึกลักษณะทางสัณฐาน การเจริญเติบโต การปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การจัดการปัจจัยการผลิต ปริมาณและคุณภาพผลผลิตจากทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูง จนประสบความสำเร็จในการปลูกทดสอบในแง่ของการคัดเลือกสายพันธุ์ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย

นักวิจัยได้ดำเนินการวิจัย พบว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถเพาะปลูกพืชคีนัวได้ในช่วงปลายฤดูฝน-ต้นฤดูหนาว ถึง ปลายฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ต.ค. – ม.ค./ก.พ. ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย สูงสุด 20-30 0C, ต่ำสุด 21 0C เฉลี่ย 25.93 0C ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 100.86 มิลลิเมตร เป็นเวลา 10.4 วันต่อเดือน ความชื้นสัมพัทธ์ สูงสุด 88.87% ต่ำสุด 49.38% และประชากรพืชที่เหมาะสม คือ 32,000 ต้นต่อไร่ อัตราธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่เหมาะสม ที่ 30-50 กก.ต่อไร่ ให้ธาตุอาหารตามระยะการเจริญเติบโต ดังนี้คือ 1) เมื่อต้นพืชคีนัวมีอายุ 15-20 วันหลังปลูก (มีใบจริง 4 คู่) 2) เมื่อต้นพืชคีนัวมีอายุ 30-35 วันหลังปลูก 3) เมื่อพืชคีนัวมีอายุ 45-50 วัน และ 4) เมื่อต้นพืชคีนัวมีอายุ 60-65 วันหลังปลูก โดยมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 90 วันหลังปลูก (ปิติพงษ์ และคณะ, 2559) ต่อมาคณะวิจัยได้ประยุกต์ผลลัพธ์จากโครงการวิจัยด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต ขยายผลไปสู่การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวงเพื่อผลิตเมล็ดคีนัวต้นแบบเชิงพาณิชย์ ผลจาการศึกษาวิจัย พบว่า เกษตรกรมีความสนใจเข้าร่วมผลิตเมล็ดคีนัวเชิงพาณิชย์จำนวนมาก โดยเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวมจากการส่งเสริมเกษตรกรในปีแรก พ.ศ.2559-2560 ประมาณ 800 กิโลกรัม และปีการผลิต 2560-2561 จำนวน 16,000 กิโลกรัม และขยายผลเป้าหมายการผลิต ในปีการผลิต 2561-2562 ประมาณ 18,000 กิโลกรัม โดยมีราคารับซื้อผลผลิตเมล็ดคีนัวคืนจากเกษตรกร ประมาณ 250 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ร่วมปลูกคีนัวร่วม 112,500 บาทต่อไร่

ลักษณะทั่วไปประจำพันธุ์คีนัวเหลืองปางดะ (Yellow Pang-da)
ทรงต้น : คีนัวเป็นพืชล้มลุก ลักษณะใบเลี้ยงคู่ (dicotyledonous annual plant) ลำต้นตั้งตรง มีสีเหลืองเขียว มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 120-150 เซนติเมตร
ราก : คีนัว มีรากแบบระบบรากแก้ว (tap root system) รากลึก แข็งแรง เพื่อใช้ในการดูดน้ำ และธาตุอาหาร รากอันแรกจะเจริญจากรากแรกเกิด (radicle) ซึ่งอยู่ภายในเมล็ด เรียกว่า รากแก้ว (primary root หรือ tap root) รากที่เจริญ และแตกแยกออกมาจากรากแก้ว เรียกว่า รากแขนง (secondary root) ตามรากแขนงจะมีขนราก (root hair หรือ adventitious root) เจริญออกมามากมาย ทำหน้าที่ในการดูดใช้น้ำ และธาตุอาหารจากสารละลายดิน
ใบ : ใบเลี้ยงคู่ (dicotyledonous annual plant) เมื่อคีนัวเริ่มงอกจากเมล็ดพันธุ์ บนข้อแรกของลำต้นจะเป็นที่กำเนิดของใบเลี้ยง (cotyledon) มี 2 ใบ ข้อถัดไปจะเกิดเป็นใบจริงคู่แรก (unifoliate leaves) มี 2 ใบ จัดเรียงตัวลักษณะตรงข้ามกัน ถัดจากใบจริงคู่แรกจะเป็นลักษณะของใบประกอบ (alternate leaves) มีลักษณะเป็นแฉกแบบลอนคลื่น มีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป มีการแตกกิ่งก้าน
ดอก : ดอกมีลักษณะแบบช่อแขนง (panicle) มีสีเหลืองเขียว โดยจัดเรียงอยู่บนส่วนยอด หรือระหว่างกิ่งก้าน โดยคีนัวเป็นพืชผสมตัวเอง (self fertilization) หลังจากการผสมตัวเอง จะมีการสร้างผล
ผล  : เมล็ดคีนัว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ซึ่งอาจมีสีขาวเหลือง
ประโยชน์ : คีนัว จัดเป็นกลุ่มเมล็ดพืชเทียม (Pseudocereal) เช่นเดียวกับ buckwheat เนื่องจากคีนัวไม่ได้มีการจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพืชตระกูลหญ้า (grass family) แต่มีการบริโภคเมล็ดคล้ายกับกลุ่มธัญพืช โดยคีนัวมีคุณค่าเชิงโภชนาการทางสูง ส่วนของเมล็ดประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารที่สำคัญ คือ กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 10 ชนิด ได้แก่ ไอโซลิวซีน ลิวซีน ไลซีน เมไทโอนีน ฟีนิลอะลานีน ทรีโอนีน ทริปโตเฟน วาลีน  และยังมีกรดอะมิโนที่เด็กต้องการอีก คือ อาร์จีนีน และฮีสทิดีน และมีความเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งโปรตีนทดแทน สำหรับบุคคลที่เป็นโรคแพ้โปรตีนจากสัตว์ หรือธัญพืชบางชนิด รวมถึงการแพ้อาหารจากสัตว์ทะเล มีไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินบี วิตามินเค ธาตุเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียมสูง ในขณะเดียวกันมีคาร์โบไฮเดรตและดัชนีน้ำตาล (Glycermic index; GI) ต่ำ

ผลงานวิจัยโดย :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ โตบันลือภพ
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทายาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.08 – 7009 – 3646

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์  โตบันลือภพ

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6